อุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพทั่วโลกกำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่ๆ มักจะดิสรัพท์วิธีการดูแลรักษาในศตวรรษที่ 21 ยกตัวอย่างเช่น ดีเอ็นเอของตัวอ่อนมนุษย์ได้รับการแก้ไขเพื่อกำจัดโรคภัย ศัลยแพทย์ทำการผ่าตัดหัวใจทารกแรกเกิดด้วยแบบจำลองทางกายวิภาคที่พิมพ์สามมิติ และเป็นครั้งแรกที่ได้มีการใช้โดรนส่ง “ไต”ให้กับผู้ป่วยเพื่อใช้ปลูกถ่ายอวัยวะซึ่งรอผู้บริจาคมานานนับปี เป็นต้น สถานการณ์เหล่านี้ได้นำไปสู่จุดเริ่มต้นของการดูแลสุขภาพด้วยนวัตกรรม
ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 75 เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม 2565 ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส เลขาธิการองค์การอนามัยโลก ได้กล่าวว่าองค์การอนามัยโลกมีความพยายามที่จะเห็นผู้คนทั่วโลกมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และคาดว่ากำลังจะบรรลุเป้าหมายนี้ภายในปี 2566 อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้ามีเพียงหนึ่งในสี่ของสิ่งที่จำเป็นในการบรรลุเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ก็ยังคงมีแนวโน้มว่าจะประสบความสำเร็จ
แนวโน้มใหม่เหล่านี้มีนัยสำคัญต่อวิธีการทำงานของระบบสุขภาพ และวิธีการบริหารของสถานพยาบาลในอนาคตซึ่งเกี่ยวข้องกับบุคลากร ขนาดและการออกแบบสถานพยาบาล การเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากรศาสตร์และเศรษฐกิจ รวมทั้งเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้สามารถให้บริการด้านการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลผู้ป่วยนอกได้มากขึ้น และทำให้การดูแลผู้ป่วยในในโรงพยาบาลมีกรณีที่ซับซ้อนมากขึ้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการดูแลสุขภาพของเราเช่นกัน
ปัจจุบัน คณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 304, Healthcare organization management กำลังพิจารณาถึงความจำเป็นในการปรับปรุงการให้บริการด้านการดูแลสุขภาพ และยังอยู่ระหว่างการพัฒนามาตรฐาน ISO 7101, Health Care Quality Management System Standard ซึ่งได้รับการออกแบบมาเพื่อให้แน่ใจว่ามีประสิทธิผล มีประสิทธิภาพ ทันเวลา ลดความเสี่ยงและมีความปลอดภัย โดยให้การดูแลที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ ผู้ป่วย และผู้ดูแลผู้ป่วยมีโครงสร้างและความชัดเจนที่ตามต้องการในขณะที่พวกเรากำลังเข้าสู่ยุคใหม่ที่ต้องจับตามองในเรื่องของการดูแลสุขภาพ
ทั้งนี้ คณะกรรมการวิชาการของไอเอสโอกำลังรวบรวมผู้เชี่ยวชาญจากทุกด้านในการให้บริการด้านการดูแลสุขภาพ รวมทั้งแพทย์ ผู้บริหารโรงพยาบาล กระทรวงสาธารณสุขและผู้เชี่ยวชาญด้านคุณภาพ เพื่อตรวจสอบหัวข้อต่างๆ เช่น การวางแผนด้านการดูแลสุขภาพ การจัดการความเสี่ยง ประชากรที่มีความเท่าเทียมกันและความเปราะบาง และการฝึกอบรมกำลังคน เป็นต้น แต่สิ่งสำคัญในเรื่องนี้คือการแบ่งปันความรู้ที่ได้รับจากรูปแบบการรักษาพยาบาลที่แตกต่างกัน เพื่อสร้างชุดมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับสำหรับการจัดการองค์กรด้านการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพสูง ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการปรับปรุงระบบสุขภาพและผลลัพธ์ของผู้ป่วยทั่วโลก
แองเจลา แมคคาสคิล พยาบาลวิชาชีพและผู้อำนวยการโครงการสื่อสารและการตรวจสอบของสถาบันมาตรฐานการดูแลสุขภาพ (Communications and Audit Programs at the Healthcare Standards Institute) ผู้นำโครงการของคณะทำงาน ISO/TC 304 สำหรับมาตรฐานใหม่ กล่าวว่าเมื่อเธอเริ่มค้นคว้าเกี่ยวกับคุณภาพการดูแลสุขภาพระดับโลก ก็สังเกตเห็นว่ามีเอกสารที่เผยแพร่แนวปฏิบัติที่ดีที่สุดเป็นจำนวนมากจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งมหาวิทยาลัย องค์กรด้านสุขภาพ และเอ็นจีโอ แต่ว่าแนวปฏิบัติเหล่านี้ไม่ได้มีการแบ่งปันหรือนำไปปฏิบัติกันทั่วโลก ดังนั้น เป้าหมายของคณะทำงานนี้ก็คือเพื่อให้ไอเอสโอสร้างมาตรฐานที่เข้าใจได้ง่ายและผู้เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้งานและใช้อ้างอิงได้ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นบุคคล ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รัฐบาล หรือผู้ให้ทุน
อย่างไรตาม ปัจจุบัน องค์กรด้านการดูแลสุขภาพและผู้ให้ทุนสนับสนุนต่างยอมรับว่าปริมาณของผลผลิตไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องคุณภาพ หากคุณภาพต่ำจนไม่สร้างความแตกต่างที่ยั่งยืน ก็ไม่มีประโยชน์แต่อย่างใด โครงการที่นำโดยผู้เชี่ยวชาญไอเอสโอจึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพด้านการดูแลสุขภาพที่องค์กรด้านการดูแลสุขภาพทุกขนาดสามารถนำไปใช้ได้และด้วยทรัพยากรที่แตกต่างกันในทั่วทุกมุมโลก ซึ่งทั่วโลกก็กำลังเผชิญกับความท้าทายด้านการดูแลสุขภาพในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป และจะกล่าวถึงในบทความ MASCIInnoversity ครั้งหน้าพร้อมกับเรื่องบทบาทของมาตรฐานสากลด้านการดูแลสุขภาพด้วยค่ะ
ที่มา: https://www.iso.org/contents/news/2022/05/what-does-the-future-hold-for-he.html
Related posts
Tags: health care, Healthcare, Innovation, ISO, ISO 7101, SDGs, Standardization, Standards, WHO
ความเห็นล่าสุด