อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นและกลายเป็นโศกนาฎกรรมหลายครั้งในประเทศไทย ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในโรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว หรือสถานบันเทิงก็ตาม ต้องยอมรับว่าเป็นสิ่งที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้หรือสามารถลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินลงได้หากผู้ประกอบการและคนในสังคมตระหนักและรู้ว่าต้องแก้ไขและป้องกันอย่างไร
หากย้อนเวลากลับไปได้ แน่นอนว่าเราอยากให้มีมาตรการป้องกันและแก้ไขอย่างเพียงพอและรัดกุมที่สุดเพื่อเปลี่ยนชะตากรรมของผู้เกี่ยวข้องไม่ให้ตกอยู่ในอันตรายจนกระทั่งสูญสิ้นทั้งชีวิตและทรัพย์สิน อย่างไรก็ตาม อดีตเป็นสิ่งที่ไม่อาจแก้ไขได้ แต่เราสามารถศึกษาความผิดพลาดในอดีต แล้วนำมาปรับปรุง แก้ไข และป้องกันเพื่ออนาคตที่ดีกว่าได้
ไม่ว่าอุบัติเหตุและอันตรายที่เกิดขึ้นจะเป็นเรื่องเพียงเล็กน้อยหรือเรื่องใหญ่แค่ไหนก็ตาม ไม่มีใครอยากให้มันเกิดขึ้น ดังนั้น ความสามารถในการตระหนักรู้ถึงเหตุที่จะทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ในการทำงานทุกขณะ สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกคือความปลอดภัย แต่การจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงานจะเกิดขึ้นและกลายเป็นวัฒนธรรมความปลอดภัยที่ยั่งยืนได้ก็ต้องเริ่มจากจิตสำนึกด้านความปลอดภัยของทุกคนในองค์กร ซึ่งทุกคนควรทำความเข้าใจของแนวคิดของการจัดการด้านความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรทำความเข้าใจถึงบทบาทของตนเองในฐานะที่มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบการจัดการด้านความปลอดภัย และองค์กรควรส่งเสริมให้เกิดความตระหนักและมีจิตสำนึกด้านความปลอดภัย รวมทั้งเห็นความสำคัญของการปฏิบัติตามระบบการจัดการด้านความปลอดภัย จิตสำนึกด้านความปลอดภัยนี้ยังสามารถนำไปปรับใช้ที่บ้านและในชีวิตประจำวันของทุกคนได้ด้วย
นอกเหนือจากการสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยแล้ว เรายังมีเครื่องมือที่ช่วยให้องค์กรสามารถจัดการความปลอดภัยได้อย่างเป็นระบบซึ่งก็คือ มาตรฐาน ISO 45001, Occupational health and safety management systems — Requirements with guidance for use ที่ช่วยให้องค์กรและผู้ปฏิบัติงานกำหนดเป้าหมายเพื่อลดและควบคุมความเสี่ยงอันตรายของพนักงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของธุรกิจให้เกิดความปลอดภัย
การนำมาตรฐานนี้ไปใช้งานนอกจากจะส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านความรับผิดชอบขององค์กรที่มีต่อพนักงานและสังคมแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การจัดทำระบบการจัดการอาชีวอนามัยในเชิงรุกซึ่งมีความสำคัญสำหรับการป้องกันและการเตรียมการแก้ไขเมื่อเกิดความเสี่ยงภัยอันตรายขึ้น
มาตรฐาน ISO 45001 ยังมีประโยชน์อีกหลายประการ ดังต่อไปนี้
- ช่วยลดต้นทุนในระยะยาว เนื่องจากสามารถควบคุมและลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นต่อบุคลากร และทรัพย์สิน อาจรวมถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
- เกิดสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี พนักงานมีความปลอดภัยในการทำงาน
- มีการพัฒนาบุคลากรให้มีการวางแผน การทำงานร่วมกัน การพัฒนาความรู้เกี่ยวกับระบบการจัดการ การเฝ้าระวังและตรวจสอบ รวมถึงการแก้ไขข้อบกพร่องและการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานมากขึ้น
- ทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการดำเนินงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
นอกจากนี้ ไอเอสโอยังได้พัฒนามาตรฐาน ISO 45001 ให้มีความสอดคล้องกับ ISO 9001 ISO 14001 และมาตรฐานระบบการจัดการอื่น ๆ เพื่อให้สามารถบูรณาการเป็นระบบการจัดการเดียวกันได้ ดังนั้น หากองค์กรมีการนำมาตรฐานระบบการจัดการอื่นๆ ไปใช้งานแล้ว ก็จะสามารถพัฒนาต่อยอดให้ครอบคลุมมาตรฐาน ISO 45001 โดยสามารถรวมระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยเข้ากับกระบวนการธุรกิจขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การทำงานในทุกวันจะเป็น “วันแห่งความปลอดภัย” ได้ก็ต่อเมื่อองค์กรและบุคลากรร่วมมือกันสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัย และปฏิบัติตามระบบการจัดการด้านความปลอดภัย อย่าลืมว่าภัยอันตรายและอุบัติเหตุสามารถป้องกันได้ด้วยการมีกระบวนการและระบบที่เหมาะสมซึ่งการนำมาตรฐาน ISO 45001 ไปใช้ในองค์กรอย่างจริงจังถือว่าเป็นแนวทางการจัดการที่ดีอย่างยิ่งที่จะทำให้องค์กรสามารถจัดการความเสี่ยง และปรับปรุงประสิทธิภาพด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยได้ รวมทั้งช่วยให้องค์กรสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดทางกฎหมายและข้อกำหนดอื่น ๆ ด้วย
ที่มา: 1. https://www.springnews.co.th/news/society/828062
2. https://www.ohswa.or.th/17835746/hse-morning-talk-by-safety-ihs-buu-ep17
Related posts
Tags: Dangers, Hazards, ISO 45001, OHSMS, Risk Management, Safety awareness, Standardization, Worker wellbeing, Worker wellness, Workplace safety
ความเห็นล่าสุด