ปัจจุบัน ทั่วโลกต่างประสบกับปัญหาของวิกฤตสภาพภูมิอากาศในรูปแบบต่างๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความร้อน ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น หรือการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ตราบใดที่เรายังเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ เราก็จะต้องเผชิญกับปัญหานี้ต่อไป แต่สิ่งที่เราทำได้คือ การป้องกันและหลีกเลี่ยงไม่ให้สภาพภูมิอากาศเลวร้ายไปกว่าเดิม ซึ่งในการแก้ไขในระดับโลก ไอเอสโอได้จัดเตรียมให้มีเวทีระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาหลักการที่เห็นพ้องต้องกันในเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์แล้ว
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถือว่าเป็นภัยคุกคามที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนที่สุดซึ่งส่งผลกดดันต่อการดำรงอยู่ต่อโลกของเรา รายงานล่าสุดของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ได้ประกาศอย่างชัดเจนต่อองค์กรและผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกให้ร่วมกันสนับสนุนให้มีการดำเนินการอย่างมีนัยสำคัญเพื่อควบคุมภาวะโลกร้อนให้ได้
ผลจากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์มีความชัดเจนเป็นอย่างมากว่าเราสามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้โดยการจำกัดภาวะโลกร้อนไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส และเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายนี้ การปล่อยมลพิษเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นก็จะต้องเป็นศูนย์สุทธิภายในปี 2593 (ค.ศ.2050)
สำหรับค่าศูนย์สุทธิที่มีการกล่าวถึงนั้น เป็นสถานะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มนุษย์สร้างขึ้นหรือก๊าซที่ทำให้โลกร้อนอื่นๆ ที่จะถูกกำจัดออกจากชั้นบรรยากาศซึ่งสามารถทำได้ตามธรรมชาติ เช่น ด้วยการฟื้นฟูป่าที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากอากาศ หรือการใช้เทคโนโลยีที่สามารถดักจับและกักเก็บการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือดึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ออกจากบรรยากาศได้โดยตรง แม้ว่าโดยทั่วไปจะมีความเข้าใจเช่นนี้ แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าศูนย์สุทธิหมายถึงอะไรในทางปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการของภาครัฐและที่ไม่ใช่ภาครัฐ
สำหรับหัวข้อการรณรงค์วันสิ่งแวดล้อมโลกประจำปีนี้ 2565 มีชื่อว่า “Only One Earth” ซึ่งสอดคล้องกับวาระระดับโลกในปัจจุบันในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในขณะที่โลกพยายามลดความผันแปรและนำความสอดคล้องมาสู่ “ศูนย์สุทธิ” ช่วงนี้จึงเป็นเวลาที่ทั่วโลกร่วมแรงร่วมใจด้วยความสามัคคีในการนำโลกของเราเข้าสู่ศูนย์สุทธิ
ไอเอสโอเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมาย Our 2050 World ของโลกเรา ซึ่งเป็นความร่วมมือในการสนับสนุนผู้มีบทบาททั้งของรัฐและนอกภาครัฐในการเร่งให้มีการแข่งขันสู่ศูนย์สุทธิโดยใช้มาตรฐาน ด้วยเหตุนี้ ไอเอสโอจึงมุ่งมั่นที่จะเร่งความก้าวหน้าโดยการจัดหาแพลตฟอร์มระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาหลักการชี้นำแบบศูนย์สุทธิผ่านการเปิดตัวข้อตกลงการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างประเทศ (International Workshop Agreement: IWA)
การปล่อยมลพิษของมนุษย์จะต้องถึงศูนย์สุทธิภายในปี 2593 (ค.ศ.2050)
ข้อตกลง IWA ดังกล่าวจะช่วยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดมีส่วนร่วมและตั้งเป้าที่จะสร้างฉันทามติเกี่ยวกับคำจำกัดความที่เกี่ยวข้องกับศูนย์สุทธิ เพื่อสนับสนุนการริเริ่มและการนำมาตรฐานไปใช้มาตรฐานโดยสมัครใจ ตลอดจนวัตถุประสงค์ของนโยบายระดับประเทศและระดับระหว่างประเทศ
ความสม่ำเสมอและความชัดเจนที่มากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศูนย์สุทธิจะช่วยทำให้ความพยายามระดับโลกได้รับความสำคัญในที่สุด หลักการชี้นำของข้อตกลง IWA จะรวมถึงสิ่งต่อไปนี้ด้วย ได้แก่
1. คำจำกัดความของศูนย์สุทธิและแนวคิดที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับองค์กร
2. คำจำกัดความนี้ควรรวมเข้ากับความคิดริเริ่ม กลยุทธ์ และนโยบายในทุกระดับอย่างไร
3. พื้นฐานสำหรับกลไกและการวัดความรับผิดชอบ เช่น การพัฒนาตัวบ่งชี้ที่สอดคล้องกันทำให้สามารถรายงานและสื่อสารได้
ที่สำคัญ หลักการชี้นำที่เป็นศูนย์สุทธิเหล่านี้จะต่อยอดจากความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นผ่านการริเริ่ม การรณรงค์ และการกำกับดูแลที่มีอยู่จากผู้ดำเนินการของรัฐและที่ไม่ใช่รัฐ เพื่อสนับสนุนวัตถุประสงค์และเพิ่มการเข้าถึงในเรื่องนี้ด้วย
เซอร์จิโอ มูจิกา เลขาธิการไอเอสโอได้ให้ความเห็นว่า ข้อตกลงการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างประเทศของไอเอสโอจะช่วยขับเคลื่อนประชาคมโลกจากความมุ่งมั่นไปสู่การปฏิบัติ ไอเอสโอตระหนักดีถึงความจำเป็นในการขับเคลื่อนโลกให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยให้ประเทศต่างๆ บรรลุเป้าหมายที่เป็นศูนย์สุทธิและสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ข้อตกลงนี้จะเป็นเครื่องมือในการช่วยให้การดำเนินการตามนโยบายมีประสิทธิผลมากขึ้น และโลกของเราจะบรรลุเป้าหมายด้านสภาพอากาศได้รวดเร็วยิ่งขึ้นร่วมกัน
มาตรฐานสากลยังคงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนงานของชุมชนวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศโลก และส่งเสริมความไว้วางใจของสาธารณชนในการวิจัยเกี่ยวกับสภาพอากาศ
ไอเอสโอมีมาตรฐานหลายร้อยมาตรฐานที่จำเป็นในการสนับสนุนด้านนี้ซึ่งช่วยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องดังกล่าวสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สามารถหาปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และส่งเสริมการเผยแพร่แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดได้
เมื่อมีการนำข้อตกลง IWA ไปใช้ร่วมกับมาตรฐานไอเอสโอเกี่ยวกับการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ก็จะมีส่วนผลักดันให้โลกของเราก้าวสู่เป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ต่อไปในอนาคต
ผู้สนใจสามารถศึกษาเกี่ยวกับปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไอเอสโอได้จากเว็บไซต์ของไอเอสโอและลงทะเบียนเพื่อมีส่วนร่วมในข้อตกลงหลักการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ฉบับแรกของโลก
ที่มา: https://www.iso.org/contents/news/2022/06/defining-net-zero.html
Related posts
Tags: Climate Change, Environmental protection, IPCC, IWA, Net Zero, SDGs, Standardization, Standards
Recent Comments