บทความ MASCIInnoversity เรื่อง “2565 ปีตัดสินชะตา “เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ตอนที่ 1” ได้กล่าวถึงความสำคัญของความร่วมมือในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยกล่าวว่าปี 2565 เป็นปีที่ตัดสินว่าโลกของเราจะสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในปี 2573 หรือไม่ โลกของเราไม่มีเวลาเหลืออีกต่อไป หลังจากที่การระบาดใหญ่ของ COVID-19 และความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ได้เบี่ยงเบนความสนใจไปจากเป้าหมาย SDGs แล้ว เราต้องกลับมาเร่งดำเนินการตั้งแต่ตอนนี้เพื่อก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเส้นตายที่กำหนดไว้ร่วมกัน
สำหรับบทความในครั้งนี้ จะกล่าวถึงตัวอย่างที่ประเทศสมาชิกไอเอสโอให้การสนับสนุนไอเอสโอแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการซื้อขายการปล่อยมลพิษเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังต่อไปนี้
การสนับสนุนจากสมาชิกไอเอสโอนั้นเป็นเอกฉันท์ เช่นที่สมาชิกของไอเอสโอ SCC สถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศแคนาดาได้ให้การสนับสนุนไอเอสโอ และสนับสนุนปฏิญญาลอนดอนในขณะที่สร้างอนาคตที่ยั่งยืนผ่านการกำหนดมาตรฐานด้วย
ส่วนดาวิด ฟาตชาร์ หัวหน้าภาคส่วนสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลของ BSI สถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นสมาชิกของไอเอสโอ ได้กล่าวถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่าเป็นสถานการณ์ที่ร้ายแรงมาก แต่เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงโชคชะตาที่เลวร้ายนี้ รัฐบาล องค์กร และธุรกิจองค์กรต่างๆ สามารถรวมพลังเพื่อการหยุดปัญหาและทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศย้อนกลับไปสู่เส้นทางที่ดีเช่นที่เคยผ่านมาในอดีต ซึ่งปฏิญญาลอนดอนเกิดขึ้นเพื่อช่วยให้ทำเช่นนั้นได้ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในทิศทางที่ถูกต้อง
ดูเผินๆ อาจเป็นการกล่าวอ้างที่ใหญ่โตเกินไป แต่มาตรฐานไอเอสโอได้มีส่วนสำคัญต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์แล้ว ในขณะที่สื่อมักรายงานว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นทั่วโลกอย่างไร แต่ในบางส่วนของโลก ก๊าซเรือนกระจกกลับลดลงซึ่งไอเอสโอมีส่วนสำคัญในการลดจำนวนดังกล่าว ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปเป็นพลังงานสะอาดด้วยความช่วยเหลือของมาตรฐานด้านพลังงานสะอาดและการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งการซื้อขายการปล่อยมลพิษเป็นหนึ่งในเรื่องราวความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้จากมาตรฐานไอเอสโอ
เรื่องราวความสำเร็จที่เรียบง่ายของ SDG 17
แนวคิดเบื้องหลังการซื้อขายการปล่อยมลพิษนั้นเรียบง่าย กล่าวคือ อุตสาหกรรมที่มีการควบคุมมีโควตาค่าเผื่อการปล่อยมลพิษเมื่อต้นปีตามที่กำหนด และสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ก็ต่อเมื่อมีค่าเผื่อเพียงพอเท่านั้น อุตสาหกรรมสามารถซื้อ ขาย หรืออนุญาตการปล่อยมลพิษจากธนาคารได้ ขึ้นอยู่กับว่ามีน้อยเกินไปหรือมากเกินไปในปีการซื้อขายใดๆ ในขณะที่จำนวนเงินรวมของค่าเผื่อลดลงทุกปี ในทางกลับกัน การปล่อยมลพิษจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไปซึ่งเรียกว่าโครงการ cap-and-trade (CAT)
“มาตรฐานไอเอสโอ” เพื่อการปล่อยก๊าซ GHG สุทธิเป็นศูนย์
ประมาณ 20 ปีที่แล้ว ประเทศเดนมาร์กและประเทศสหราชอาณาจักรได้ทดสอบโครงการนำร่องของ CAT สำหรับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งต่อมาถูกแทนที่โดยโครงการในสหภาพยุโรปในปี 2548 (ค.ศ.2005) แผนการทั้งหมดเหล่านี้เกิดขึ้นจากบทบัญญัติในพิธีสารเกียวโตเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ระบบการซื้อขายการปล่อยมลพิษของสหภาพยุโรป (EU ETS) ดำเนินการเป็นเฟส (ระยะ) และนำไปใช้กับอุตสาหกรรมและการบินที่ใช้พลังงานมากหลายพันแห่ง โครงการ CAT นี้ครอบคลุม 45% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหภาพยุโรป มีเป้าหมายสำหรับแต่ละเฟส โดยมีเป้าหมายในปี 2020 ที่ 21% โดยใช้เกณฑ์การปล่อยมลพิษในปี 2548 ระยะที่ 4 ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2564 ถึง พ.ศ. 2573 เดิมมีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 43% ในขณะที่สหภาพยุโรปได้เพิ่มเป้าหมายนี้เป็น 55% เพื่อปรับเป้าหมายใหม่ในปี 2573 และในปีต่อๆ ไป และสร้างความมั่นใจให้เกิด “ศูนย์สุทธิ”ภายในปี 2593
เมื่อปี 2563 (ค.ศ.2020) EU ETS ส่งผลดีเกินเป้าหมาย และมีส่วนสำคัญในการลดการปล่อย GHG ของสหภาพยุโรป ตัวอย่างเช่น นักวิจัยรายงานเมื่อปี 2563 (ค.ศ.2020) ว่า EU ETS ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าหนึ่งพันล้านตันในช่วงปี 2551 (ค.ศ.2008) ถึง 2559 (ค.ศ.2016) ซึ่งเทียบเท่ากับ 3.8% ของการปล่อย GHG ทั่วทั้งสหภาพยุโรป ในระยะยาว การปล่อย GHG ในสหภาพยุโรปลดลง 31% จากปี 2553 (ค.ศ.1990) ถึง 2563 ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายปี 2563 ของสหภาพยุโรปถึง 11%
มาตรฐานไอเอสโอมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการลดลงเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น มาตรฐานทำให้มั่นใจในคุณภาพและความสม่ำเสมอของการติดตาม การรายงาน และการทวนสอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และระบุไว้ในกฎระเบียบของสหภาพยุโรปสำหรับกิจกรรมเหล่านี้ นอกจากนี้ ข้อกำหนดของ EU ETS สำหรับการรับรองและการทวนสอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยังระบุมาตรฐานไอเอสโอสำหรับการตรวจสอบการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการรับรองผู้ทวนสอบ พร้อมทั้งแนะนำมาตรฐานสำหรับระบบการจัดการ
ประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้เห็นความสำเร็จในการใช้มาตรฐานไอเอสโอ และการซื้อขายการปล่อยมลพิษเพื่อลดการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก และกำลังดำเนินการตามความเหมาะสม ตัวอย่างเช่น เมื่อปี 2553 สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศรายงานว่ามีแผนการซื้อขายการปล่อยมลพิษ 23 แห่งทั่วโลก คิดเป็น 9% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ในส่วนที่เกี่ยวข้องนี้ รายงานสถานะการซื้อขายทั่วโลก ปี 2020 ของ International Carbon Action Partnership ได้อ้างอิงถึงมาตรฐานไอเอสโอมากมาย ทั้งโดยชัดแจ้งและโดยปริยาย ซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้
ไนเจล ท็อปปิ้ง ผู้นำระดับสูงในการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งองค์การสหประชาชาติ ได้กล่าวว่า ปฏิญญาลอนดอนเป็นพันธกิจระดับระหว่างประเทศที่สำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจและองค์กรทั่วโลกสามารถเร่งการดำเนินการด้านการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศโดยใช้มาตรฐานที่เชื่อถือได้ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายศูนย์สุทธิ
เราหวังว่า ปี 2565 จะเป็นปีที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกร่วมกันลงมือแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเข้มแข็งและจริงจังเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป
ที่มา: https://www.iso.org/contents/news/2022/07/serious-about-sustainability.html
Related posts
Tags: BSI, CAT, Climate action champion, Climate Change, EU ETS, GHG, ISO, SCC, Standardization
ความเห็นล่าสุด