เมื่อทศวรรษที่ 1960 (พ.ศ. 2503) เป็นช่วงเวลาที่โลกขาดแคลนอาหาร เราจึงได้รู้จักคำว่า “ความมั่นคงทางอาหาร” ซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางความพยายามแก้ไขปัญหาที่ได้เน้นการเพิ่มปริมาณอาหารมากให้เพียงพอต่อการบริโภค แต่ความหิวโหยก็ยังคงอยู่ทั้ง ๆ ที่มีอาหารอยู่มากมายทั่วโลก ทำให้ในทศวรรษที่ 1980 (พ.ศ. 2523) ทั่วโลกได้หันมาให้ความสนใจกับการเข้าถึงอาหารที่ใช้อำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมโดยกระจายอาหารให้ถึงปากท้องของทุกคน ต่อมาในทศวรรษที่ 1990 (พ.ศ. 2533) ความมั่นคงทางอาหารจึงได้ขยายครอบคลุมไปถึงเรื่องของความปลอดภัยทางอาหารด้วย ได้แก่ คุณภาพของอาหาร คุณค่าทางอาหารและโภชนาการที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ
เวลาผ่านไปแล้วกว่า 60 ปีนับตั้งแต่โลกของเราได้รู้จักคำว่า “ความมั่นคงทางอาหาร” แต่ในพื้นที่บางแห่งของโลกยังคงเผชิญหน้ากับความไม่มั่นคงทางอาหารอย่างรุนแรงตามที่องค์การอนามัยโลกได้ออกมาเตือนเมื่อวันอังคารที่ 2 สิงหาคม 2565 ว่าแอฟริกาตะวันออกเฉียงเหนือ (คาบสมุทรโซมาลี หรือ Horn of Africa) กำลังเผชิญกับความไม่มั่นคงด้านอาหารอย่างรุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปีที่ผ่านมา
ปัจจุบัน ผู้คนมากกว่า 37 ล้านคนกำลังเผชิญกับความหิวโหยโดยมีเด็กประมาณ 7 ล้านคนที่อายุต่ำกว่า 5 ปีขาดสารอาหารอย่างเฉียบพลันในภูมิภาคดังกล่าว
ในขณะที่การหาอาหารและน้ำที่ปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่สุด แต่สิ่งสำคัญกว่านั้น องค์การอนามัยโลกได้กล่าวว่าเพื่อหลีกเลี่ยงโรคและการเสียชีวิตที่ป้องกันได้ เราต้องสร้างความมั่นใจว่าจะมีการตอบสนองฉุกเฉินด้านสุขภาพอย่างเข้มแข็งด้วย
องค์การสหประชาชาติกำลังเรียกร้องเงินจำนวน 123.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นและป้องกันไม่ให้วิกฤตด้านอาหารกลายเป็นวิกฤตด้านสุขภาพ โดยอิบราฮิมา โซเช ฟอลล์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการทั่วไปขององค์การอนามัยโลกด้านรับมือเหตุฉุกเฉิน ได้กล่าวว่าสถานการณ์กำลังเลวร้ายไปทุกที จึงจำเป็นต้องดำเนินการทันทีและไม่สามารถดำเนินต่อไปในภาวะวิกฤติขาดแคลนทุนทรัพย์ได้
ภัยแล้งที่รุนแรงมากขึ้น
ภัยแล้งรุนแรงเกิดขึ้นที่สุดปลายแหลมแห่งแอฟริกา ได้แก่ จิบูตี โซมาเลีย ซูดาน ซูดานใต้ เอธิโอเปีย ยูกันดา และเคนยา โดยที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้ง ราคาอาหารที่สูงขึ้น และการระบาดใหญ่ของ COVID-19 เป็นหนึ่งในความแห้งแล้งที่เลวร้ายที่สุดในภูมิภาคในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก
โซฟี เมส ผู้จัดการด้านอุบัติการณ์ขององค์การอนามัยโลกได้กล่าวว่า ปัจจุบันมีฤดูกาล 4 ฤดูที่ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ และฤดูกาลที่ 5 (The fifth season) ซึ่งหมายถึงฤดูกาลมรณะก็คงไม่เป็นไปตามที่คาดเช่นกัน สถานที่ที่มีความแห้งแล้งยังคงเป็นปัญหาที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ ส่วนในสถานที่อื่นๆ เช่น เซาท์ซูดาน มีน้ำท่วมต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี โดยเกือบ 40% ของประเทศถูกน้ำท่วม และโลกก็กำลังมองดูบางสิ่งบางอย่างที่กำลังจะเลวร้ายลงในอนาคตอันใกล้นี้
วิกฤติความหิวโหย
เป็นที่คาดว่าผู้คนกว่า 37 ล้านคนในภูมิภาคนั้นจะกล่าวสู่ระดับที่สามของการจัดกลุ่มความปลอดภัยด้านอาหารแบบบูรณาการ (Integrated Food Security Phase Classification: IPC) และสูงขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า สำหรับ IPC มีประเด็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอดภัยทางอาหารจำนวน 6 ข้อ ได้แก่ ระดับความรุนแรงของสถานการณ์ ระยะเวลาที่ประชากรได้รับผลกระทบ สถานที่ที่ประชากรได้รับผลกระทบ จำนวนประชากรที่ได้รับผลกระทบ สาเหตุของการเกิดสถานการณ์ และผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งในการตอบคำถามเหล่านี้ IPC ใช้มาตราส่วน 3 ระดับ ได้แก่ ระดับความไม่มั่นคงด้านอาหารเฉียบพลัน ระดับความไม่มั่นคงด้านอาหารเรื้อรัง และระดับภาวะทุพโภชนาการเฉียบพลัน
ดังนั้น จึงมีประชากรจำนวนมากที่อยู่ในภาวะวิกฤติโดยมีประชากรเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่สามารถตอบสนองความต้องการอาหารขั้นต่ำได้ และผลกระทบจากภัยรุนแรงนั้นเกิดขึ้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเอธิโอเปียตะวันออกและทางตอนใต้ เคนยาตะวันออกและทางตอนเหนือ และโซมาเลียตอนใต้และทางตอนกลาง
ความไม่มั่นคงด้านอาหารในเซาท์ซูดานได้มาถึงระดับที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ได้รับเอกราชเมื่อปี 2554 โดยมีประชากร 8.3 ล้านคนที่เผชิญกับความไม่มั่นคงด้านอาหารอย่างรุนแรง ซึ่งคิดเป็น 75% ของประชากรทั้งหมด
ผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก ภาวะทุพโภชนาการเฉียบพลันนำไปสู่การย้ายถิ่นที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากประชากรย้ายถิ่นฐานเพื่อแสวงหาอาหารและสถานที่อันอุดมสมบูรณ์
อย่างไรก็ตาม การหยุดชะงักจากสถานการณ์ต่าง ๆ ก็ส่งผลให้สุขอนามัยและการสุขาภิบาลแย่ลงไปด้วย เนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อซึ่งกำลังเพิ่มขึ้น เช่น อหิวาตกโรค โรคหัด และมาลาเรีย
นอกจากนี้ การให้วัคซีนอย่างครอบคลุมก็ไม่เพียงพอและการบริการด้านสุขภาพก็มีทรัพยากรที่จำกัดซึ่งอาจส่งผลให้จำนวนโรคระบาดในประเทศและโรคระบาดข้ามพรมแดนเพิ่มขึ้นในวงกว้าง ส่วนการดูแลเด็กที่ขาดสารอาหารขั้นรุนแรงที่มีอาการแทรกซ้อนทางการแพทย์ก็จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และส่งผลให้มีอัตราการเสียชีวิตสูงในเด็กด้วย
สำหรับการหยุดชะงักในการเข้าถึงบริการสุขภาพอาจเพิ่มอัตราการป่วยและอัตราการเสียชีวิตได้ เนื่องจากภาวะฉุกเฉินเช่นนี้ทำให้ประชากรต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการแสวงหาสุขภาพที่ดี และจัดลำดับความสำคัญในการเข้าถึงทรัพยากรช่วยชีวิต เช่น อาหารและน้ำ เป็นต้น
ทั่วโลกร่วมต่อสู้เพื่อยุติความหิวโหยและสร้างความยั่งยืน
ประเด็นปัญหาความมั่นคงทางอาหารดังกล่าวได้กลายเป็นวาระแห่งชาติของเกือบทุกประเทศ และเกี่ยวข้องกับการต่อสู้กับความหิวโหย (SDG2) การส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (SDG8) การต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (SDG13) ซึ่งทั่วโลกได้เร่งกันร่วมมือสร้างสังคมให้มีความสงบสุข ความยุติธรรม และครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกระดับ (SDG16) ตลอดจนการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG17)
ที่มา: 1. https://news.un.org/en/story/2022/08/1123812
2. bit.ly/3A8sTSW
Related posts
Tags: Climate Change, Food security, Horn of Africa, IPC Scales, Management Strategy, SDG13, SDG16, SDG17, SDG2, SDG8, SDGs, Strategic Management, WHO
Recent Comments