วารสาร MIT Sloan Management Review เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 ได้กล่าวถึงความผันผวนทางเศรษฐกิจในปัจจุบันของสหรัฐอเมริกาซึ่งยังคงมีมุมมองทั้งขาขึ้นและขาลง แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น จะเป็นเรื่องที่ดีกว่าหากมีการสำรวจความไม่แน่นอนและความผันผวนที่เกี่ยวข้องกับการตกต่ำทางเศรษฐกิจแล้วเตรียมการเผชิญหน้ากับภาวะถดถอยในครั้งต่อไป ซึ่งวารสารดังกล่าว ได้นำเสนอว่า บริษัทต่างๆ จำเป็นต้องประเมินห่วงโซ่อุปทานและการดำเนินงาน เสริมสร้างความเชื่อมโยงของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สนับสนุนความสามารถและทีมงาน และลงทุนในอนาคต โดยได้ให้แนวคิดที่น่าสนใจ 5 ประการซึ่งช่วยสร้างความยืดหยุ่นเมื่อองค์กรต้องเผชิญกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ดังต่อไปนี้
1. เตรียมพร้อมรับมือกับ “ปรากฏการณ์แส้ม้า” (Bullwhip)
ปรากฏการณ์นี้เป็นความผันผวนของความต้องการหรือ demand ในซัพพลายเชน ส่งผลให้เกิดปัญหาสินค้าขาดแคลนหรือไม่ก็สินค้าล้นตลาด
ศาสตราจารย์โยสซี เชฟฟี ของเอ็มไอทีกล่าวในบทความของเขาถึงปรากฏการณ์นี้ว่าเมื่ออุปสงค์หดตัว จะนำไปสู่สินค้าคงคลังและกำลังการผลิตที่มากเกินไป และอาจเกิดปัญหาความไม่เสถียรของซัพพลายเออร์และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ จึงต้องทบทวนพื้นฐานของการเตรียมการและตอบสนองต่อสภาวะที่เข้ามาทำให้เกิดการหยุดชะงัก ตลอดจนกลวิธีในการรับมือกับภาวะตกต่ำ โดยผู้บริหารควรเตรียมพร้อมที่จะคว้าโอกาสในการเปลี่ยนแปลงเมื่อเกิดภาวะตกต่ำในการประเมินซัพพลายเออร์และลูกค้าตลอดห่วงโซ่อุปทานอย่างรอบคอบ
2. ความหลงใหลที่มีร่วมกันในธุรกิจจะทำให้ธุรกิจมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
บทความของมอเรลา เฮอร์นันเดซ ได้กล่าวถึงโลกปัจจุบันที่มีการทำงานแบบไฮบริด ทำให้ผู้นำองค์กรกลายเป็นคนแปลกหน้ามากขึ้นในสถานที่ของตนเอง แม้ว่าจะมีความคล่องตัว แต่ก็ต้องตัดขาดการเชื่อมต่อจากพื้นที่สำนักงานจริง
จากการวิจัยร่วมกับบริษัทกว่า 180 แห่ง พบว่าเมื่อองค์กรเชื่อมโยงกับชุมชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียผ่านบริบททางสังคมร่วมกัน พวกเขาจะอยู่ในตำแหน่งที่ดีกว่าในการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ และทำงานร่วมกัน กล่าวคือการค้นพบที่สำคัญของพวกเขาเน้นถึงความสำคัญของการมีและการใช้ประโยชน์จากความผูกพันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และช่วยให้องค์กรสามารถตอบสนองต่อความยากลำบากได้ดีขึ้นและจะมีมากขึ้นเมื่อได้ทำงานในสถานที่เดียวกันกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กร
3. ผลการวิจัย 10 อันดับแรกเกี่ยวกับความยืดหยุ่นและการมีส่วนร่วม
ในภาวะที่มีความไม่แน่นอนในทุกด้าน การมีความยืดหยุ่นหรือความสามารถในการปรับตัวให้กลับไปใช้ชีวิตได้เป็นปกติถือเป็นสิ่งจำเป็น หากผู้นำรู้ว่ายืนอยู่ที่จุดใดในแง่ของสุขภาพกายและสุขภาพใจ ก็จะตัดสินใจได้ดีขึ้นว่าต้องทำอย่างไรเพื่อก้าวข้ามความท้าทายต่างๆ สู่ความสำเร็จ
บทความของมาร์คัส บัคกิงแฮมเปิดเผยว่าสถาบันวิจัย ADP ได้ศึกษาวิจัยระดับความยืดหยุ่นและการมีส่วนร่วมทั่วโลก ใน 25 ประเทศในปี 2563 (ค.ศ.2020) โดยสำรวจอย่างน้อย 1,000 คนต่อประเทศ รวมจำนวนกว่า 26,000 คน และมีเป้าหมาย 2 ประการ ประการแรก คือ เพื่อช่วยให้ผู้นำมีส่วนร่วมและมีความยืดหยุ่นในชีวิตตนเองมากขึ้นแม้ว่าจะมีเหตุการณ์ความวุ่นวายในปีที่ผ่านมา ประการที่สอง คือเพื่อระบุวิธีการที่ผู้นำจะสามารถสร้างการมีส่วนร่วมและความยืดหยุ่นให้กับพนักงาน
ผลการวิจัย 10 อันดับแรก พบว่าแรงขับเคลื่อนที่ดีที่สุดของความยืดหยุ่นและการมีส่วนร่วม คือ 1. ความไว้วางใจ
ซึ่งกันและกัน 2. การเป็นส่วนหนึ่งของทีม 3. สภาวะจิตใจมีผลต่อการทำงานในทีมมากกว่าเรื่องของการทำงานในพื้นที่สำนักงานหรือ virtual work 4. การใช้เทคโนโลยี นอกจากนี้ ยังพบว่า 5. อาชีพที่มีความยืดหยุ่นน้อยที่สุดอยู่ในการดูแลสุขภาพ คือ พยาบาลและครู ซึ่งไม่ค่อยได้มารวมตัวกันและไม่ได้อยู่ในทีม แต่ระหว่างการระบาดใหญ่ โรงเรียนหลายแห่งได้สนับสนุนให้ครูจัดระเบียบตนเองให้กลายเป็น “กลุ่มการสอน” ที่สนับสนุนซึ่งกันและกันและกลายเป็นกลุ่มที่มีพลัง 6. สิ่งที่ไม่รู้จักน่ากลัวกว่าการเปลี่ยนแปลง คนที่มีการเปลี่ยนแปลงในที่ทำงานตั้งแต่ 5 ครั้งขึ้นไปมีแนวโน้มที่จะมีความยืดหยุ่นสูง 13 เท่า มนุษย์เรากลัวสิ่งที่ไม่รู้จักมากกว่าที่จะกลัวการเปลี่ยนแปลง 7. ช่วงเวลาแห่งความสุขหลังเริ่มงานใหม่ได้จบลงแล้ว (ฮันนีมูนเอฟเฟ็คท์) ก่อนเกิดโรคระบาด พบว่าพนักงานที่มีส่วนร่วมมากที่สุดคือพนักงานที่เคยร่วมงานกับบริษัทมาไม่ถึงหนึ่งปี ไม่ใช่เพราะคุณภาพของสภาพแวดล้อมการทำงานในปีแรก แต่เกิดจากฮันนีมูนเอฟเฟ็คท์ซึ่งพนักงานใหม่มีแนวโน้มที่จะให้คะแนนประสบการณ์ในทางที่ดีเช่นเดียวกับคู่บ่าวสาวที่เพิ่งผ่านการแต่งงานมาใหม่ๆ 8. สมาชิก Gen Z มีความยืดหยุ่นไม่น้อยไปกว่าคนรุ่นก่อน 9. ความสัมพันธ์กับผู้อื่นช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น 10. ระดับความยืดหยุ่นและการมีส่วนร่วมเพิ่มขึ้นตามบทบาทและหน้าที่ที่สูงขึ้น
สำหรับแนวคิดอีก 2 ประการ คือ ประการแรก ผู้นำต้องมีความกล้าหาญในการตัดสินใจเลือกอนาคต และประการที่สอง สิ่งที่ต้องทำเมื่อการดิสรัพท์ต่างๆ เป็นภัยคุกคามต่ออาชีพของเรา โปรดติดตามรายละเอียดในตอนต่อไป
ที่มา: https://sloanreview.mit.edu/article/five-articles-for-building-resilience-when-facing-a-recession/
Related posts
Tags: Bullwhip, Honeymoon effect, Management Strategy, Passion, resilience, Strategic Management
Recent Comments