ส่วนใหญ่ การเป็นผู้ประกอบการเกี่ยวข้องกับการนำแนวคิดหรือไอเดียไปทำให้เป็นจริง และในระหว่างทาง ต้องเผชิญกับความท้าทายอยู่เสมอ แต่ก็ยังคงสามารถแข่งขันได้ และเพิ่มผลกำไรได้ในที่สุด การเป็นผู้ประกอบการต้องทำงานหนัก สามารถเอื้อมถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ และเป็นที่รักของลูกค้าเพื่อที่จะอยู่รอดได้ในระยะยาว
ความสำเร็จของผู้ประกอบการเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางระยะไกล ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จล้วนแล้วแต่ต้องผ่านความล้มเหลวมาหลายครั้ง
แดเนีย แมงเกน่า นักเขียน นักจัดรายการวิทยุ วิทยากร และโค้ชชื่อดังระดับโลก ได้นำเสนอคุณสมบัติที่สำคัญ 5 ประการซึ่งผู้ประกอบการต้องมีเพื่อก้าวสู่เส้นทางความสำเร็จ ดังต่อไปนี้
1. เต็มใจที่จะล้มเหลว (Willing to fail) ความกลัวของชนเผ่าของมนุษย์ในอดีตเป็นความกลัวที่จะถูกขับไล่ออกจากกลุ่มเพราะพวกเขาอยู่รอดได้ด้วยการรวมเอาทรัพยากรและแรงงานเข้าไว้ด้วยกัน แต่ความกลัวของมนุษย์ในปัจจุบันเป็นเพียงการขาดการยอมรับนับถืออันเปรียบเสมือนความตายทางสังคมที่จะถูกขับออกจากกลุ่มเพราะขาดคุณค่าและประโยชน์ แต่ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการ เราต้องไม่กลัวเรื่องแบบนั้น สถิติจากสำนักงานสถิติแรงงานของ Fundera ระบุว่าธุรกิจขนาดเล็กประสบความล้มเหลวภายในปีแรกที่ดำเนินการถึง 20% การลงทุนส่วนใหญ่ไม่ได้ประสบความสำเร็จตั้งแต่เริ่มต้นอยู่แล้ว ดังนั้น เราต้องเต็มใจที่จะล้มเหลว และเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องพยายามเรียนรู้อย่างเต็มที่จากสิ่งที่ทำแล้วไม่ได้ผล และยอมรับว่ามันคือส่วนหนึ่งของเส้นทางสู่ความสำเร็จ
2. คิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) การคิดเชิงวิพากษ์มีทำนองเดียวกับข้อแรกในเรื่องความไม่กลัวที่จะล้มเหลว คือต้องหลุดพ้นจากความกลัวที่จะออกจากชนเผ่าหรือกลุ่มเดิมๆ สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องของความแตกแยกแต่เป็นการใช้ความคิดเชิงวิพากษ์อย่างอิสระซึ่งเป็นความสามารถในการประเมินข้อมูล
ผู้ประกอบการต้องมีความชำนาญในการประเมินข้อมูล ผู้ประกอบการมักมีสัญชาติญาณที่ไว้ใจได้จากการมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน สามารถนำทางไปสู่เป้าหมายได้หลังจากที่ตัดสินใจแล้วลงมือทำทันที
3. มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน (Clarity of Vision) การขาดความเชื่อมโยงกับผลลัพธ์เป็นเรื่องที่ทำให้คนส่วนใหญ่สะดุดลงเมื่อเริ่มทำสิ่งใหม่ ๆ ส่วนใหญ่แล้ว เป็นเพราะไม่ได้สร้างอารมณ์ที่ผูกพันมากพอที่จะบรรลุสิ่งที่ต้องการ ซึ่งหมายความว่าขาดการเชื่อมโยงของสิ่งที่กำลังทำและผลลัพธ์ที่ต้องการ ยกตัวอย่างสถานการณ์ของการผัดวันประกันพรุ่ง ซึ่งเกิดจากจิตใต้สำนึกที่ต่อสู้กับความกลัวที่จะเปลี่ยนแปลง เราไม่ต้องการทำสิ่งใหม่ๆ ที่เราไม่คุ้นเคย และอยากอยู่อย่างปลอดภัยเหมือนเดิมมากกว่า ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนว่าต้องการบรรลุเป้าหมายในเรื่องใด แล้วเชื่อมต่อกับสิ่งที่ต้องการให้ได้โดยรู้สึกและเข้าใจถึงอารมณ์ที่จะเกิดขึ้นเมื่อสามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้
4. รู้ดีว่าตนเองต้องการอะไร (Leverage over themselves) ฟรีดริช นีทเชอ นักปรัชญาชาวเยอรมัน กล่าวไว้ว่า
บุคคลที่มีความแข็งแกร่งเพียงพอจะอดทนได้แทบทุกสิ่ง สิ่งที่ผู้ประกอบการแตกต่างจากคนทั่วไปคือความเชื่อมั่นและความสามารถในการเชื่อมต่ออารมณ์ ความคาดหวังของตนเองกับผลลัพธ์ที่ต้องการได้โดยตระหนักรู้ดีว่าจะสามารถก้าวสู่เป้าหมายได้โดยไม่ยอมพ่ายแพ้ เพราะตนเองมีอำนาจเหนือตนเองมากพอ เพียงความคิดที่ว่าจะไม่ก้าวไปสู่เป้าหมายก็ทำให้รู้สึกแย่ยิ่งกว่าการยอมแพ้เสียอีก ดังนั้น จึงไม่มีอะไรที่จะขัดขวางผู้ประกอบการได้ในเมื่อเรารู้แล้วว่าเราต้องการอะไร
5. มีการสื่อสารที่แข็งแกร่ง (Strong Communication) ผู้ประกอบการรู้ดีว่าตนเองต้องการความสำเร็จเพียงใด ดังนั้น จึงพยายามเข้าไปอยู่กับผู้คนที่เป็นแบบอย่างของความสำเร็จ แต่ถ้าหากว่าขาดทักษะในการสื่อสารที่ดีเสียแล้ว ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่จะกำหนดเป้าหมายที่แม่นยำให้กับผู้อื่น หากเราต้องการให้ผู้อื่นเข้าใจถึงความต้องการและแรงผลักดันของเรา เราก็ต้องสื่อสารถึงสิ่งนั้นออกมาให้ผู้อื่นเข้าใจได้
จะเป็นเรื่องที่ง่ายมากและเรื่องราวต่างๆ จะคลี่คลายลงด้วยดีถ้าผู้ประกอบการสามารถแนะนำผู้คนให้รู้จักบริษัทของตนเองได้ การทำให้ผู้คนสามารถรับฟังและเข้าใจอย่างถูกต้องเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้ประกอบการทุกคนต้องมีคุณสมบัติด้านการสื่อสารที่แข็งแกร่ง
คุณสมบัติสำคัญทั้ง 5 ประการดังกล่าวเป็นเพียงส่วนบนของภูเขาน้ำเข็งเท่านั้น ภายใต้ภูเขาน้ำแข็งส่วนอื่นยังมีคุคุณสมบัติที่แตกต่างกันอีกมากมายอย่างนับไม่ถ้วนในแต่ละบุคคล แต่คุณสมบัติดังกล่าวเป็นการเริ่มต้นที่ดี สำหรับผู้ประกอบการบางคนอาจมีคุณสมบัติเหล่านั้นตามธรรมชาติ บางคนก็สามารถปลูกฝังให้เกิดขึ้นได้เมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งผู้ประกอบการสามารถค้นหาตัวตนที่เป็นอยู่และพัฒนาตนเองไปในแนวทางที่ต้องการได้ และอย่าลืมเชื่อมโยงกับผลลัพธ์ปลายทางที่ได้ตัดสินใจเลือกไว้แล้วเพื่อให้สามารถก้าวสู่เส้นทางความสำเร็จได้อย่างมั่นคงต่อไป
ที่มา: 1. https://www.entrepreneur.com/article/430660
2. https://bloggerspassion.com/famous-entrepreneurs/
Related posts
Tags: Communication skills, Critical thinking, Entrepreneurs, Management Strategy, Strategic Management, Success, Vision
Recent Comments