ถุงพลาสติกเป็นประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่คนทั่วโลกให้ความสนใจ อันที่จริงแล้ว เมื่อปี 2502 (ค.ศ.1959) สเตียน กุสตาฟ ทูลิน ชาวสวีเดนได้คิดค้นถุงพลาสติกขึ้นมาก็เพราะต้องการให้ผู้คนนำสิ่งประดิษฐ์ของเขาที่มีความแข็งแรง เบา และทนทาน ไปใช้แทนถุงกระดาษซึ่งทำให้ต้นไม้จำนวนมากถูกตัดไปผลิตถุงกระดาษเป็นจำนวนมาก แต่แล้ว ปัจจุบัน กลับกลายเป็นว่าผู้คนมักใช้ถุงพลาสติกครั้งเดียวแล้วทิ้งและมีส่วนทำให้เกิดปัญหาขยะล้นโลกมากมาย
เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565 ที่สมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติในไนโรบี ประเทศเคนยา ผู้แทนอาวุโสจากทั่วโลกรวม 175 ประเทศได้ทำการสนับสนุนมติครั้งสำคัญเพื่อหยุดมลพิษพลาสติก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดข้อตกลงระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันทางกฎหมายภายในสิ้นปี พ.ศ. 2567 โดยมีเป้าหมายเพื่อให้พลาสติกทั้งหมดมีความยั่งยืน
พลาสติก โดยเฉพาะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง มักเป็นหัวข้อข่าวที่ผู้อ่านให้ความสนใจมาก และมีเหตุผลที่ดีที่โลกควรจะยกเลิกพลาสติกแบบนี้ ตามรายงานขององค์การสหประชาชาติ โลกของเรารวมทั้งมหาสมุทรกำลังถูกพลาสติกยึดครองพื้นที่ไปแล้ว และมูลนิธิ Ellen MacArthur Foundation ก็รายงานว่าภายในปี 2050 จะมีพลาสติกมากมายอยู่ในมหาสมุทรมากกว่าปลา
องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ชี้ให้เห็นว่าพลาสติกในดินกำลังคุกคามสุขภาพของมนุษย์และความมั่นคงด้านอาหาร เมื่อเดือนธันวาคม 2564 FAO ได้ตีพิมพ์รายงานที่สะดุดตา เรื่อง การประเมินพลาสติกเพื่อการเกษตรและความยั่งยืน: การเรียกร้องให้ดำเนินการ ซึ่งอธิบายโดยละเอียดว่าพลาสติกเพื่อการเกษตรจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไมโครพลาสติก สามารถผ่านเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารได้อย่างไร
ปัญหาพลาสติกนี้มีมากแค่ไหน
พลาสติกมีมาตั้งแต่ปี 2493 (ค.ศ.1950) และในปีนั้น การผลิตส่งผลให้เกิดมลพิษจากพลาสติกประมาณสองล้านตัน ต่อมา ภายในปี 2020 การเติบโตแบบทวีคูณของการผลิตพลาสติกได้เพิ่มตัวเลขดังกล่าวเป็น 400 ล้านตัน ด้วยอัตราเช่นนี้ คาดว่าการผลิตพลาสติกจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี 2583 และเพิ่มขึ้น 2.5 เท่าภายในปี 2593 ยกเว้นเสียแต่ว่า เราจะเปลี่ยนวิธีการผลิตและจัดการพลาสติกให้ได้
ในทางทฤษฎีแล้ว พลาสติกควรนำไปรีไซเคิลได้ง่ายหรืออย่างน้อยก็นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ตามรายงานขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) พลาสติกทั้งหมดน้อยกว่า 20% ถูกนำกลับมาใช้ใหม่ โดยทิ้งพลาสติกที่หลงเหลือไว้มากกว่า 80% ในสิ่งแวดล้อม ในทางกลับกัน OECD กล่าวว่าตลาดทั่วโลกสำหรับพลาสติกมีความผิดปกติ เนื่องจากมีขยะพลาสติกจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และมีอัตราการนำกลับมาใช้ใหม่และรีไซเคิลที่ต่ำมาก
นอกจากนี้ วัฏจักรชีวิตของพลาสติกยังก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนอีกด้วย จากรายงานขององค์การสหประชาชาติ เรื่อง From Pollution to Solution: a global assessment of marine litter and plastic pollution เมื่อปี พ.ศ. 2564 ซึ่งมีการประเมินขยะทะเลและมลภาวะจากพลาสติกทั่วโลก พบว่าพลาสติกมีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อนประมาณ 4% เมื่อปี 2558 และคาดว่าจะสูงถึง 15% ภายในปี 2593 ซึ่งคุกคามเป้าหมายของโลกเราที่จะบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
โลกและมหาสมุทรกำลังถูกพลาสติกยึดครอง
เมื่อพิจารณาในบริบทของรายงานการประเมินครั้งที่ 6 ล่าสุดจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) และการคาดการณ์ที่เลวร้ายของ IPCC สำหรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น เราจึงต้องดำเนินการในตอนนี้ เพื่อให้ภัยคุกคามกลายเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่สำหรับโลกเราในการจัดการด้วยการออกแบบที่ดีขึ้น มีการใช้ซ้ำ และการรีไซเคิลพลาสติก
ข้อตกลงที่มีผลผูกพันทางกฎหมายขององค์การสหประชาชาติในการรับมือกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงและความเสี่ยงจากพลาสติกเกิดขึ้นสองสัปดาห์ก่อนวันรีไซเคิลโลก และมีเป้าหมายเพื่อรับมือกับความเสี่ยงหลายประการของพลาสติก องค์การสหประชาชาติยืนยันว่าจะจัดการกับวงจรชีวิตทั้งหมดของพลาสติก โดยกำหนดให้ใช้พลาสติกที่ออกแบบมาเพื่อใช้ซ้ำและรีไซเคิล ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการสิ้นสุดของพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง กล่าวคือ ข้อตกลงขององค์การสหประชาชาติมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนวงจรชีวิตของพลาสติกจากแบบจำลองเชิงเส้นไปเป็นแบบหมุนเวียน
อนาคตของพลาสติกยังไม่สิ้นสุดลงในวันนี้ แต่เป็นเพียงการเริ่มต้นก้าวไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนและเป็นที่ที่มาตรฐานเป็นจุดชี้เป็นชี้ตายให้กับอนาคตซึ่งโลกต้องจัดการกับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน
สำหรับบทความในตอนต่อไป จะนำเสนอมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานการผลิตและการบริโภคพลาสติกที่ยั่งยืน รวมทั้งแนะนำมาตรฐานที่ส่งเสริมความยั่งยืนในพลาสติกด้วย
ที่มา: 1. https://www.bbc.com/thai/features-50263671
2. https://www.iso.org/news/ref2792-1.html
Related posts
Tags: Circular Economy, IPPC, ISO, Plastic, Standardization, Standards, WHO
Recent Comments