อาชีพนักดับเพลิงเป็นหนึ่งในอาชีพที่เด็กๆ หลงใหลและรู้จักกันดีในฐานะที่เป็นฮีโร่ในดวงใจ สำหรับคนหนุ่มสาวหลายคน อาชีพนักดับเพลิงเป็นอาชีพที่ต้องตาต้องใจและดึงดูดให้พวกเขาก้าวสู่เส้นทางของมืออาชีพ และเมื่อพวกเขาได้ก้าวสู่อาชีพของการเป็นนักดับเพลิงแล้ว สิ่งที่พวกเขาต้องทุ่มเทนั้นคือการผจญกับเปลวเพลิงที่ร้อนแรง แต่อันตรายที่สุดอย่างหนึ่งของงานดับเพลิงนั้นไม่ใช่ตัวของไฟ แต่เป็นสารต่าง ๆ ที่อาจเล็ดลอดเข้าไปในชุดป้องกันที่พวกเขาสวมใส่ในการปฏิบัติงานนั่นเอง จากรายงานของ Firefighter Cancer Support Network มีข้อมูลระบุว่านักผจญเพลิงมีแนวโน้มที่จะเป็นมะเร็งมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากการสัมผัสกับสารก่อมะเร็ง
นักผจญเพลิงกับสารก่อมะเร็ง
นักดับเพลิงอาจสัมผัสกับสารเคมีโดยการหายใจเข้าไป โดนผิวหนัง หรือกลืนกินเข้าไป หากอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล หรือ PPE (Personal Protective Equipment) ไม่ได้รับการทำความสะอาดอย่างเพียงพอหลังจากผจญเพลิง สารพิษที่เป็นอันตรายก็อาจปนเปื้อนยานพาหนะและสถานีดับเพลิงได้ และในท้ายที่สุดก็จะเป็นอันตรายต่อผู้คนที่สวมใส่อุปกรณ์นั้น
เดวิด แมธธิวส์ ผู้อำนวยการ Fire and Industrial PPE Limited กล่าวว่าสารเคมีที่ก่อให้เกิดมะเร็งซึ่งยึดติดกับอุปกรณ์บังเกอร์ของนักดับเพลิงได้รับการยอมรับมากขึ้นว่าเป็นภัยคุกคามใหญ่ที่สุดต่อสุขภาพและความปลอดภัยของนักดับเพลิง โดยเฉพาะควันไฟและฝุ่นละอองเป็นความเสี่ยงมะเร็งอย่างมหาศาลสำหรับผู้ปฏิบัติงานเหล่านั้น และความตระหนักในปัญหานี้ก็เพิ่มมากขึ้นด้วย
เขากล่าวต่อไปว่า เมื่อนักดับเพลิงนำอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล (PPE) กลับไปที่บ้าน อนุภาคที่ติดอยู่บนอุปกรณ์เหล่านั้นสามารถแพร่กระจายไปยังรถยนต์ รถขนส่งสาธารณะ บ้าน และเด็กๆ ได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการทำความสะอาดอุปกรณ์ PPE อย่างเหมาะสมและจริงจัง ซึ่งในการการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เข้มงวดเกี่ยวกับการขจัดการปนเปื้อนของอุปกรณ์ผลิตภัณฑ์อย่างเหมาะสม จะทำให้สามารถลดปริมาณการสัมผัสที่นักดับเพลิงต้องเผชิญในเวลาทำงานได้เป็นอย่างมาก
แนะนำมาตรฐานใหม่ ISO 23616 ช่วยชีวิตนักผจญเพลิง
หลายคนคงยังจำกันได้ว่า ในช่วงเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ COVID-19 เรามักจะมองเห็นคนที่สวมใส่ชุด PPE อยู่บนรถพยาบาลหรือตามโรงพยาบาลอยู่บ่อยๆ ซึ่งทำให้คนรู้จักอุปกรณ์ PPE มากขึ้น ในเวลานั้น แม้แต่นักดับเพลิงเองก็ต้องศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำความสะอาดซึ่งเน้นที่ความรับผิดชอบส่วนบุคคล เช่น ไม่เดินทางกลับไปยังสถานีดับเพลิงด้วยอุปกรณ์ PPE ที่ไม่สะอาด แต่ให้ถอดเสื้อผ้าที่ไซต์งาน ใส่เสื้อผ้าในถุงป้องกันที่กำหนดเป็นพิเศษ และซักและดูแลรักษาให้ห่างจากไซต์งานอย่างเหมาะสม
ล่าสุด ไอเอสโอได้เผยแพร่มาตรฐานใหม่ คือ ISO 23616, Cleaning, inspection and repair of firefighters’ personal protective equipment (PPE) ซึ่งให้แนวทางในการเลือก การดูแล และบำรุงรักษาชุดป้องกันที่เหมาะสมสำหรับนักผจญเพลิง ซึ่งรวมถึงการทำความสะอาด การกำจัดสิ่งปนเปื้อนอย่างมีประสิทธิภาพ และการซ่อมแซม PPE
ไอเอสโอบอกว่า “อย่าทำสิ่งนี้ที่บ้าน”
อุปกรณ์ PPE ไม่เพียงแต่ครอบคลุมอุปกรณ์ป้องกันศีรษะ หน้ากากป้องกัน ถุงมือ หรือรองเท้าบูทเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเสื้อผ้าที่นักดับเพลิงสวมใส่ด้วย ถ้าเช่นนั้นแล้ว จะมีคนนำชุดอุปกรณ์ PPE กลับไปซักที่บ้านหรือไม่ ต้องบอกว่าเครื่องซักผ้า อุณหภูมิของน้ำ รอบการทำความสะอาด และสารซักฟอกที่มีอยู่จำนวนมากสามารถส่งผลกระทบต่อความทนทานและความปลอดภัยของอุปกรณ์ PPE ได้อย่างมาก และสามารถปนเปื้อนเสื้อผ้าอื่นๆ ที่ถูกซักไปพร้อมกันด้วย ดังนั้น ไอเอสโอจึงขอไม่ให้ทำสิ่งนี้ที่บ้าน โดยที่มาตรฐานไอเอสโอฉบับนี้ยังครอบคลุมถึงการซ่อมแซมอุปกรณ์ PPE สิ่งที่อาจดูเหมือนการซ่อมแซมง่ายๆ อย่างการเย็บเทปสะท้อนแสงหลวมๆ กลับเข้าไปในอุปกรณ์ป้องกันที่บ้านเอง แต่มันอาจทำให้ความปลอดภัยของเสื้อผ้าลดลงอย่างมาก การเย็บซึ่งเจาะเข้าไปที่เนื้อผ้า ทำให้ไม่ปลอดภัย แต่อาจทำให้ด้ายติดไฟเมื่อนำไปใช้งาน ดังนั้น โดยพื้นฐานแล้วไม่ควรนำอุปกรณ์ PPE กลับบ้าน แต่ควรได้รับการดูแลรักษาโดยพนักงานทำความสะอาดมืออาชีพที่สถานีดับเพลิง
เดวิด แมธธิวส์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อกลับมาที่สถานีดับเพลิงหลังจากการผจญเพลิงได้สิ้นสุดลงแล้ว ปัญหาในการทำความสะอาดมักเกิดตามมาภายหลังและไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม แม้แต่ช่างซ่อมและช่างทำความสะอาดก็ต้องการการฝึกอบรมและการรับรองเพื่อให้แน่ใจว่าอุปกรณ์ PPE ทั้งหมดเป็นไปตามมาตรฐาน
รัสเซล เชพเพิร์ด ประธานกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่พัฒนามาตรฐานดังกล่าว อธิบายว่าอุปกรณ์ PPE ครอบคลุมทุกอย่างที่นักดับเพลิงใช้ตั้งแต่หัวจรดเท้า สิ่งของแต่ละชิ้นมีจุดประสงค์ที่สำคัญแต่แตกต่างกัน ซึ่งทั้งหมดนั้นจำเป็นต้องทำความสะอาดและบำรุงรักษาอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่เกี่ยวข้องที่เราอาจนึกไม่ถึงด้วย เช่น เรื่องของต้นทุนกับความเสี่ยงซึ่งจะกล่าวถึงในบทความครั้งต่อไปค่ะ
ที่มา: https://www.iso.org/contents/news/2022/07/keeping-our-firefighters-safe.html
Related posts
Tags: Cancer, Carcinogens, Firefighters, Health, ISO, ISO 23616, PPE, safety, Standardization
ความเห็นล่าสุด