ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นความก้าวหน้าที่หลากหลายสำหรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ แต่ก็ดูเหมือนว่ายังไม่เพียงพอที่จะก้าวสู่เป้าหมายภายในเวลาที่กำหนด บัดนี้ ถึงเวลาแล้วที่โลกจะต้องร่วมมือกันยกระดับมาตรฐานสากลเพื่อนำแนวทางตามมาตรฐานสากลไปปฏิบัติให้ประสบความสำเร็จ
ปี 2565 (ค.ศ.2022) เป็นปีที่จะตัดสินว่าโลกของเราจะสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2573 (ค.ศ.2030) ได้หรือไม่ จากรายงานความคืบหน้าขององค์การสหประชาชาติที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้สำหรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ (SGDs) อธิบายถึงความก้าวหน้าที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่เกิดการระบาดใหญ่ของ COVID-19 และตามมาด้วยความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้เกิดการเบี่ยงเบนความสนใจไปจากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งอันที่จริงแล้ว สังคมโลกต้องกลับมาอยู่ในเส้นทางเดิมคือความมุ่งมั่นสู่เป้าหมาย SGDs ดังเช่นที่อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติได้กล่าวไว้ว่า ปัจจุบัน เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมีความสำคัญมากกว่าที่เคยเป็นมา ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องรักษาความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน เศรษฐกิจ สังคม และโลกไว้ให้ได้
โดยทั่วไป “ดัชนี” เป็นเครื่องมือที่มีคุณค่าสำหรับการติดตามเฝ้าระวัง สิ่งนี้มีความสำคัญยิ่งสำหรับการติดตามความคืบหน้า ดังนั้น องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) จึงได้เปิดตัวดัชนีโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (QI4SD: Quality Infrastructure for Sustainable Development) ซึ่งออกแบบมาเพื่อวัดการมีส่วนร่วมของโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพระดับชาติในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) โดยได้เผยแพร่ QI4SD ครั้งแรกเนื่องในโอกาสวันรับรองระบบงานโลกเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565
ตัวชี้วัดใน QI4SD ได้รับการจัดประเภทภายใต้หัวข้อของความเจริญรุ่งเรือง (Prosperity) ผู้คน (People) และโลก (Planet) หรือที่เรียกว่า the three Ps เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
UNIDO เรียก QI4SD นี้ว่าเป็นการรีบูตโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ และที่สำคัญกว่านั้นคือการเพิ่มบทบาทให้กับโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพมีในการบรรลุ SDG ขององค์การสหประชาชาติซึ่งไอเอสโอเป็นพันธมิตรหลักในการพัฒนา QI4SD เนื่องจากไอเอสโอและประเทศสมาชิกสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพระดับประเทศด้วยการพัฒนามาตรฐานและมีกลไกการประเมินความสอดคล้อง (Conformity assessment)
เราต้องยอมรับว่าปัญหาระดับโลกที่เร่งด่วนที่สุดประการหนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไอเอสโอจึงต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านสภาพอากาศโดยเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 ไอเอสโอได้ประสานคำมั่นสัญญาและการสนับสนุนผ่านปฏิญญาลอนดอนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายในปี พ.ศ. 2593 โดยใช้มาตรฐานสากลเป็นเครื่องมือที่สำคัญ
ประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะมีการสนับสนุนไอเอสโอในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างไร และการซื้อขายการปล่อยมลพิษเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้หรือไม่ โปรดติดตามในบทความตอนต่อไปค่ะ
ที่มา: https://www.iso.org/contents/news/2022/07/serious-about-sustainability.html
Related posts
Tags: Climate Change, Conformity Assessment, COVID-19, ISO, QI4SD, SDGs, Standardization, UNIDO
Recent Comments