บทความ MASCIInnoversity เรื่อง “เรื่องที่ต่อรองกันไม่ได้ “มาตรฐานความปลอดภัยของอาหาร” ตอนที่ 1” ได้กล่าวถึงความท้าทายเกี่ยวกับอาหารในปัจจุบันซึ่งเกี่ยวข้องกับประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะสุขภาพ ความปลอดภัย และการยุติความหิวโหยตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG2, Zero hunger) ซึ่งโลกกำลังมองหาอาหารใหม่ (Novel food) เพื่อที่ว่าในอนาคตโลกของเราจะได้มีอาหารที่มีคุณภาพและเพียงพอสำหรับทุกคน ในขณะเดียวกัน ก็จำเป็นต้องเตรียมมาตรการด้านความปลอดภัยของอาหารด้วย ซึ่งมาตรฐานไอเอสโอมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้อาหารมีคุณภาพ และปลอดภัย รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทานอาหารได้
สำหรับบทความในครั้งนี้ จะกล่าวถึงมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับอาหารจำนวน 2 ฉบับซึ่งไอเอสโอต้องการเน้นย้ำเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวันความปลอดภัยอาหารโลกในปี 2565 ดังต่อไปนี้
เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวันความปลอดภัยด้านอาหารโลกในปี 2565 นี้ (ตรงกับวันที่ 7 มิถุนายนของทุกปี) ไอเอสโอได้เผยแพร่มาตรฐาน ISO 22003 ฉบับปรับปรุงเกี่ยวกับระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหาร จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ISO 22003-1: 2022, Food Safety – Part 1, requirements for bodies providing audit and certification of food management system และ ISO 22003-2: 2022, Food Safety – Part 2, requirements for bodies providing evaluation and certification of products, processes and services, including an audit of the food safety system ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้คนทั่วโลกให้ความสำคัญกับการปรับปรุงความปลอดภัยของอาหาร ดังที่ไคลี ชีฮาน ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายปฏิบัติการของหน่วยงานรับรองระบบงานของออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (JAS-ANZ) และผู้ร่วมประชุมร่วมของคณะทำงานที่ปรับปรุง ISO 22003 ได้กล่าวไว้ว่า ขณะนี้ ไอเอสโอมีมาตรฐานจำนวน 2 มาตรฐานที่สนับสนุนองค์กรและอุตสาหกรรมอาหารให้บรรลุเป้าหมายในการรับรองความปลอดภัยของอาหาร นอกจากนี้ ยังช่วยให้หน่วยงานกำกับดูแลและผู้บริโภคมีความมั่นใจว่าหน่วยรับรองที่ดำเนินการรับรองความปลอดภัยของอาหารนั้นเป็นไปตามข้อกำหนดเกณฑ์มาตรฐานที่ให้ความมั่นใจในผลลัพธ์ด้านความปลอดภัยของอาหารด้วย
ทอร์เบน ลิสเตอร์ เคลเซน ประธานคณะกรรมการด้านเทคนิคที่พัฒนามาตรฐาน และผู้เชี่ยวชาญด้าน ISO 22000 และ ISO 22003 ก็ได้ตอกย้ำประเด็นด้านความปลอดภัยของอาหารเช่นกัน โดยเน้นว่าการทำงานร่วมกันของผู้เชี่ยวชาญมากกว่า 100 คนจากภาคอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนามาตรฐานใหม่ทั้ง 2 ฉบับนั้นรวมทั้งแผนการรับรองความปลอดภัยของอาหาร และหน่วยรับรองต่างๆ ที่ทำงานร่วมกัน ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจมากซึ่งเป็นการประสานความร่วมมือในการสร้างเครื่องมือสำหรับการประเมินความสอดคล้องด้านความปลอดภัยของอาหารที่มีประสิทธิผลเป็นอย่างดี
เขากล่าวต่อไปว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะได้รับประโยชน์อย่างแน่นอนจากมาตรฐานดังกล่าว ไม่ว่าเป็นธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร ลูกค้า ผู้บริโภค เจ้าของโครงการ ผู้ตรวจสอบความปลอดภัยด้านอาหาร หรือผู้ที่เกี่ยวข้องในการยอมรับแผนความปลอดภัยด้านอาหาร
ส่วน ไมค์ โยฮันส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2548-2552 (ค.ศ.2005-2009) ได้กล่าวไว้ว่าความปลอดภัยของอาหารเกี่ยวข้องกับทุกคนในห่วงโซ่อาหาร ไมค์ โยฮันส์เป็นบุตรชายของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ดังนั้น คำพูดของเขาจึงสะท้อนความจริงในเรื่องความปลอดภัยของอาหารได้เป็นอย่างดี ปัจจุบัน Codex Alimentarius ยังระบุด้วยว่าความปลอดภัยของอาหารเป็นเรื่องของทุกคน และการทำงานผ่านเครือข่ายของสมาชิกระดับประเทศนั้น ได้สร้างผ่านการพัฒนามาตรฐานไอเอสโอซึ่งได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกและแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดระดับโลกเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารในโลกเข้ามาไว้ด้วยกัน
“มาตรฐานความปลอดภัยของอาหาร” ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องที่ไม่สามารถต่อรองกันได้เท่านั้น แต่ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ไม่แน่นอนในเวลานี้ มาตรฐานสากลอย่าง ISO 22003 ยังช่วยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านความปลอดภัยของอาหารสามารถปรับตัวเข้ากับเหตุการณ์ที่ผันผวนและกระจัดกระจายอยู่ทั่วโลกด้วย มาตรฐานนี้ช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายเตรียมพร้อมได้ดีขึ้นทั้งในการจัดการกับโอกาสและความท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่ และยังช่วยให้มั่นใจว่าผู้บริโภคและธุรกิจสามารถตัดสินใจอย่างมีข้อมูลในการส่งเสริมคนทั่วโลกได้บริโภคอาหารที่คุณภาพ ปลอดภัย รวมทั้งมีสุขภาพที่ดีขึ้นและมีส่วนร่วมในความยั่งยืนมากขึ้น
ที่มา: 1. https://www.iso.org/contents/news/2022/06/safer-food-better-health-and-a-b.html
2. https://www.thansettakij.com/economy/527930
Related posts
Tags: Codex Alimentarius, food safety, ISO 22000, ISO 22003, Novel food, Standardization, Standards
ความเห็นล่าสุด