สำหรับบทความ เรื่อง “ไอเอสโอพัฒนามาตรฐานตอบโจทย์วิจัยอายุประชากรโลก ตอนที่ 1” ได้กล่าวถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ซึ่งมีประชากรสูงวัยในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ สำหรับบทความในครั้งนี้จะกล่าวถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ซึ่งมีนัยสำคัญในประเด็นต่าง ๆ และทำให้ไอเอสโอพัฒนามาตรฐานเพื่อประชากรสูงวัยและสังคมโลก ดังต่อไปนี้
ในระดับสังคม แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ในเรื่องการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัย มีนัยสำคัญสำหรับประเด็นต่าง ๆ ดังต่อไปนื้
- แรงงาน เนื่องจากผู้คนอยู่ในวัยแรงงานมาเป็นเวลานาน ทำให้บริษัทต่างๆ อาจต้องกลับมาพิจารณาใหม่ในการออกแบบปริมาณงาน การจัดการผู้มีความสามารถ และแนวทางในการฝึกอบรมและเสริมทักษะแก่ผู้ปฏิบัติงาน บางประเทศก็ได้เพิ่มอายุเกษียณแล้ว เราคาดหวังได้ว่าผู้ปฏิบัติงานอาจมีแนวทางในการก้าวขึ้นสู่เส้นทางอาชีพของตนได้แตกต่างออกไป โดยมีผลงานในอาชีพกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นปัจจัยสำคัญในการก้าวสู่ความสำเร็จ
- การดูแลสุขภาพ ผู้สูงอายุอาจต้องการการรักษาพยาบาลประเภทต่าง ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากพวกเขามีอายุยืนยาวขึ้นในช่วงชีวิตที่สุขภาพอยู่ในขาลง เป้าหมายสำหรับหลายประเทศในอนาคตคือพยายามลดจำนวนการเจ็บป่วยลงในช่วงสองสามปีสุดท้ายของชีวิต ตามทฤษฎีการกดทับความเจ็บป่วย (compression of morbidity theory) ทฤษฎีนี้ระบุว่าความเจ็บป่วยส่วนใหญ่เป็นโรคเรื้อรังและเกิดขึ้นในชีวิตภายหลัง และตั้งสมมติฐานว่าภาระการเจ็บป่วยตลอดชีวิตจะลดลงได้หากสามารถเลื่อนการเริ่มมีอาการเจ็บป่วยเรื้อรังออกไปซึ่งดีกว่าการเพิ่มอายุขัย
- แนวโน้มผู้บริโภค ผู้สูงอายุที่ออกจากงานหลังเกษียณแล้วมีช่วงเวลาหลังจากเกษียณยาวนานขึ้น และอาจมีรูปแบบการบริโภคที่เฉพาะเจาะจง สิ่งเหล่านี้อาจรวมถึงการเดินทางไปไหนมาไหน ความปลอดภัย และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ แต่ยังมีเรื่องการท่องเที่ยว การพักผ่อน และการใช้จ่าย ผู้สูงอายุคาดหวังโอกาสที่จะมีความอยู่ดีมีสุข และมี “เศรษฐกิจแห่งประสบการณ์” (The experience economy) ดังนั้น เมื่อไลฟ์สไตล์และรสนิยมของผู้บริโภคสูงอายุเปลี่ยนไปในขณะที่การใช้จ่ายที่ลดลงในการเกษียณอายุอาจส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัว
- สภาพแวดล้อมทางกายภาพและทางสังคม สิ่งที่จะช่วยให้ผู้สูงสามารถอายุรักษาคุณภาพชีวิตและช่วยเหลือครอบครัวและชุมชนของตนเองได้คือ การอยู่ในชุมชนที่เป็นมิตรต่อผู้สูงวัยซึ่งมีอาคารสาธารณะและการคมนาคมขนส่งที่ปลอดภัยและเข้าถึงได้ สถานที่ที่สามารถเดินไปมารอบๆ ได้ง่าย รวมทั้งโอกาสในการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมด้วย
อิทธิพลของคนหนุ่มสาว
แม้ว่าประชากรสูงอายุจะเป็นประเด็นสำคัญสำหรับหลายประเทศ แต่อิทธิพลของคนรุ่นใหม่จะสร้างความท้าทายและโอกาสด้วย กลุ่มประชากรที่อายุน้อยกว่าจะมีอิทธิพลต่อแรงงาน เศรษฐกิจ และความต้องการผลิตภัณฑ์และบริการ ประชากรวัยหนุ่มสาวมีความสำคัญเป็นพิเศษในแอฟริกาใต้สะฮารา (Sub-Saharan Africa) โดยครึ่งหนึ่งของประชากรจะมีอายุต่ำกว่า 21 ปีภายในปี 2578 (ค.ศ.2035)
คนหนุ่มสาวจากภูมิหลังทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้นในพื้นที่ออนไลน์ พวกเขาทั้งมีอิทธิพลและได้รับอิทธิพลจากความคิด แนวโน้ม ความคิดเห็น และการโฆษณาทั่วโลก คนรุ่นใหม่เหล่านี้จะก่อให้เกิดความท้าทายต่อรัฐบาลในการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น และต่อธุรกิจ เนื่องจากการเปิดรับสื่อโฆษณามากเกินไปก็นำไปสู่การตัดสินใจซื้อที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น หลายคนมองว่าเด็กรุ่นใหม่มีความคิดเห็นที่หนักแน่นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเด็นทางการเมือง และความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม
อิทธิพลของคนหนุ่มสาวที่มีการศึกษาและเข้าใจเทคโนโลยีในโลกของการทำงานจะต้องใช้การจัดการความสามารถที่ตอบสนองและความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับการพัฒนาพนักงานและโอกาสในการทำงาน โอกาสในการจ้างงานของเยาวชนในปัจจุบันได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเงินอย่างต่อเนื่อง บางคนแนะนำว่าการเตรียมความพร้อมให้กับคนหนุ่มสาวสามารถทำงานที่เน้นเทคโนโลยีและความรู้พื้นฐานในระบบการศึกษาแบบดั้งเดิมนั้นไม่เพียงพอ เพราะพวกเขาอาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในตลาดการจ้างงานเนื่องจากการใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคซึ่งนำไปสู่ความท้าทายในการสร้างทุนทางเศรษฐกิจด้วย
จากการศึกษาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ทั่วโลกซึ่งมีประชากรสูงวัยเพิ่มมากขึ้น ทำให้คณะกรรมการวิชาการของไอเอสโอ ISO/TC 314, Aging Societies ได้พัฒนามาตรฐานจำนวนหนึ่งขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว เช่น
- ISO 25550, Aging Societies, General requirements and guidelines for an age-inclusive workforce
- ISO 25551, Aging Societies, General requirements and guidelines for carer-inclusive organizations
- ISO 25552, Aging Societies, Framework for dementia-inclusive communities
- ISO 25554, Ageing Societies– Guidelines for Promoting Wellbeing in Local Communities and Organizations (อยู่ระหว่างการพัฒนา) เป็นต้น
มาตรฐานดังกล่าวให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีของผู้สูงวัยในภาวะต่างๆ รวมถึงผู้สูงวัยทั้งที่ยังคงทำงานและเกษียณอายุแล้วซึ่งต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีการดูแลที่ดีด้านสุขภาพ และสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติแม้ว่าจะมีข้อจำกัดบางประการทางร่างกาย ในขณะที่คนในวัยทำงานต้องทำงานมากขึ้นและรับภาระดูแลผู้สูงอายุในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม เราจะเห็นได้ว่าถึงแม้ไอเอสโอจะให้ความสำคัญกับผู้สูงวัย แต่ก็ไม่ได้ละเลยคนทุกรุ่นทุกวัยดังที่จะเห็นได้จากกลยุทธ์ของไอเอสโอซึ่งได้มองการเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างลึกซึ้ง และเข้าใจถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้และการทำงานทางไกล การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และความจำเป็นในการค้นหาวิธีการทำงานใหม่ๆ เป็นต้น ทำให้มีการวางแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบผ่านกลยุทธ์ ISO 2030 (ISO Strategy 2030) อย่างสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (2030 Agenda) ซึ่งช่วยให้คนทั่วโลกสามารถใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น ปลอดภัยขึ้น ดีขึ้น และก้าวสู่เส้นทางของความยั่งยืนไปพร้อมกัน
ที่มา: 1. https://www.iso.org/foresight/age-groups
2. https://www.iso.org/publication/PUB100364.html
Related posts
Tags: 2030 Agenda, Aging population, Aging societies, Consumer trends, Healthcare, ISO 25550, ISO 25551, ISO 25552, ISO 25554, ISO Strategy 2030, Standardization, Standards, Workforce
ความเห็นล่าสุด