อาหารที่เราบริโภคอยู่ทุกวัน นับจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ…จากฟาร์มสู่โต๊ะอาหาร…เราจะมั่นใจในความปลอดภัยได้แค่ไหน การเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยนั้นมีความสำคัญต่อชีวิตและสุขภาพของเราเป็นอย่างมาก ในมุมมองทางสังคม หากเรารับประทานอาหารที่ไม่ปลอดภัย ก็จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพตั้งแต่เล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ซึ่งทำให้ต้องหยุดกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การศึกษา หรือการทำงาน ส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนหรือการทำงาน รวมทั้งส่งผลต่อสุขภาวะทางสังคมด้วย
ในขณะเดียวกัน ระบบอาหารทั่วโลกก็ได้รับแรงกดดันนับตั้งแต่ก่อนการระบาดใหญ่แล้ว และยังต้องเผชิญกับปัญหาคอขวด ในห่วงโซ่อุปทาน ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งความตึงเครียดทางการเมืองที่ผันผวนด้วย
ความปลอดภัยของอาหาร และการขจัดความหิวโหย
ความท้าทายในโลกปัจจุบันคือทำอย่างไรจึงจะบรรลุเป้าหมายด้านความปลอดภัยของอาหารท่ามกลางสถานการณ์ที่ผันผวนเช่นนี้
เนื่องในวันความปลอดภัยอาหารโลกปี 2565 (World Food Safety 2022) องค์การอนามัยโลกได้รณรงค์ในหัวข้อ “อาหารที่ปลอดภัยกว่า สุขภาพที่ดีขึ้น” (Safer food, better health) ซึ่งเน้นย้ำถึงความสำคัญของอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการในการทำให้มั่นใจในสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของเรา และเราทุกคนต่างก็มีส่วนในการทำให้มั่นใจว่าเราจะบรรลุเป้าหมายนี้ ความปลอดภัยของอาหารอยู่ในมือของเราแล้วไม่ว่าเราจะอยู่ในห่วงโซ่อาหารในช่วงใด ไม่ว่าจะปลูก แปรรูป ขนส่ง จัดเก็บ ขาย ซื้อ จัดเตรียมหรือเสิร์ฟอาหารก็ตาม
โครงการ Food Action Alliance เป็นความพยายามร่วมกันของผู้นำระดับโลกในการผลิตอาหารในลักษณะที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุม และเข้าถึงได้สำหรับทุกคน โดยได้ริเริ่มให้เกษตรกรทั่วโลกให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาในท้องถิ่นซึ่งมีการจูงใจเกษตรกรและให้อำนาจผู้บริโภคในการจัดการเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ ธรรมชาติ และความยืดหยุ่นซึ่งใช้เป็นแกนหลักของเศรษฐกิจอาหาร
เรื่องราวทั้งหมดนี้ได้รับการเน้นย้ำจากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติในหัวข้อที่ 2 คือการยุติความหิวโหย (Zero Hunger) ซึ่งมีแนวคิดว่าการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งของระบบอาหารและการเกษตรทั่วโลกเป็นสิ่งจำเป็น หากเราต้องหล่อเลี้ยงผู้คนกว่า 690 ล้านคนในปัจจุบัน และคนอีกสองพันล้านคนทั่วโลกภายในปี 2050 การเพิ่มผลิตภาพทางการเกษตรและการผลิตอาหารอย่างยั่งยืนเท่านั้นที่จะเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยบรรเทาความหิวโหยของมนุษยชาติได้
ปัจจุบัน โลกทั้งใบมีข้อมูลเชื่อมโยงถึงกันอยู่ตลอดเวลา ซึ่งหมายความว่าเราทุกคนต่างตระหนักมากขึ้นถึงผลกระทบของการผลิตอาหารที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและความเสี่ยงร่วมกันต่อสุขภาพของเราจากโรคที่เกิดจากอาหาร สารพิษ และอันตรายอื่นๆ ซึ่งผลิตภัณฑ์อาหารมีการเคลื่อนย้ายจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่งอย่างต่อเนื่องในห่วงโซ่อุปทานที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เสี่ยงต่อการปนเปื้อนและการปฏิบัติที่ไม่ดี การสร้างประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นที่มากขึ้นในระบบอาหารจึงเป็นวิธีหนึ่งในการลดความเสี่ยงเหล่านี้ และสร้างความมั่นใจว่าระบบจะพร้อมรับมือกับปัญหาการจัดหาอาหารในอนาคตด้วย
อาหารนวัตกรรมใหม่ เพิ่มทางเลือกให้ประชากรโลก
ปัจจุบัน ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนที่ซื้ออาหารรวมทั้งการดำเนินธุรกิจอาหาร เทคโนโลยีใหม่ของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่กำลังเปิดโอกาสใหม่ๆ ในการหล่อเลี้ยงอาหารให้แก่ชาวโลก เช่นเดียวกับการนำเสนอมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับวัตถุดิบของอาหารที่ให้คุณค่าทางโภชนาการ ตัวอย่างเช่น แมลงที่กินได้ซึ่งไม่ใช่สิ่งใหม่ ในรายการทีวียอดนิยม “มาสเตอร์เชฟ ออสเตรเลีย” เมื่อปี 2561 (ค.ศ.2018) ผู้เข้าแข่งขันได้รับมอบหมายให้เน้นส่วนผสมที่มาจากท้องถิ่นซึ่งก็คือมดเขียว และเมื่อแขกวีไอพีในรายการ (เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์) ได้รับการเสิร์ฟอาหารคือมดเขียวบนคานาเป้ ก็ทำให้พระองค์ทรงตกตะลึงไปชั่วขณะ อย่างไรก็ตาม องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้กล่าวว่าอาหารใหม่ (Novel food) เช่น แมลงที่กินได้ หรือเทคโนโลยีใหม่อย่างเอไอและนาโนเทคโนโลยีน่าจะเป็นโอกาสที่น่าตื่นเต้นในอนาคต
ถึงแม้ว่าแมลงจะถูกมองว่าเป็นอาหารใหม่ที่เป็นแหล่งของโปรตีน เส้นใย กรดไขมัน วิตามินและแร่ธาตุก็ตาม แต่ FAO ก็ไม่ได้ละเลยเรื่องความปลอดภัยของอาหารใหม่แต่อย่างใด (รวมทั้งพืชผลที่มีการตัดแต่งพันธุกรรม) ในทางกลับกัน กลับชี้ให้เห็นว่าขณะนี้เป็นเวลาที่ต้องเตรียมการสำหรับประเด็นด้านความปลอดภัย ในรายงานฉบับล่าสุด อิสมาฮาเน เอลูอาฟี หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของ FAO ได้กล่าวว่าเราอยู่ในยุคที่นวัตกรรมทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์กำลังปฏิวัติภาคเกษตร ซึ่งรวมถึงเวทีความปลอดภัยด้านอาหารด้วย ซึ่งประเทศต่างๆ จำเป็นต้องก้าวให้ทันกับความก้าวหน้าเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องที่มีผลต่อสุขภาพของผู้คนอย่างเรื่องความปลอดภัยของอาหาร
ต้องรักษามาตรฐานความปลอดภัยของอาหาร
ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า อาหารที่ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการจะทำให้เรามั่นใจในสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีไม่ว่าเราจะเป็นเกษตรกร ผู้ค้าส่งอาหาร ผู้ขายอาหาร หรือผู้บริโภคก็ตาม ซึ่ง “มาตรฐาน” สามารถส่งเสริมคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร ตลอดจนประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทานอาหารได้ นับตั้งแต่ออกจากฟาร์มไปสู่โต๊ะอาหาร
มาตรฐานสามารถช่วยป้องกันโรค ตรวจจับแบคทีเรีย และจัดการความเสี่ยงของอาหารได้ ซึ่งมาตรฐานไอเอสโอมีบทบาทสำคัญมาก ตัวอย่างเช่น ISO 22000 ระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหารช่วยให้ผู้ผลิตอาหารทุกประเภทจัดการความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ของตนและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้บริโภค สร้างความมั่นใจในห่วงโซ่อุปทานอาหารทั่วโลก ทำให้สามารถส่งผลิตภัณฑ์ข้ามพรมแดนไปยังประเทศต่างๆ ด้วยความไว้วางใจในคุณภาพ นอกจากนี้ ไอเอสโอยังได้พัฒนามาตรฐานฉบับใหม่อีก 2 ฉบับสำหรับหน่วยรับรองที่ให้การรับรองผลิตภัณฑ์ กระบวนการ และบริการระบบความปลอดภัยอาหารอีกด้วย โปรดติดตามในบทความครั้งต่อไปค่ะ
ที่มา: https://www.iso.org/contents/news/2022/06/safer-food-better-health-and-a-b.html
Related posts
Tags: FAO, food safety, ISO 22000, Novel food, SDGs, Standardization, Standards, Zero hunger
Recent Comments