ในกลุ่มคนวัยทำงาน โรคเครียดเป็นโรคที่พบได้บ่อยสืบเนื่องจากความเครียดที่รุมเร้าเข้ามาในชีวิตการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นภาระงานกับชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานติดต่อกัน สิ่งแวดล้อมในการทำงาน ผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน หรือลูกน้องซึ่งอาจทำให้เกิดความกดดันสูงและเกิดความเครียดมากจนเกินไป
องค์การอนามัยโลกระบุว่า ในแต่ละปี ประชากรโลกราว 12.2 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อในขณะที่ยังอยู่ในวัยทำงาน ปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการทำงานส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ราว 4-6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP สำหรับประเทศส่วนใหญ่ บริการสุขภาพขั้นพื้นฐานเพื่อป้องกันโรคจากการทำงานและโรคที่เกี่ยวข้องกับงานโดยเฉลี่ยมีมูลค่าอยู่ระหว่าง 18 ถึง 60 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อผู้ปฏิบัติงานหนึ่งคน
ความเสี่ยงด้านสุขภาพในสถานที่ทำงาน เช่น ความร้อน เสียง ฝุ่นละออง สารเคมีอันตราย เครื่องจักรที่ไม่ปลอดภัย และความเครียดทางจิตใจ ทำให้เกิดโรคจากการทำงาน และอาจทำให้ปัญหาสุขภาพอื่นๆ แย่ลงไปอีก อย่างไรก็ดี เงื่อนไขการจ้างงาน อาชีพ ตำแหน่งในลำดับชั้น และสถานที่ทำงานก็ส่งผลต่อสุขภาพเช่นกัน คนที่ทำงานภายใต้ความเครียดหรือสภาพการจ้างงานที่ไม่ปลอดภัยมักจะสูบบุหรี่มากขึ้น ออกกำลังกายน้อยลง และรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งก็ยิ่งส่งผลให้สุขภาพแย่ลงไปอีก
ในบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ถึงกับมีคำศัพท์ที่มีความหมายถึงอาการอ่อนเพลียจากการทำงานหนักติดต่อกันเป็นเวลานานจนขาดการพักผ่อนอย่างเพียงพอ และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เสียชีวิต คำคำนั้นคือ “คาโรชิ” (Karoshi Syndrome) ซึ่งไม่ระบุว่าเป็นโรคอะไร บางคนเสียชีวิตเอง บางคนก็ฆ่าตัวตาย
ไอเอสโอตระหนักเป็นอย่างดีว่าความเป็นอยู่และสุขภาพร่างกายของผู้ปฏิบัติงานส่งผลต่อการทำงานโดยตรงซึ่งทำให้ไอเอสโอได้พัฒนามาตรฐาน ISO 45001 และองค์กรได้มีโอกาสนำไปใช้งานตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา (ใช้แทนมาตรฐานเดิม คือ OHSAS 18001/มอก.18001) ปัจจุบัน ปี 2565 ไอเอสโอได้พัฒนาและยกระดับมาตรฐาน
อาชีวอนามัยและความปลอดภัยขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งเพื่อให้ความสำคัญด้านสุขภาพจิตตามมาตรฐาน ISO 45003 ด้วย
ISO 45003, Occupational health and safety management — Psychological health and safety at work — Guidelines for managing psychosocial risks เป็นมาตรฐานสากลด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ซึ่งเปิดตัวเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 มาตรฐานนี้สรุปวิธีการจัดการและปกป้องสุขภาพจิตในที่ทำงาน โดยมุ่งเน้นไปที่อันตรายทางจิตใจและให้ผู้ว่าจ้างพิจารณากิจกรรมที่อาจส่งผลต่อสุขภาพจิตเพื่อป้องกันการบาดเจ็บอันตราย และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดี เพื่อช่วยให้องค์กรหรือผู้ว่าจ้างมีแนวทางในการจัดการความเสี่ยงทางจิตสังคมหรือแง่มุมของงานที่อาจส่งผลต่อสุขภาพจิตของผู้ปฏิบัติงานซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานที่กำหนดไว้ใน ISO 45001 ซึ่งขยายความรับผิดชอบของความเป็นอยู่ที่ดีไปถึงเรื่องของสุขภาพและความปลอดภัย
ในสถานที่ทำงาน มีหลายอย่างที่องค์กรสามารถทำได้เพื่อความปลอดภัยสำหรับสุขภาพจิต การปกป้องผู้ปฏิบัติงานจากการเลือกปฏิบัติและลดความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้แตกต่างไปจากรูปแบบดั้งเดิมของสุขภาพและความปลอดภัย ซึ่งมุ่งเน้นที่การค้นหาเรื่องที่เสี่ยงและอาจจะทำให้พลาดพลั้งได้ และกำหนดขั้นตอนในการบรรเทาการเกิดขึ้นร่วมกับผู้รับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายด้วย
สุขภาพจิตในที่ทำงานเป็นความรับผิดชอบของทุกคน แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต แต่เราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการสนทนาที่เปิดกว้างและเป็นธรรมชาติ เพื่อรู้ว่าจะลงมือสนับสนุนที่ไหน อย่างไร และทำให้ทุกคนอยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ได้รับการสนับสนุนได้
ความปลอดภัยทางจิตใจเป็นความสามารถในการแสดงตัวตนที่แท้จริงของผู้ปฏิบัติงานโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกผลสะท้อนกลับ สำหรับสถานที่ทำงานที่ทำให้รู้สึกปลอดภัยทางจิตใจ จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีความสุขในการทำงาน มีการตัดสินใจที่ดีขึ้น ทีมที่มีส่วนร่วมมากขึ้น และมีความเต็มใจที่จะรับความเสี่ยงที่สูงขึ้นด้วย พนักงานมักเป็นคนแรกที่สังเกตเห็นเมื่อสิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง และหากพวกเขารู้สึกปลอดภัยที่จะพูดออกมาโดยไม่มีผลเสียสะท้อนกลับ ก็จะเป็นโอกาสเริ่มต้นสำหรับธุรกิจในการดำเนินการและปรับเปลี่ยนเพื่อแก้ไขสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น
มีผลการวิจัยจาก McKinsey & Co พบว่าบรรยากาศของทีมในเชิงบวก ซึ่งสมาชิกในทีมให้คุณค่ากับผลงานซึ่งกันและกัน ห่วงใยในสวัสดิภาพซึ่งกันและกัน และให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการดำเนินงานของทีม จะเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุดสำหรับความปลอดภัยทางจิตใจของทีม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับทีมที่มีประสิทธิภาพสูงที่สามารถก้าวข้ามความท้าทายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายมากขึ้นได้
แน่นอนว่าผู้นำมีความสำคัญและสามารถสนับสนุนความปลอดภัยทางจิตใจด้วยการสร้างบรรยากาศที่ช่วยลดความเสี่ยง ลง โดยเปลี่ยนความคิด และพฤติกรรมภายในทีม ตลอดจนเป็นแบบอย่างที่ดีของวัฒนธรรมด้านสุขภาพจิตซึ่งไม่ได้เป็นเพียงแค่สิ่งที่ถูกต้องเท่านั้น แต่การสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยยังแสดงให้เห็นว่าผู้นำมีความจริงจังกับการลดความเสี่ยงจากความเหนื่อยหน่าย อ่อนล้าและความเจ็บป่วยอยู่ด้วยซึ่งผู้นำสามารถนำ ISO 45003 ไปใช้เป็นแนวทางในการจัดการดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
สำหรับองค์กรที่สนใจนำมาตรฐาน ISO 45003 ไปใช้งาน สามารถศึกษามาตรฐานทั้งฉบับได้จากเว็บไซต์ของไอเอสโอ ในรูปแบบ Read-only
ที่มา: 1. https://innoversity.masci.or.th/?p=26217&lang=TH
2. https://mentalhealthatwork.com/iso45003-psychological-health-safety/
Related posts
Tags: Burnout, ISO, ISO 45001, ISO 45003, Karoshi, Mental Health, OH&S, Psychological health, Psychosocial Risks, standard, Standardization, teamwork
Recent Comments