ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่อย่างหนึ่งของมนุษยชาติคือการลดการปล่อยมลพิษและมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน รัฐบาลออสเตรเลียเป็นหนึ่งในรัฐบาลทั่วโลกที่มีนโยบายลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 (ค.ศ.2050) ซึ่งสอดรับกับซึ่งสอดรับกับแนวทางจากที่ประชุม COP 26
เมื่อปี 2562 (ค.ศ.2019) ประเทศออสเตรเลียได้จัดทำยุทธศาสตร์ไฮโดรเจนระดับประเทศที่กำหนดเป้าหมายให้ออสเตรเลียเป็นประเทศผู้ส่งออกไฮโดรเจนชั้นนำของโลกในปี 2593 โดยมีโรดแมปครอบคลุมทั้งวงจรเพื่อให้กรีนไฮโดรเจนเป็นทางเลือกของพลังงานสะอาด และรองรับความต้องการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ถนนสายนี้มีเส้นทางที่ยาวนาน ออสเตรเลียมีอุตสาหกรรมหลักที่พัฒนาแล้วอย่างมาก รวมถึงถ่านหิน และทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหัวสูงที่สุดในโลก ซึ่งทำให้ประเทศออสเตรเลียเกิดแนวคิดและความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ดังที่กล่าวมาข้างต้น
เมื่อปี 2562 การใช้ยุทธศาสตร์ไฮโดรเจนแห่งชาติของประเทศออสเตรเลียได้กระตุ้นความสนใจของนักลงทุนเป็นอย่างมากในการใช้ไฮโดรเจนสะอาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
โรดแมปการลงทุนด้านเทคโนโลยีของรัฐบาลได้เข้ามาแทนที่อุตสาหกรรมถ่านหินของออสเตรเลียเพื่อจัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกผ่านการลงทุนในไฮโดรเจนและเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำอื่นๆ และเมื่อเทคโนโลยีใหม่ได้รับการพัฒนาและได้มีการรวมเอานวัตกรรมเข้ากับชีวิตประจำวันแล้ว มาตรฐานสากลจึงมีบทบาทมากขึ้นเป็นลำดับ
เอเดรียน โอคอนเนล ซีอีโอของสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศออสเตรเลีย (SA) กล่าวว่ามาตรฐานเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อช่วยลดการปล่อยมลพิษและมุ่งสู่ความเป็นกลางของคาร์บอนโดยมุ่งเน้นที่การใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีไฮโดรเจน
เขากล่าวว่า SA ภูมิใจสนับสนุนปฏิญญาลอนดอน และแนวทางความร่วมมือระดับโลกในการพัฒนามาตรฐานสากลมีความสำคัญอย่างยิ่งในการจัดหาแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม ซึ่งไอเอสโอและสมาชิกมีบทบาทสำคัญในการจัดการกับความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศด้วยการบรรเทา การปรับตัว การวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจก และการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดี
นอกจากนี้ SA ยังตระหนักถึงความสำคัญของมาตรฐานที่สนับสนุนอนาคตที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น และด้วยการมีส่วนร่วมเชิงรุกกับภาคส่วนไฮโดรเจนที่เติบโตอย่างรวดเร็ว จึงได้มีส่วนสนับสนุนการพัฒนาไฮโดรเจนเป็นส่วนประกอบสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นกลางของคาร์บอนของประเทศออสเตรเลีย
ก้าวสำคัญต่อไปคือการจัดตั้งคณะกรรมการเทคโนโลยีไฮโดรเจนโดยเฉพาะในออสเตรเลีย ซึ่งเป็นคณะกรรมการด้านเทคนิคของไอเอสโอสำหรับเทคโนโลยีไฮโดรเจน ตลอดจนคณะกรรมการด้านเทคนิคของไออีซี (คณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐานสาขาอิเล็กทรอเทคนิกส์: IEC) ด้านเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิง
การทำงานของคณะกรรมการชุดใหม่นี้ครอบคลุมทุกแง่มุมของไฮโดรเจนซึ่งเป็นพาหะพลังงานในห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งรวมถึงการผลิต การจัดเก็บและการจัดการ การวัด การขนส่ง การส่ง และการกระจายของไฮโดรเจนในรูปแบบบริสุทธิ์ หรือผสมกับก๊าซเชื้อเพลิงอื่นหรือผ่านเวกเตอร์ทางเลือกของการขนส่งไฮโดรเจน และการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน รวมถึงการใช้งานขั้นสุดท้าย เช่น โครงสร้างพื้นฐานการเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนและโมบายแอปพลิเคชัน เครื่องใช้ในบ้านและในโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งการผลิตพลังงานและความร้อน
ในขณะที่รัฐบาลออสเตรเลียกำลังมุ่งหน้าสู่คาร์บอนเป็นศูนย์ด้วยมาตรฐานสากล ประเทศต่างๆ ทั่วโลกก็กำลังก้าวสู่เป้าหมายนี้เช่นกัน อันโตนิโอ กูแตเรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้กล่าวไว้ว่าถ้าเรารวมพลังกันในตอนนี้ เราก็จะสามารถหยุดยั้งมหันตภัยของสภาพภูมิอากาศได้ แต่รายงานของ IPPC บอกไว้อย่างชัดเจนว่าเราไม่มีเวลาสำหรับความล่าช้าหรือข้อแก้ตัวใดๆ อีกต่อไปแล้ว เขาเชื่อมั่นว่าผู้นำรัฐบาลและและผู้มีส่วนได้เสียทุกคนจะทำให้การประชุม COP 26 ประสบความสำเร็จ ในขณะที่คนทั่วโลกก็หวังว่าปัญหาภาวะโลกร้อนจะบรรเทาเบาบางลงและไม่ทำให้ลูกหลานของเราต้องเผชิญหน้ากับปัญหานี้อีกต่อไปในอนาคต
ที่มา: 1. https://www.bangkokbiznews.com/columnist/985112
2. https://www.iso.org/news/ref2782.html
3. https://lovinmalta.com/lifestyle/environment/climate-catastrophe-new-report-warns-of-a-code-red-for-humanity/
Related posts
Tags: COP 26, Energy carrier, Hydrogen, IEC, Innovation, ISO, London Declaration, SA, Standardization, Standards, Transportation, Value chain
Recent Comments