ปัจจุบัน เทคโนโลยีสารสนเทศมีบทบาท และถูกหลอมรวมเข้ากับกิจวัตรประจำวันของคนเรามากขึ้น ดังนั้น จึงทำให้ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีมีเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งความก้าวหน้าครั้งใหม่ของเทคโนโลยีต่าง ๆ สามารถก่อให้เกิดความท้าทายทางจริยธรรมที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ เทคโนโลยีชีวภาพ หรือเทคโนโลยีการลดคาร์บอน
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาพร้อมกับการใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นของเรา ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงระดับมหภาค (เช่น การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ของโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ) และในระดับจุลภาค (เช่น ความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลและความเสี่ยงของบุคคลต่อการจัดการออนไลน์) ความเสี่ยงดังกล่าวคาดได้ว่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
เมื่อเกิดการดัสรัพท์ของเทคโนโลยี แต่เราก็ยอมรับ และยอมแลกกับอุปสรรคบางอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ แล้วมนุษย์เราจะมีความตระหนักถึงความเสี่ยงและทำการบรรเทาความเสี่ยงนั้นได้ดีเพียงใด
เทคโนโลยีต้องมีจริยธรรมหรือไม่
ปัจจุบัน รัฐบาลหลายแห่งทั่วโลกหันไปให้ความสนใจเรื่องของจริยธรรมของเทคโนโลยีและผลกระทบของเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อสังคมในอนาคต
จริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ปัญญาประดิษฐ์สำหรับยานยนต์อัตโนมัตินั้น การตัดสินใจอัตโนมัติ และการโต้ตอบกับผู้บริโภคมักเป็นหัวข้อที่ถูกหยิบยกขึ้นมา และผู้คนก็คาดหวังมากขึ้นให้รัฐบาลทั่วโลกจัดการกับความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงทางดิจิทัล การบิดเบือนข้อมูล การต่อต้านการผูกขาด และการแทรกแซงจากต่างประเทศ
เทคโนโลยีเอไอแห่งอนาคตจะต้องได้รับประโยชน์จาก “กรอบทางเทคนิค กฎหมาย และจริยธรรม” ที่มีประสิทธิภาพ ตามที่กระทรวงกลาโหมของสหราชอาณาจักรระบุ คำถามด้านจริยธรรมอาจมีความสำคัญที่สุดในเอไอด้านการทหาร และการใช้เทคโนโลยีในความขัดแย้ง แม้ว่าเครื่องจักรจะทำงานโดยไม่ตระหนักรู้ถึงความทุกข์ทรมานของมนุษย์ แต่ก็อาจคำนวณต้นทุนของความขัดแย้งได้แม่นยำยิ่งขึ้น ความซับซ้อนอาจเกิดขึ้นได้หากประเทศต่างๆ พัฒนากรอบการทำงานด้านจริยธรรมและกฎหมายที่ขัดแย้งกันสำหรับเอไอทั้งในบริบททางการทหารและในวงกว้าง
ปัญหาด้านจริยธรรมที่สำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบเอไอนั้นเกี่ยวกับอคติที่ไม่ต้องการ การดักฟัง และความปลอดภัย และอุตสาหกรรมต่าง ๆ กำลังง่วนอยู่กับการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ซึ่งคณะกรรมการ ISO/IEC ที่ทำงานเกี่ยวกับเอไอ (ISO/IEC JTC 1/SC 42) ได้รวบรวมกรณีการใช้งานเอไอ จำนวน 132 กรณี รวมถึงการพิจารณาด้านจริยธรรมและข้อกังวลทางสังคมสำหรับแต่ละกรณีไว้ด้วย (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมใน ISO/IEC TR 24030:2021 Information technology – Artificial intelligence (AI) – Use cases)
หากพิจารณาถึงจริยธรรมในการใช้เอไอแล้ว การพิจารณาจริยธรรมของการไม่ใช้เอไอก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ความเสี่ยงของการใช้เอไอมักถูกกล่าวถึง แต่คำถามหนึ่งที่มักไม่ค่อยได้รับคำตอบคือ เมื่อใดที่การไม่ใช้เอไอแล้วจะถือว่าผิดจรรยาบรรณ ตัวอย่างเช่น หากเทคโนโลยีเอไอสามารถทำนายการระบาดใหญ่ครั้งต่อไปหรือเร่งการพัฒนาวัคซีนได้ เราอาจโต้แย้งว่าการไม่ใช้เทคโนโลยีนี้ถือเป็นการผิดจรรยาบรรณ มีตัวอย่างมากมายในลักษณะนี้ เช่น คำถามทั่วไปคือ หากยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติที่เปิดใช้งานเอไอต้องชนใครสักคน ควรจะชนใคร แต่ข้อสงสัยคือคำถามนี้เป็นคำถามที่ถูกต้องหรือไม่ถ้าการใช้ระบบขับขี่อัตโนมัติที่เปิดใช้งานเอไอย่างเหมาะสมสามารถช่วยชีวิตคนได้โดยการลดอุบัติเหตุโดยรวม
แน่นอนว่า เอไอไม่ใช่เทคโนโลยีเกิดใหม่เพียงอย่างเดียวที่อาจก่อให้เกิดความท้าทายด้านจริยธรรมที่สำคัญในอนาคต แต่ยังมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชีวภาพซึ่งสามารถนำไปสู่การสร้างรูปแบบชีวิตสังเคราะห์หรือมนุษย์ที่เสริมด้วยความสามารถทางกายภาพหรือทางปัญญาที่เพิ่มขึ้นได้
วิธีการควบคุมเทคโนโลยีที่สามารถเปลี่ยนแปลงความสามารถของมนุษย์โดยพื้นฐานหรือเปลี่ยนกลุ่มยีนของมนุษย์ อาจกระตุ้นให้เกิดการต่อสู้อย่างดุเดือดในระดับประเทศและระดับระหว่างประเทศในทศวรรษที่กำลังจะมาถึง (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง “การแก้ไขยีน”) แม้แต่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการรักษาโรคก็อาจก่อให้เกิดการโต้เถียงทางการเมืองเกี่ยวกับจริยธรรมในการเข้าถึงได้เช่นกัน (เนื่องจากการรักษามีแนวโน้มที่จะใช้ได้เฉพาะกับผู้ที่มีกำลังทรัพย์พอที่จะจ่ายได้) ซึ่งเรื่องเหล่านี้ยังไม่รวมถึงการถกเถียงกันอย่างมีจริยธรรมอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับพืชและอาหารดัดแปลงพันธุกรรม และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากระบบนิเวศหรือสุขภาพ
ในขณะที่วิกฤตสภาพภูมิอากาศมีความเร่งด่วนมากขึ้น ในไม่ช้าเราอาจเผชิญกับปัญหาด้านจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีใหม่ในการกำจัดคาร์บอน ในขณะที่เทคโนโลยีการกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการจัดการรังสีแสงอาทิตย์ (geoengineering) ถูกมองว่าไม่เป็นที่ยอมรับทางศีลธรรมมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ขณะนี้ กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นในฐานะที่เป็นวิธีแก้ปัญหาที่เป็นไปได้ของทางเลือกสุดท้าย (Ethics of Geoengineering)
ความกังวลด้านจริยธรรมมีตั้งแต่ความยุติธรรมทางสังคมหรือการกระจายอย่างเป็นธรรม (Distributive Justice) สำหรับคนรุ่นอนาคตหรือประชากรกลุ่มเปราะบาง (ผลกระทบเชิงลบของการดำเนินการทางภูมิศาสตร์อาจมีสัดส่วนที่ไม่เหมาะสมในบางประเทศหรือในบางกลุ่มประชากร เช่น การเพิ่มขึ้นของภัยแล้งในแอฟริกาและเอเชีย) ไปจนถึงคำถามเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม (ใครควรตัดสินใจใช้เทคโนโลยีเหล่านี้และใช้อย่างไร)
นอกเหนือจากความเสี่ยงในเรื่องจริยธรรมของเทคโนโลยี ยังมีความเสี่ยงของเทคโนโลยีอีก 2 อย่าง ได้แก่ ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล และช่องว่างทางไซเบอร์ ซึ่งจะกล่าวถึงในบทความครั้งต่อไปค่ะ
ที่มา: https://www.iso.org/foresight/tech-risks
Related posts
Tags: AI, Biotechnology, Cyber-vulnerability, Distributive justice, Ethics of Technology, Gene editing, Geoengineering, ISO, IT, Standardization, Tech risks
Recent Comments