บทความ MASCIInnoversity เรื่อง “ไอเอสโอพัฒนามาตรฐานตอบโจทย์วิจัยอายุประชากรโลก ตอนที่ 1” และ “ไอเอสโอพัฒนามาตรฐานตอบโจทย์วิจัยอายุประชากรโลก ตอนที่ 2” ได้เผยแพร่งานวิจัยสำคัญของไอเอสโอที่ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัยและการเพิ่มขึ้นของประชากรในวัยหนุ่มสาวในหลายประเทศ ซึ่งมีนัยสำคัญทางสังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับเรื่องของการอพยพของผู้คนเข้าสู่เมืองใหญ่และการเคลื่อนย้ายของประชากรระหว่างประเทศซึ่งไอเอสโอได้ค้นคว้าวิจัยไว้ในหลายมิติ ดังต่อไปนี้
ปัจจุบัน ผู้คนทั่วโลกมีแนวโน้มของการอพยพหรือเคลื่อนย้ายเข้าไปสู่เมืองใหญ่ทั้งภายในประเทศหรือระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกด้วยตัวเองหรือได้รับการผลักดันจากปัจจัยแวดล้อม ยิ่งมีประชากรทั่วโลกเติบโตมากขึ้น ก็ยิ่งมีอัตราการอพยพและการกลายเป็นเมืองมากขึ้นเช่นกัน
ผู้คนจำเป็นต้องอพยพเคลื่อนย้ายเนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างผลักดัน ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจ ความขัดแย้ง ความไม่มั่นคงทางการเมือง และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มมากขึ้น
ผู้คนจำนวนมากอาศัยอยู่นอกประเทศบ้านเกิดเมืองนอนมากกว่าที่เคยเป็นมา และหลายคนก็ลงหลักปักฐานอยู่ในเมือง ทำให้มีคนเพิ่มขึ้น เมืองมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีความสำคัญมากขึ้น แท้จริงแล้ว อำนาจของเมืองในฐานะศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและสังคมอาจถูกมองว่าแซงหน้าประเทศในฐานะหน่วยงานทางการเมืองที่มีอำนาจเหนือกว่าในอนาคต แต่หากเมืองได้รับการจัดการอย่างดี ศูนย์กลางเมืองจะส่งเสริมการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจและการดำรงชีวิตที่ยั่งยืนมากขึ้น แต่ในประเทศที่มีการเติบโตเร็วกว่าทรัพยากรที่สนับสนุน แนวโน้มเช่นนี้อาจรวมความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมและนำไปสู่ความขัดแย้งที่มากขึ้น
เมื่อผู้คนอพยพเข้าสู่เมืองมากขึ้น
ผู้คนย้ายจากพื้นที่ชนบทไปยังเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ประชากรในเมืองเติบโตขึ้นอย่างมาก พวกเขากำลังมองหาโอกาสทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่เพิ่มขึ้น คาดว่า 70% ของประชากรโลกจะอาศัยอยู่ในเมืองต่างๆ ภายในปี 2045 (ค.ศ.2045)
ชีวิตในเมืองให้โอกาสมากมายสำหรับคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงบริการที่ดีขึ้น เช่น การศึกษาและการดูแลสุขภาพ สิ่งอำนวยความสะดวประจำวันที่มีอยู่ตามโครงสร้างพื้นฐานของเมือง หรือการเข้าถึงตลาดงานที่กว้างขึ้น ประโยชน์สำหรับสังคมโดยรวมมีความสำคัญ เช่น เมืองต่างๆ เกี่ยวข้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ การสร้างความมั่งคั่งและนวัตกรรมเมืองต่างๆ มีประสิทธิผลอย่างมาก และมีส่วนทำให้ทั่วโลกมีผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศมากกว่า 80%
สำหรับเมือง การอพยพเข้ามาของประชากรอาจส่งผลต่อทรัพยากรและความท้าทายสำหรับนักวางผังเมืองและผู้ที่ดำเนินการจัดสรรทรัพยากร
การที่ชุมชนกลายเป็นเมืองอาจมองได้ว่าเป็นดาบสองคมซึ่งมีทั้งความเป็นไปได้ในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นและความเสี่ยงของความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา การวางผังเมืองไม่ได้คาดการณ์ไว้ว่าจะมีการเติบโตแต่ทรัพยากรจำนวนมากก็ได้ถูกนำไปใช้และเมืองก็ขยายออกไปแล้ว การขยายตัวของเมืองที่เพิ่มขึ้นอาจสร้างปัญหาและโอกาสในทศวรรษหน้า ในอดีต การตั้งถิ่นฐานในเมืองโดยไม่ได้วางแผนหรือไม่เป็นทางการได้เพิ่มความไม่เท่าเทียมกัน และในหลายประเทศ การให้บริการในพื้นที่เหล่านี้ไม่สอดคล้องกับการเติบโตของประชากรในเมือง การขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วอาจนำไปสู่ความขัดแย้งของสถานที่ซึ่งทรัพยากรไม่เพียงพอ หรือมีการจัดการที่ไม่ดี แต่หากได้รับการจัดการอย่างดีก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อประชากรในเมือง
การจำแนกประเภทเมืองของธนาคารโลก
คาดว่าเมืองประเภทต่างๆ ในหลายๆ แห่งจะเพิ่มจำนวนขึ้นในทศวรรษหน้า ความสนใจส่วนใหญ่เกี่ยวกับการกลายเป็นเมืองจะมุ่งเน้นไปที่เมืองใหญ่ ซึ่งมักจะถูกกำหนดให้มีประชากรอย่างน้อย 10 ล้านคน ในขณะที่คาดว่าจำนวนเมืองใหญ่จะเพิ่มขึ้น การเติบโตในเมืองก็จะเกิดขึ้นเช่นกัน อย่างในเมืองเล็กซึ่งมีคนจำนวนต่ำกว่า 1 ล้านคน เมืองขนาดกลางซึ่งมีคนจำนวน 1-5 ล้านคน และเมืองใหญ่ซึ่งมีคนจำนวน 5-10 ล้านคน ธนาคารโลกได้เสนอการจำแนกประเภทของเมืองใหญ่ 3 ประเภทหลัก ดังต่อไปนี้ ประเภทแรก ฮับระดับโลก เป็นเมืองที่ความมั่งคั่งและพรสวรรค์อยู่มากมาย ตัวอย่างเช่น สิงคโปร์ ลอนดอน และนิวยอร์ก ประเภทที่สอง เมืองใหญ่ เป็นเมืองที่มีประชากรจำนวนมากซึ่งเป็นแม่เหล็กดึงดูดประชากรสำหรับภูมิภาคของตน ตัวอย่างเช่น มุมไบ เซาเปาโล จาการ์ตา และประเภทที่สาม เมืองเกตเวย์ เป็น เมืองที่เป็นส่วนหนึ่งของคลัสเตอร์ระดับภูมิภาคที่อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงตลาดเฉพาะ ตัวอย่างเช่น ดูไบ อัลมาตี โจฮันเนสเบิร์ก
เมื่อคำนึงถึงหน้าที่ของเมืองเหล่านี้ ทำให้เกิดคำถามที่น่าสนใจว่าเมืองที่แท้จริงควรเป็นอย่างไรสำหรับนักวางผังเมืองและสำหรับบทบาทของเมืองในการค้าโลก ทั้งทางกายภาพและทางดิจิทัล ซึ่งจากระบบการวิเคราะห์นโยบายและนโยบายของยุโรป (2019) ระบุว่า เมื่อเราพูดว่าภายในปี 2573 (ค.ศ.2030) ถิ่นที่อยู่ต่างๆ จะกลายเป็นเมือง คำว่า “เมือง” ก็จะไม่ใช่แค่การแสดงออกถึงถิ่นที่อยู่เท่านั้น แต่จะเป็นวิถีชีวิตของสังคมโดยรวมด้วย
บางทีเมืองต่างๆ อาจให้โอกาสในการเพิ่มความยั่งยืนและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ ในขณะที่เมืองต่างๆ คาดว่าจะต้องรับผิดชอบกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกถึง 70% แต่เมืองก็ยังเป็นสถานที่ที่การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเชิงรุกและเชิงนวัตกรรมและการวางผังเมืองสามารถให้ประโยชน์มากมาย การดำรงชีวิตที่มีความหนาแน่นสูงช่วยให้มีการประสานงานมากขึ้นในการจัดการของเสีย การจัดการพลังงานที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ลดการพึ่งพารถยนต์เพื่อการขนส่ง และการกระจายอาหารและทรัพยากรอื่นๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวเลือกการขนส่งสาธารณะและการขนส่งแบบยั่งยืนเป็นโอกาสพิเศษในแง่ของการดำเนินการตามโอกาสที่เสนอโดยการขยายตัวของเมือง
ไอเอสโอเห็นความสำคัญของเมือง จึงได้พัฒนามาตรฐานหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับเมือง จะมีมาตรฐานอะไรบ้าง โปรดติดตามในบทความครั้งต่อไปค่ะ
ที่มา: https://www.iso.org/foresight/movement-of-people
Related posts
Tags: cities, Economics, Environment, Infrastructure, Innovation, ISO, Society, Standardization, Standards, Urbanization
Recent Comments