บทความ เรื่อง “แนวทางสร้างความยืดหยุ่นให้องค์กรเมื่อเศรษฐกิจผันผวน” ตอนที่ 1” ได้กล่าวถึงแนวคิดที่น่าสนใจ 3 ประการที่ช่วยสร้างความยืดหยุ่นเมื่อองค์กรต้องเผชิญกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจจาก วารสาร MIT Sloan Management Review เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 ได้แก่ 1. เตรียมพร้อมอยู่เสมอเพื่อคว้าโอกาสในการเปลี่ยนแปลงและรับมือกับ “ปรากฏการณ์แส้ม้า” (Bullwhip) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ความผันผวนของ demand ในซัพพลายเชน ส่งผลให้เกิดปัญหาสินค้าขาดแคลนหรือไม่ก็สินค้าล้นตลาด 2. ความหลงใหลที่มีร่วมกันในธุรกิจจะทำให้ธุรกิจมีความยืดหยุ่นมากขึ้น 3. ผลการวิจัย 10 อันดับแรกเกี่ยวกับความยืดหยุ่นและการมีส่วนร่วม สำหรับบทความในตอนที่ 2 จะกล่าวถึงแนวคิดที่เหลืออีก 2 ประการ พร้อมทั้งข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้
4. ผู้นำต้องมีความกล้าหาญในการตัดสินใจเลือกอนาคต
บทความของสก๊อตต์ ดี. แอนโธนีโธนี อธิบายว่าความไม่แน่นอนในระยะสั้นค่อนข้างขัดแย้งกัน ทำให้การคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปมีความสำคัญยิ่งขึ้นในขณะที่ผู้นำอาจให้ความสำคัญกับแนวทางในอดีตโดยไม่รู้ตัว แต่จริง ๆ แล้วนี่คือเวลาที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เพื่อก้าวไปข้างหน้าอย่างกล้าหาญ สิ่งสำคัญในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอน คือการมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนและน่าสนใจในอนาคต วิสัยทัศน์ที่ชัดเจนจะยิ่งเน้นย้ำถึงโอกาสในการเพิ่มกลยุทธ์การเติบโตขึ้นเป็นสองเท่าในขณะที่คู่แข่งกำลังไล่กวดตามมา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถที่จำเป็นในการสร้างรูปแบบธุรกิจของอนาคต และเพื่อเร่งการเคลื่อนไหวในทิศทางและรูปแบบใหม่
5. สิ่งที่ต้องทำเมื่อการดิสรัพท์ต่างๆ เป็นภัยคุกคามต่ออาชีพของเรา
บทความของบอริส กรอยสเบิร์ก, วิทนีย์ จอห์นสัน และเอริก ลิน กล่าวไว้ว่าความผันผวนในอุตสาหกรรมไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับบริษัทภายในนั้นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้คนที่ทำงานให้กับพวกเขาด้วย เพื่อที่จะอยู่นำหน้าการพัฒนาที่อาจดัสรัพท์หรือขัดขวางชีวิตการทำงาน เราต้องตอบคำถาม 2 อย่างนี้ให้ได้ คือ ประการแรก อุตสาหกรรมของเรามีความผันผวนแค่ไหน และประการที่สอง อะไรคือคำอธิบายสำหรับความผันผวนนั้น การใช้เวลาตรวจสอบคำถามเหล่านี้จะช่วยให้เราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ทันท่วงทีเมื่อเผชิญกับความผันผวน
เมื่อความผันผวนทำให้บริษัทต่างๆ ตกอยู่ในความเสี่ยง มันจึงคุกคามผู้นำ ผู้จัดการ และพนักงานทุกคนด้วย อันที่จริงแล้ว บริษัทต่างๆ สามารถเปลี่ยนแปลงและเพิ่มพูนความรู้ได้โดยจ้างคนใหม่ๆ เข้ามาเสริมทีม แต่บุคคลทั่วไปไม่สามารถแลกเปลี่ยนทักษะที่เฉียบขาดได้เร็วพอที่จะปรับตัวให้เข้ากับตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป แม้ว่าผู้คนจะรับรู้ถึงความจำเป็นในการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ แต่ก็ไม่สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่เป็นเพราะทักษะต่างๆ ถูกบ่มเพาะและสั่งสมมาอย่างยาวนานผ่านการศึกษา การฝึกอบรม การเรียนรู้ และประสบการณ์การทำงานเป็นเวลาหลายปี
อย่างไรก็ตาม ความคิดที่จะหลีกเลี่ยงความไม่แน่นอนโดยอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีความมั่นคงนั้นไม่ใช่ทางเลือกที่ดี ดังที่เรารู้กันดีว่าไม่มีอะไรที่มีเสถียรภาพอยู่ตลอดเวลา การดูแลเส้นทางอาชีพของตนเองสามารถทำได้โดยการค้นหาสัญญาณเริ่มต้นของความผันผวนในอุตสาหกรรมแล้วก้าวไปข้างหน้ามากกว่าที่บริษัทของเราทำอยู่ โดยดูว่าในอุตสาหกรรมหรือภาคส่วนเดียวกันกับที่เราทำอยู่นั้นมีทักษะอะไรที่เป็นที่ต้องการสูงแล้วพัฒนาทักษะนั้นให้ครอบคลุมและเพียงพอที่จะก้าวข้ามปัญหาอุปสรรคของความไม่แน่นอน และสามารถใช้ทักษะนั้นไปกับอุตสาหกรรมอื่นๆ หากจำเป็นต้องทำ
ตัวอย่างเช่น บริษัทในวอลล์สตรีทมักจะว่าจ้างนักวิเคราะห์เป็นจำนวนมากที่มีความรู้เกี่ยวกับบริษัทและความรู้ในอุตสาหกรรมเฉพาะด้าน นอกจากนี้ ยังแสวงหานักวิเคราะห์ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ที่ครอบคลุมในหมวดหมู่ต่างๆ ด้วย เช่น ผู้ที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับแนวโน้มด้านกฎระเบียบ บริษัทขนาดเล็ก ความรู้เชิงปริมาณ การจัดการพอร์ตโฟลิโอ เศรษฐศาสตร์ หรือการบัญชี เป็นต้น สิ่งที่โดดเด่นของคนเหล่านี้แม้ว่าจะตกอยู่ในความผันผวนของอุตสาหกรรมก็คือ ความเชี่ยวชาญของพวกเขาสามารถนำไปใช้ในวงกว้างกับกลุ่มบริษัทที่มีความหลากหลายและไม่เกี่ยวข้องกันได้
แนวคิดทั้ง 5 ประการดังกล่าวเป็นแนวทางที่องค์กรสามารถนำไปใช้เพื่อสร้างความยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวได้เมื่อเผชิญหน้ากับความผันผวนทางเศรษฐกิจซึ่งจะเห็นได้ว่ามีประเด็นที่เกี่ยวกับการจัดการห่วงโซ่อุปทาน การสร้างความยืดหยุ่นและการมีส่วนร่วมของบุคลากร การมีวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร และการเพิ่มพูนความรู้ทักษะด้วยความเข้าใจในบริบททั้งภายในและภายนอกองค์กรรวมทั้งการประเมินความเสี่ยง ทั้งหมดนี้มีการกล่าวถึงอย่างเป็นระบบในมาตรฐานสากลหลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรฐานระบบการจัดการความมั่นคงปลอดภัยสำหรับห่วงโซ่อุปทาน ISO 28000 มาตรฐานการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ ISO 22301 และมาตรฐานการจัดการความเสี่ยง ISO 31000
ไม่ว่าองค์กรหรือบุคคลจะต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงในเรื่องใดก็ตาม การเตรียมความพร้อมรับมืออยู่เสมอจะช่วยให้สามารถผ่านพ้นภาวะวิกฤติต่างๆ ไปได้และสามารถอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน โดยสามารถนำแนวทางจากมาตรฐานสากลไปปรับใช้เพื่อให้สามารถรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจและด้านอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิผล
ที่มา: https://sloanreview.mit.edu/article/five-articles-for-building-resilience-when-facing-a-recession/
Related posts
Tags: BCM, Disruption, ISO, ISO 22301, ISO 28000, ISO 31000, Security and resilience, Security Management System, Standardization, uncertainty
Recent Comments