บทความ MASCIInnoversity เรื่อง “ฟาร์มอัจฉริยะเพื่อความมั่นคงทางอาหารในอนาคต ตอนที่ 1” ได้นำเสนอเรื่องราวของสมาร์ทฟาร์มหรือฟาร์มอัจฉริยะผ่านการเล่าเรื่องของแองเจลา ชูสเตอร์ ผู้ก่อตั้ง Schuster Consulting Group และผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารโครงการและฟาร์มอัจฉริยะ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าฟาร์มอัจฉริยะกำลังจะพลิกโฉมหน้าของอาหารในอนาคตให้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิงโดยมีส่วนทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จากที่ดินได้ดีขึ้น ช่วยเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น
ฟาร์มอัจฉริยะทำให้เกษตรกรสามารถตัดสินใจทำเกษตรกรรมได้บนพื้นฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างถูกต้องและทันเหตุการณ์ แต่เนื่องจากเทคโนโลยีฟาร์มอัจฉริยะมักจะมีราคาสูง คำถามคือการทำฟาร์มอัจฉริยะสามารถช่วยเกษตรกรส่วนใหญ่ของโลกได้อย่างไร มาติดตามคำตอบจากแองเจลาดังต่อไปนี้
เทคโนโลยีฟาร์มอัจฉริยะอย่างหุ่นยนต์ เซ็นเซอร์ และเครื่องจักรที่เชื่อมต่อ มีราคาสูง แต่เกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่ใช้เพียงเครื่องมือพื้นฐานบนที่ดินขนาดเล็กเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงเทคโนโลยีฟาร์มอัจฉริยะเพิ่มขึ้น ก็จะขึ้นอยู่กับขอบเขตและขนาดของเทคโนโลยีการทำฟาร์มอัจฉริยะที่ใช้ หากมองข้ามฮาร์ดแวร์ไปแล้วพิจารณาว่าข้อมูลและการแบ่งปันข้อมูลเป็นการทำฟาร์มอัจฉริยะ ก็จะมีแอปพลิเคชันที่เกษตรกรสามารถเข้าถึงได้และมีประสิทธิผลซึ่งเป็นประโยชน์มากสำหรับเกษตรกรที่ถือครองที่ดินรายย่อย
กรณีการพยากรณ์อากาศผ่านแอพสมาร์ทโฟนก็เช่นเดียวกัน มันสามารถส่งผลกระทบอย่างมากต่อการตัดสินใจของเกษตรกร ซึ่งอาจรวมถึงเรดาร์ตรวจสภาพอากาศและการเตือนเหตุการณ์รุนแรง เช่น การพยากรณ์อุทกภัยหรือพายุที่สามารถให้เจ้าของรายย่อยมีเวลาเพียงพอในการเคลื่อนย้ายฝูงสัตว์ไปยังที่สูง เพื่อปกป้องพืชผล หรือเพื่อเก็บเกี่ยวพืชผลให้ทันเวลา
ไม่ว่าจะเป็นการตอบสนองต่อพยากรณ์อากาศ การตลาดผลิตภัณฑ์ หรือการตอบสนองต่อการระบาดของโรค ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างของเทคโนโลยีการทำฟาร์มอัจฉริยะที่ช่วยให้เกษตรกรรายย่อยทำการเกษตรได้ดีขึ้น ยังมีอีกโอกาสหนึ่งสำหรับผู้ถือรายย่อยในการเข้าถึงการทำฟาร์มอัจฉริยะคือการลงทุนร่วมกันในเทคโนโลยี โดยอาจได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ซัพพลายเออร์ของเทคโนโลยีการทำฟาร์มอัจฉริยะอาจเสนอทางเลือกอื่นเพื่อทำให้เทคโนโลยีสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น เช่น การจัดการแบบจ่ายตามการใช้งานหรือการเช่าอุปกรณ์ เป็นต้น
แต่ถ้ามองในมุมของผู้บริโภค การใช้งานฟาร์มอัจฉริยะจะได้ประโยชน์อะไร แองเจลากล่าวว่าผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องเห็นแอปพลิเคชันสมาร์ทฟาร์มเสมอไป แต่จะเห็นความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่ซื้อกับสถานที่และวิธีการผลิต
ฟาร์มอัจฉริยะมีบทบาทอย่างมีนัยสำคัญในการตรวจสอบการผลิตที่ผู้บริโภคกำลังเผชิญปัญหาอยู่รวมทั้งการอ้างสิทธิ์ในแหล่งที่มา (Provenance claims) ซึ่งเราจะพบมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะผู้บริโภคตัดสินใจซื้อตามความชอบสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีความปลอดภัย ยั่งยืน คำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ และการอ้างสิทธิ์ในประเทศต้นกำเนิด
การอ้างสิทธิ์ทั้งหมดเหล่านี้จำเป็นต้องมีการตรวจสอบย้อนกลับเนื่องจากหลักการและเทคโนโลยีฟาร์มอัจฉริยะสนับสนุนระบบการตรวจสอบย้อนกลับเป็นส่วนใหญ่ และแอปพลิเคชันฟาร์มอัจฉริยะยังมีส่วนช่วยในการตรวจสอบการอ้างสิทธิ์เหล่านี้ด้วย
แองเจลากล่าวถึงเกษตรกรรมในปัจจุบันว่า อยู่ภายใต้แรงกดดันที่เพิ่มขึ้นในการผลิตอาหารในลักษณะที่เป็นมิตรต่อสภาพอากาศและเพื่อผู้คนทั่วโลกมากขึ้น ซึ่งแสดงว่าเกษตรกรรมอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างแท้จริงในการปรับปรุงประสิทธิภาพและต้องผลิตมากขึ้นโดยใช้ทรัพยากรต่าง ๆ น้อยลง
การทำฟาร์มอัจฉริยะจึงมีศักยภาพในการช่วยเหลือเกษตรกร 3 ประการดังนี้ ประการแรก ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประโยชน์สูงสุดและมีการผลิตอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ ประการที่สอง ทำให้เกิดการเชื่อมต่อตลอดห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด ประการที่สาม ช่วยในด้านการดำเนินการ ติดตามและรายงานกลยุทธ์อย่างเป้าหมายหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งทั้งหมดนี้ยังไม่เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่เพราะเราขาดเทคโนโลยี แต่เป็นเพราะขาดการประสานงานและการทำงานร่วมกันในการผสานรวมเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาเพื่ออำนวยความสะดวกในการถ่ายโอนข้อมูล การกำหนดมาตรฐานของเทคโนโลยีดิจิทัล ตั้งแต่การเก็บรวบรวมข้อมูล รูปแบบ และอินเทอร์เฟซ ไปจนถึงการเพิ่มประสิทธิภาพและการเชื่อมต่อระหว่างห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด
ไอเอเอสโอตระหนักเป็นอย่างดีถึงความท้าทายดังกล่าว จึงได้สร้างกลุ่มที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์เกี่ยวกับการทำฟาร์มอัจฉริยะ (SAG-SF) ขึ้นมา งานสำคัญอันดับแรกของกลุ่มที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์นี้คือ แผนงานมาตรฐานที่จะกำหนดทิศทางสำหรับมาตรฐานสากลในการทำฟาร์มอัจฉริยะในอีกหลายปีข้างหน้า และทำให้การทำฟาร์มอัจฉริยะสามารถส่งมอบศักยภาพอันมหาศาลได้ และทั้งหมดนี้คือเรื่องราวที่แองเจลา ชูสเตอร์ได้เล่าสู่กันฟัง ทำให้เราเข้าใจเรื่องของฟาร์มอัจฉริยะกับการมาตรฐานมากขึ้น
สุดท้ายนี้ ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่ามาตรฐานสากลมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนเกษตรกรรมฟาร์มอัจฉริยะรวมทั้งการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ ปัจจุบัน ไอเอสโอมีคณะกรรมการวิชาการที่พัฒนามาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับฟาร์มอัจฉริยะมากกว่า 20 คณะซึ่งได้พัฒนามาตรฐานไปแล้วเป็นจำนวนมาก
ในอนาคต ฟาร์มอัจฉริยะจะทำหน้าที่เลี้ยงดูผู้คนทั่วโลกให้มีอาหารที่มีคุณภาพและเพียงพอ และมีส่วนในการสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารได้เป็นอย่างดี
ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2799.html
Related posts
Tags: ISO, Precision Agriculture, Provenance claims, Smart agriculture, Smart farm, Standardization, Standards, Supply Chain
Recent Comments