บทความเรื่อง “อนาคตของการดูแลสุขภาพกับมาตรฐานไอเอสโอ ตอนที่ 1” ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพทั่วโลกไปเป็นการดูแลสุขภาพด้วยนวัตกรรมอันเนื่องมาจากการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งแองเจลา แมคคาสคิล ผู้นำโครงการคณะทำงาน ISO/TC 304 สำหรับมาตรฐานใหม่ ISO 7101, Health Care Quality Management System Standard ยอมรับว่ามีแนวปฏิบัติเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพระดับโลกของสถาบันและองค์กรด้านสุขภาพ แต่ทั่วโลกไม่ได้นำแนวปฏิบัติเหล่านั้นไปใช้หรือแบ่งปันกันอย่างที่ควรจะเป็น และยังต้องเผชิญกับความท้าทายด้านการดูแลสุขภาพในรูปแบบที่แตกต่างกันไปอีกด้วยซึ่งจะกล่าวถึงดังต่อไปนี้
ศาสตราจารย์อดัม เลย์แลนด์ ผู้ประสานงานมาตรฐานคุณภาพการดูแลสุขภาพ แพทย์และผู้นำอาวุโสของ National Health Service ประเทศสหราชอาณาจักร กล่าวว่า มาตรฐานใหม่เกี่ยวกับการดุแลสุขภาพมีความจำเป็นมากกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต ปัจจุบัน องค์กรด้านการดูแลสุขภาพต้องเผชิญกับภัยคุกคามทั้ง 3 ด้านมาเป็นเวลาหลายปี ได้แก่ การลดลงของทรัพยากรทางการเงิน การขาดแคลนแรงงาน และการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุ ซึ่งจากประสบการณ์ด้านการจัดการด้านการดูแลสุขภาพในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการด้านการจัดการองค์กรด้านการดูแลสุขภาพของประเทศสหราชอาณาจักร เขาเชื่อว่าลำพังความเชี่ยวชาญของไอเอสโอนั้นยังมีกำลังไม่เร็วพอที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ในทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเกิดการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ก็ยิ่งทำให้เห็นถึงความสำคัญของการให้บริการด้านสุขภาพในรูปแบบใหม่และแตกต่างไปจากเดิมมากยิ่งขึ้น เรียกได้ว่าระบบการดูแลสุขภาพทั่วโลกต่างก็เผชิญกับแรงกดดันอย่างมากในการรับมือกับการระบาดใหญ่ดังกล่าว
ศาสตราจารย์อดัม เลย์แลนด์ เชื่อว่าปัญหาด้านสุขภาพล่าสุดนี้อาจจุดประกายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีในด้านการดูแลสุขภาพทั่วโลก เขากล่าวว่าตอนนี้มีโอกาสที่จะช่วยเหลือกันเพื่อให้บรรลุผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การพัฒนามาตรฐานใหม่นี้จะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถปรับปรุงการดูแลให้ดียิ่งขึ้น และเอาชนะภัยคุกคามด้านการดูแลสุขภาพที่พวกเราเผชิญร่วมกันได้ เพราะมาตรฐานนี้มีไว้สำหรับโลก และเราก็มีโลกที่ช่วยกันพัฒนา
ด้วยความเห็นพ้องต้องกันในระดับโลก องค์กรต่างๆ จะสามารถแสดงความมุ่งมั่นในด้านคุณภาพ การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง และนโยบายที่ได้รับการสนับสนุนจากเป้าหมายและตัวชี้วัดที่เน้นผลลัพธ์ ข้อมูลที่รวบรวมไว้จะใช้วัดผลการปฏิบัติงานและเป็นหลักฐานสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ให้ความสนใจ ในที่สุดก็จะช่วยสนับสนุนการแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีที่ใช้ในโรงพยาบาลและสถานพยาบาลทั่วทุกประเทศ เพื่อช่วยปรับปรุงการดูแลผู้ป่วยทั่วโลก
ด้วยเหตุผลนี้ การพัฒนามาตรฐานจึงจำเป็นนำข้อมูลทั้งหมดจากทั่วโลกมาใช้ร่วมกัน และไอเอสโอก็ได้เพิ่มจำนวนประเทศต่างๆ เพื่อให้เข้าร่วมในคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 304 เพื่อช่วยพัฒนามาตรฐานที่ส่งผลดีต่อผู้ป่วยทั่วโลก เกี่ยวกับเรื่องนี้ แองเจลา แมคคาสคิล กล่าวว่าพวกเขาประสบความสำเร็จอย่างมากในการดึงดูดผู้เชี่ยวชาญจากทุกหมวดหมู่รายได้ของกลุ่มประเทศ OECD และได้พยายามที่จะดึงผู้เชี่ยวชาญประเทศในซีกโลกใต้รวมถึงกานา มาลาวี แคเมอรูน ไนจีเรีย และบราซิลเข้ามาในคณะกรรมการดังกล่าวด้วย
การพัฒนามาตรฐานดังกล่าวเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และมีความสำคัญต่อการเข้าถึง การบังคับใช้ และความสำเร็จของมาตรฐานที่เป็นตัวแทนของประชากรโลก ทำให้คณะทำงานได้มีบทเรียนล้ำค่าที่ช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คน และสามารถเรียนรู้จากกันและกันได้โดยไม่ขึ้นอยู่กับสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ
แองเจลา แมคคาสคิล ยอมรับว่ากระบวนการพัฒนามาตรฐานด้านการดูแลสุขภาพนั้นใช้เวลาพอสมควร แต่เธอเชื่อว่าในประวัติศาสตร์สมัยใหม่สำหรับงานของ ISO/TC 304 งานนี้เป็นงานที่มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนและมีปริมาณมากซึ่งคณะกรรมการวิชาการต้องมีการบริหารจัดการเป็นอย่างดี ซึ่งไอเอสโอก็มีทีมงานที่แข็งแกร่งและมุ่งมั่นอยู่แล้ว และได้ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยมาตลอด 16 เดือนที่ผ่านมา โดยมีการแสวงหาความร่วมมือและความรู้จากประเทศต่างๆรวมทั้งองค์กรต่างๆ ที่สนใจในการพัฒนาคุณภาพการดูแลสุขภาพหรือต้องการแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดมาอย่างต่อเนื่องโดยตลอด สิ่งนี้จะเป็นปัจจัยต่อความสำเร็จของไอเอสโอที่จะช่วยให้ไอเอสโอสามารถสร้างมาตรฐานชั้นนำระดับโลกที่สร้างประโยชน์และการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง
ที่มา: https://www.iso.org/contents/news/2022/05/what-does-the-future-hold-for-he.html
Related posts
Tags: COVID-19, health care, Healthcare, ISO, ISO 7101, ISO/TC 304, OECD, Quality management system, Standardization, Standards
Recent Comments