บทความ MASCIInnoversity เรื่อง “ไอเอสโอพัฒนามาตรฐานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ตอนที่ 1” ได้กล่าวถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพที่ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้ออกมากล่าวเตือนภัยว่าโลกของเรากำลังสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและเสี่ยงต่อการล่มสลายของสายพันธุ์พืชและสัตว์ต่างๆ ซึ่งไอเอสโอกำลังดำเนินการเพื่อสนับสนุนอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD) ที่พัฒนาโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และต้องการให้เป็นรากฐานสำหรับการปกป้องความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตบนโลก โดยมีมาตรฐานสากลเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เกิดประโยชน์อย่างมากมายในติดตามความหลากหลายทางชีวภาพได้ ดังที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้
มีดัชนีอื่นๆ มากมายสำหรับการประเมินความหลากหลายทางชีวภาพนอกเหนือจากชุดข้อมูลที่เรียกว่า LPI: Living Planet Index ซึ่งใช้ติดตามแนวโน้มและรูปแบบที่ความหลากหลายทางชีวภาพเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ตัวอย่างเช่น สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้อธิบายรายการเครื่องมือจำนวน 15 อย่างไว้ในรายงานเกี่ยวกับตัวชี้วัดความหลากหลายทางชีวภาพประจำปี 2560 และเครื่องมือเหล่านี้ก็เกิดขึ้นมาอีกมากมายในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม มาตรฐานระดับประเทศและระดับภูมิภาคได้แสดงให้เห็นว่าแนวทางมาตรฐานสากลรวมทั้งวิธีที่เราจัดการสามารถก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาลในการติดตามความหลากหลายทางชีวภาพ
เมื่อต้นปี 2565 กลุ่มนักวิจัยในประเทศฝรั่งเศสรายงานว่าเรื่องราวความสำเร็จด้านความหลากหลายทางชีวภาพและมาตรฐานระดับประเทศจาก AFNOR (สถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศฝรั่งเศส) เป็นหัวใจสำคัญของเรื่องนี้ ทีมวิจัยอธิบายว่าการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและการลดมลภาวะช่วยให้พืชและสัตว์น้ำสามารถฟื้นตัวได้เป็นอย่างดี นักวิจัยได้ใช้มาตรฐานระดับประเทศ 3 ฉบับสำหรับการติดตามและวัดผลที่สำคัญระหว่างการตรวจสอบ เพื่อให้ข้อมูลที่สอดคล้องซึ่งเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ มาตรฐานนั้น ได้แก่ AFNOR, 2004a, AFNOR, 2004b และ AFNOR 2016
สำหรับที่อื่น ๆ ในฝรั่งเศส ทีมนักวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งได้ใช้มาตรฐานระดับภูมิภาคของยุโรปที่อธิบายวิธีการตรวจสอบทางชีวภาพที่สอดคล้องและรับประกันคุณภาพ เพื่อตรวจสอบความต้านทานมลภาวะของไลเคน พวกเขาจึงมองไกลออกไปกว่าสาขาเดิมและพบว่ามีหลักฐานมากมายที่แสดงให้เห็นว่ามีมาตรฐานระดับภูมิภาคสำหรับการประเมินความหลากหลายทางชีวภาพของไลเคนพืชทั่วโลก
AFNOR ยังได้เผยแพร่มาตรฐานระดับประเทศเกี่ยวกับแนวทางองค์กรเพื่อบูรณาการความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะหากไม่มีเครื่องมือที่เป็นมาตรฐานในการประเมินความหลากหลายทางชีวภาพ ก็จะไม่มีการเฝ้าติดตามและการจัดการที่สอดคล้องกัน ขั้นตอนต่อไปคือการประสานกันระหว่างประเทศ เนื่องจากมีความรู้ ตัวชี้วัด และวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้ามากและเพียงพอที่จะสร้างความร่วมมือต่อไป
กลุ่มผู้เชี่ยวชาญความหลากหลายทางชีวภาพของไอเอสโอกำลังพัฒนาแนวทางเกี่ยวกับประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพที่เฉพาะเจาะจงลงไปอีก เช่น วิศวกรรมนิเวศวิทยา การแก้ปัญหาตามธรรมชาติ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
แคโรไลน์ ลูเยอรีจาก AFNOR ซึ่งเป็นสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศฝรั่งเศส และผู้จัดการของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญระดับระหว่างประเทศที่พัฒนามาตรฐานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ อธิบายว่า ความสอดคล้องของแนวทางปฏิบัติจะช่วยเราได้มากในการให้ข้อมูลที่เชื่อถือได้และเปรียบเทียบได้ในระดับระหว่างประเทศและในโครงการต่างๆ
แล้วทำไม ในการดำเนินการต่างๆ องค์กรจึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจร่วมกันว่าความหลากหลายทางชีวภาพคืออะไร คำตอบคือ เราจำเป็นต้องมีกรอบการทำงานในการดำเนินการ วิธีการ เครื่องมือในการประเมินผลกระทบ ความคืบหน้า และตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้แน่ใจว่ามาตรฐานจะถูกนำไปใช้ในวงกว้างโดยภาคเอกชน การพัฒนามาตรฐานนั้นต้องอาศัยปัจจัยหลายประการ และจำเป็นต้องสอดคล้องกับเครื่องมือล่าสุดและผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนคำนึงถึงการพิจารณาความหลากหลายทางชีวภาพในระบบเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องดึงดูดโลกธุรกิจเข้ามาด้วย ดังนั้น จึงต้องยอมรับคำถามที่ว่าหน่วยงานท้องถิ่นจะสามารถบรรลุเป้าหมายการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างไร การหาสมดุลที่เหมาะสมนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายมาก แต่ท้ายที่สุดแล้ว มาตรฐานสากลสำหรับความหลากหลายทางชีวภาพจะมีส่วนสนับสนุนโดยตรงต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติและอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD)
เป้าหมายขององค์การสหประชาชาติในยุคนี้ที่ต้องมีการฟื้นฟูระบบนิเวศตามแนวทาง UN Decade on Ecosystem Restoration (มีกรอบเวลาคือ ระหว่างปี 2564 – 2573 หรือ ค.ศ.2021 – 2030) จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันและหยุดความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศในทุกทวีปและทุกมหาสมุทร แต่จากเงื่อนเวลาดังกล่าว โลกของเราเหลือเวลาอีกเพียง 9 ปี ขณะนี้จึงเป็นเวลาที่ต้องเร่งฟื้นฟูระบบนิเวศที่เสียหายไปให้กลับคืนมา ถึงเวลาแล้วที่มนุษยชาติต้องร่วมมือกันเพื่อเร่งการอนุรักษ์โลกของเรา และทำให้โลกเป็นสถานที่ที่เราและลูกหลานจะสามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ตราบนานเท่านาน
ที่มา: https://www.iso.org/contents/news/2022/05/our-fight-for-a-living-planet.html
Related posts
Tags: AFNOR, Biodiversity, Biomonitoring, CBD, ecosystem, ISO, Lichens, LPI, Standardization, Standards, Water pollution
Recent Comments