การปฏิวัติอุตสาหกรรมในแต่ละครั้ง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ได้ทำให้ตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก เนื่องจากวิธีการผลิตและระดับการผลิตในแต่ละยุคมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยการนำเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามาใช้ ทุกวันนี้ เทคโนโลยีใหม่กำลังมาบรรจบกัน ทำให้มีความก้าวหน้ารวดเร็วยิ่งขึ้น และธรรมชาติของงานก็ถูกดิสรัพท์ด้วยการเปลี่ยนแปลงที่มีมากขึ้นไปด้วย ระบบอัตโนมัติกำลังทำให้งานต่างๆ ที่จำเป็นในอนาคตต้องเปลี่ยนแปลงไปในขณะที่เทคโนโลยีดิจิทัลและความสนใจของสังคมกำลังจะเปลี่ยนวิธีการและสถานที่ทำงานของเรา
ดังนั้น ไม่ใช่แค่นิยามของกำลังคนที่กำลังเปลี่ยนไป แต่ขอบเขตของงานทรัพยากรบุคคลก็เปลี่ยนจากการเน้นด้านแรงงานมาเป็นการเน้นที่ด้านทุนมนุษย์ด้วย
ผลกระทบของระบบอัตโนมัติ
อุตสาหกรรมต่างๆ ได้หันมาใช้ระบบอัตโนมัติเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มที่สังเกตเห็นได้ชัดโดยมีการศึกษาวิจัยมาเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าในเอไอหรือปัญญาประดิษฐ์ การผลิตอัจฉริยะและหุ่นยนต์ซึ่งได้ทำให้ความสามารถในการทำงานด้วยเครื่องจักรมีประสิทธิภาพมากกว่ามนุษย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งผลต่อภาพรวมของการจ้างงานทั่วโลก เป็นอย่างมาก โดยผลการศึกษาบางส่วนคาดการณ์ว่าในระดับโลก ระบบอัตโนมัติสามารถกำจัดงานที่มีอยู่ออกไป 9% และเกิดเปลี่ยนแปลงอย่างหน้ามือเป็นหลังมือราว 1 ใน 3 ของงานที่มีอยู่ในอีก 15 ถึง 20 ปีข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงด้านอุตสาหกรรมในครั้งนี้แตกต่างจากที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้เนื่องจากเกิดขึ้นด้วยความรวดเร็วกว่าที่เคยเป็นมาซึ่งในขณะนี้ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลอย่างรอบคอบเพื่อประโยชน์สูงสุด
ในขณะที่การศึกษาจำนวนมากมุ่งเน้นไปที่การสูญเสียงานที่อาจเกิดขึ้นซึ่งอาจเป็นผลมาจากระบบอัตโนมัติ แต่สิ่งสำคัญคือ อย่างน้อยที่สุดในระยะยาว ระบบอัตโนมัติจะส่งผลให้เกิดการสร้างงานที่สำคัญเช่นกัน กล่าวคือเกิดการสร้างงานรูปแบบใหม่ โดยขจัดความจำเป็นที่มนุษย์จะต้องทำงานที่ไม่ปลอดภัย น่าเบื่อ และซ้ำซากออกไป ในขณะที่ช่วยเพิ่มผลผลิตและทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีความยืดหยุ่นและมีเวลาพักผ่อนมากกว่าเดิม
งานใหม่เหล่านั้นมีแนวโน้มว่าจะต้องใช้ทักษะทางเทคนิคระดับสูงและทักษะทางสังคมรวมทั้งความคิดสร้างสรรค์มากกว่างานที่จะหายไป แน่นอนว่าความสามารถของแต่ละประเทศในการใช้ประโยชน์จากระบบอัตโนมัตินั้นแตกต่างกันไปตามปัจจัยหลายประการ ดังต่อไปนี้
- ข้อมูลทางประชากรศาสตร์ ประเทศที่มีประชากรสูงอายุมีแนวโน้มที่จะส่งเสริมการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ได้เร็วขึ้นเพื่อทดแทนและเพิ่มแรงงานสูงอายุของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาคส่วนต่างๆ เช่น สุขภาพ การดูแลผู้สูงอายุ และเกษตรกรรม เป็นต้น ระบบอัตโนมัติในประเทศที่มีประชากรอายุน้อยกว่าและแรงงานที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลเสียมากกว่าและอาจกดดันค่าแรงให้ลดลง ในทางกลับกัน ประเทศเหล่านี้อาจมีความคล่องตัวมากขึ้นในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากระบบอัตโนมัติตราบเท่าที่สามารถจัดเตรียมการศึกษาที่จำเป็นในการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานใหม่ๆ
- ระดับของอุตสาหกรรม มีความวิตกกังวลว่าระบบอัตโนมัติอาจทำให้ประเทศกำลังพัฒนาเกิดการเสียเปรียบ เนื่องจากประเทศเหล่านี้มักจะมีงานจากการผลิตเป็นจำนวนมาก ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศที่พัฒนาแล้วอาจทำการผลิตโดยใช้หุ่นยนต์มากขึ้นซึ่งจะลดโอกาสสำหรับประเทศกำลังพัฒนาในการขยายเศรษฐกิจผ่านการผลิตที่เน้นการส่งออก แต่เศรษฐกิจที่ก้าวหน้าก็อาจประสบปัญหานี้เช่นกัน คือเกิดการขาดแคลนรายได้อันเนื่องมาจากจำนวนผู้ปฏิบัติงานที่จ่ายภาษีลดลง และเกิดความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมากขึ้น เนื่องจากกลับกลายเป็นว่ากลุ่มประชากรที่เคยมีการเติบโตอย่างมั่นคงในมาตรฐานการครองชีพ ตอนนี้เกิดการเสียเปรียบ
- ระบบการศึกษา สิ่งที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการปรับตัวให้เข้ากับระบบอัตโนมัติที่เพิ่มขึ้นคือ ทักษะที่มีอยู่ในแรงงานของประเทศหนึ่งๆ ผนวกกับความสามารถในการเข้าถึงการศึกษาต่อเนื่อง
ในประเทศที่ผู้หญิงมีแนวโน้มว่าจะมีระดับการศึกษาต่ำกว่าผู้ชายและมีทักษะทางเทคนิคน้อยกว่าผู้ชาย งานของผู้หญิงอาจมีความเสี่ยงอันเนื่องมาจากการทำงานอัตโนมัติมากขึ้น และอาจส่งผลให้พวกเธอถูกกีดกันออกจากแรงงาน ดังนั้น ผู้กำหนดนโยบายจะต้องตรวจสอบให้มั่นใจว่ามีการริเริ่มการฝึกอบรมและยกระดับทักษะอย่างเพียงพอที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับแรงงานที่มีทักษะต่ำและปานกลาง รวมถึงผู้หญิงด้วยในบางกรณี)
ในขณะที่ระบบอัตโนมัติทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนอะไรหลายๆ อย่างไป เทคโนโลยีดิจิทัลก็ช่วยให้เราทำงานจากระยะไกลและมีตารางการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งจะกล่าวถึงในบทความตอนต่อไปพร้อมกับแนะนำมาตรฐานสากลที่ไอเอสโอพัฒนาขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงด้านการทำงานด้วย
ที่มา: https://www.iso.org/foresight/the-changing-nature-of-work
Related posts
Tags: AI, Demographics, Education systems, Effects of automation, Industrial revolutions, Industrialization, ISO, Labor market, Robotics, Smart Manufacturing, Standardization, Workforce
ความเห็นล่าสุด