บทความเรื่อง ฟาร์มอัจฉริยะกับนวัตกรรมที่ยั่งยืน ตอนที่ 1 ได้กล่าวถึงสมาร์ทฟาร์มและความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติซึ่งมีทั้งหมด 17 หัวข้อซึ่งไอเอสโอได้นำมารวมไว้ในกลยุทธ์การดำเนินงานที่เรียกว่า ISO Strategy 2022
สำหรับบทความในตอนที่ 2 จะกล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของไอเอสโอให้กับโลกเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมท่ามกลางภาวะการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ที่ยังดำเนินต่อไปจนดูเหมือนเป็นเรื่องปกติ ดังต่อไปนี้
บางครั้ง บางอย่างอาจขึ้นอยู่กับความยืดหยุ่นของมนุษย์เราในการปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมใหม่ ๆ และสภาพ แวดล้อมอย่างรวดเร็ว
ตัวอย่างเช่น เรื่องของการใช้ประโยชน์จากระบบดิจิทัล COVID-19 ซึ่งผลักดันให้มนุษย์เราใช้ปัญญาและเทคโนโลยีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบอัจฉริยะ เอไอ หรือหุ่นยนต์ การแก้ไขปัญหาความยั่งยืนอย่างเร่งด่วนด้วยวิธีการเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ทั่วโลกต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังซึ่งไอเอสโอให้ความสนใจโดยเริ่มจากจุดที่ว่า ปัจจุบัน การเชื่อมต่อกันด้วยความเร็วสูงสุดทำให้เวลานี้เป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีการทำฟาร์มอัจฉริยะ
โดยพื้นฐานแล้ว เป็นโอกาสของเครือข่ายที่ทำการผลิตอาหารซึ่งเป็นโอกาสหลักที่กลุ่มที่ปรึกษากลยุทธ์ของไอเอสโอ (SAG) ระบุไว้ในการกำหนดมาตรฐานของอินเทอร์เฟส และวิธีการที่ข้อมูลจะได้รับการรวบรวม จัดรูปแบบ จัดเก็บ และแลกเปลี่ยนทั่วทั้งห่วงโซ่อุปทานอาหาร รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพวิธีการผลิตที่สร้างขึ้นบนการเกษตรที่แม่นยำ และเทคนิคใหม่ในการเพาะปลูกด้วย
สำหรับเกษตรกรรมที่แม่นยำเป็นที่เข้าใจกันอย่างกว้างขวางมาก วิธีการทำฟาร์มอัจฉริยะที่มีมานานหลายทศวรรษในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเริ่มได้รับการส่งเสริมมากขึ้น เช่น ความสามารถในการควบคุมอัตโนมัติที่ช่วยให้ใช้เวลาและแรงงานในภาคสนามได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ปัจจุบัน โลกต้องต้องขอบคุณเทคโนโลยีอย่างปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอที่ทำให้เรามีความสามารถในการติดตาม การประมวลผล และการตีความข้อมูลด้วยความเร็วที่เพียงพอเพื่อให้เกษตรกรได้รับข้อมูลเชิงลึกอันมีคุณค่า และช่วยให้การปลูกพืชได้รับผลประโยชน์อย่างยั่งยืน และสามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบได้อย่างต่อเนื่อง
การเกษตรที่แม่นยำรวมถึงการใช้ปัจจัยการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยคำนึงถึงความผันแปรเล็กน้อยของอัตราการเจริญเติบโต หรือสภาพดิน หรือระดับของศัตรูพืชและโรคภายในพืชผลเดียว ทำให้ใช้ปุ๋ยได้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น อันที่จริงแล้ว เราต้องใช้พลังงานจำนวนมากในการผลิตปุ๋ยสังเคราะห์ การใช้อย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญในการลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของอาหารซึ่งสุดท้ายไปสิ้นสุดที่จานอาหารของเรา รวมทั้งเทคนิคต่างๆ ที่ช่วยลดของเสีย เช่น หุ่นยนต์กำจัดวัชพืชแบบกลไกที่ใช้เอไอในการจดจำและแยกพืชที่ไม่ต้องการออกก่อนที่จะทำให้สลายตัวไปด้วยเลเซอร์ เป็นต้น
ระบบข้อมูลการจัดการฟาร์ม หรือ FMIS (Farm Management Information Systems) ยังให้ภาพรวมของการดำเนินการทั้งหมดที่เกิดขึ้นทั้งฟาร์ม แนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ระดับของการเชื่อมต่อและความสามารถในการจัดเก็บและเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานได้อย่างปลอดภัยได้เปิดทางให้สำหรับการจัดการมากขึ้นอีกระดับโดยได้รับการสนับสนุนจากที่ปรึกษาภายนอก เช่นนักปฐพีวิทยาที่สามารถพัฒนาข้อมูลเชิงลึกและกลยุทธ์โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทางไปยังฟาร์มในพื้นที่ต่างๆ
สำหรับการเปรียบเทียบระดับสต็อกและการดูการบริโภคในอดีตและระดับการผลิตในปัจจุบันนั้น ซัพพลายเออร์สามารถทำงานร่วมกับเกษตรกรเพื่อจัดทำการคาดการณ์ที่แม่นยำยิ่งขึ้นซึ่งหมายความว่าการหว่านและการเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชผลที่โตเร็ว (เช่น สลัดและสมุนไพร) สามารถดำเนินการได้ตามความต้องการ ซึ่งช่วยลดของเสียและความสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยวได้อย่างมาก ฟาร์มระยะไกลจะต้องมีการเชื่อมต่อความเร็วสูงที่เชื่อถือได้ และมีวิธีการที่เป็นมาตรฐานในการแลกเปลี่ยน จัดเก็บ ประมวลผล และตีความข้อมูลจากภาคสนามอย่างปลอดภัย
วิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติต้องดำเนินควบคู่ไปกับการเกษตรที่แม่นยำ เครื่องจักรไม่เพียงมีความแม่นยำมากขึ้นในการใช้อัตราตัวแปรของปัจจัยการผลิตในการแสวงหาความแม่นยำเท่านั้น แต่ยังสามารถส่งผลจริงต่อสภาพการทำงานของเกษตรกรและคนงานในฟาร์มด้วย เพราะเกษตรกรรมเป็นงานหนักซึ่งต้องใช้เวลาหลายวันและทำงานด้วยความเหนื่อยยาก และอาจเป็นอันตรายได้เช่นกัน และในขณะที่สามารถใช้มาตรการป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงให้มากที่สุด (เช่น การทำงานบนที่สูง การบรรทุกน้ำหนักมาก หรือการใช้ผลิตภัณฑ์เคมี) แต่ความจริงคือสิ่งเหล่านั้นมักถูกละเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจำเป็นต้องดำเนินการในกรอบเวลาที่จำกัดเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพอากาศ ความต้องการของตลาด หรือการเจริญเติบโตของพืช
ดังนั้น การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้สามารถดูแลสิ่งที่ถูกละเลยเช่นนี้จึงมีความจำเป็น ถึงเวลาแล้วที่มนุษย์เราจะต้องปกป้องโลกให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนไปพร้อมๆ กับความสามารถในการทำงานที่จะตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้อย่างสมดุล รายละเอียดจะเป็นอย่างไรบ้าง โปรดติดตามได้ในบทความตอนจบครั้งหน้าค่ะ
ที่มา: https://innoversity.masci.or.th/?p=26217&lang=TH
Related posts
Tags: COVID-19, Digitization, FMIS, Innovation, ISO, ISO Strategy 2030, Precise agriculture, SAG, Smart farm, standard, Standardization, Sustianability
Recent Comments