บทความ MASCIInnoversity เรื่อง “โลกเปลี่ยน เราปรับ ยกระดับการทำงาน ตอนที่ 1” ได้กล่าวถึงผลกระทบของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในแต่ละครั้งที่ทำให้ตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน และส่งผลกระทบต่องานการจ้างงานในอนาคตด้วย ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในอัตราที่รวดเร็วมากกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต และความสามารถของแต่ละประเทศในการใช้ประโยชน์จากระบบอัตโนมัติก็แตกต่างกันไปตามปัจจัยด้านข้อมูลประชากรศาสตร์ ระดับของอุตสาหกรรม และระบบการศึกษา
สำหรับบทความในตอนที่ 2 จะกล่าวถึงผลกระทบเชิงบวกของระบบอัตโนมัติรวมทั้งเทคโนโลยีดิจิทัล และมาตรฐานสากลที่ไอเอสโอพัฒนาขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงการทำงานดังต่อไปนี้
แม้ว่าระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีใหม่ๆ กำลังเปลี่ยนแปลงงานและการจ้างงานประเภทต่างๆ รวมทั้งทำให้เกิดความกดดันทางสังคมที่กำลังเปลี่ยนวัฒนธรรมในที่ทำงานและวิธีการทำงาน แต่เทคโนโลยีดิจิทัลก็ช่วยให้ผู้คนจำนวนมากสามารถทำงานจากระยะไกลและมีตารางเวลาที่ยืดหยุ่นมากขึ้น
แนวโน้มดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการระบาดใหญ่ของ COVID-19 แต่การระบาดใหญ่เป็นตัวเร่งให้เกิดขึ้น กล่าวคือ การระบาดใหญ่ทำให้มีคนที่ทำงานจากระยะไกลเพิ่มขึ้น และมีการใช้การประชุมทางวิดีโอรวมทั้งการประชุมเสมือนมากขึ้น แต่ก็มีการเดินทางเพื่อธุรกิจและการใช้พื้นที่สำนักงานทางกายภาพลดลงมาก มีผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่าแนวโน้มเหล่านั้นสอดคล้องกับความต้องการของคนรุ่นมิลเลนเนียลส่วนใหญ่ คือ คนจำนวน 92% ต้องการทำงานทางไกล และ คนจำนวน 87% ต้องการทำงานตามกำหนดเวลา ซึ่งช่วยให้ผู้คนสร้างสมดุลชีวิตระหว่างหน้าที่การงานและชีวิตที่บ้านได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นคือ พนักงานบางคนอาจประสบกับความเครียดในระดับที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการเชื่อมต่อกับงานอย่างต่อเนื่องในขณะที่บางคนขาดการมีส่วนร่วมในงานและมีประสิทธิผลน้อยลงเนื่องจากสูญเสียการเชื่อมต่อทางกายภาพกับเพื่อนร่วมงานและพื้นที่ทำงาน เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้องค์กรต้องเผชิญกับความท้าทายมากขึ้นเป็นสองเท่าสำหรับการลงทุนในเทคโนโลยีที่จำเป็น เพื่อทำให้เกิดสภาพแวดล้อมการทำงานแบบไฮบริดหรือการทำงานทั้งแบบระยะไกลและการทำงานร่วมกันในสถานที่ทำงานจริงเพื่อดึงดูดและรักษาผู้มีความสามารถที่ดีที่สุดไว้ในขณะเดียวกันก็เพื่อพัฒนากลยุทธ์ที่จะต่อสู้กับความเครียดที่เพิ่มขึ้นของพนักงานหรือการขาดการมีส่วนร่วมของพนักงานด้วย
ไอเอสโอได้ศึกษาแนวโน้มของการทำงานและเห็นความสำคัญของการทำงานในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการ 7 คณะขึ้นมาเพื่อพัฒนามาตรฐานที่สนับสนุนแนวโน้มดังกล่าวไปแล้วรวม 1,000 ฉบับ ดังต่อไปนี้
- คณะกรรมการการวิชาการ ISO/TC 184, Automation Systems and Integration ซึ่งได้เผยแพร่มาตรฐานไปแล้วจำนวน 885 ฉบับ และอยู่ในระหว่างการพัฒนามาตรฐานและโครงการภายใต้มาตรฐานนี้รวมจำนวน 84 รายการ
- คณะกรรมการการวิชาการ ISO/TC 232, Education and Learning Services ซึ่งได้เผยแพร่มาตรฐานไปแล้วจำนวน 6 ฉบับ และอยู่ในระหว่างการพัฒนาโครงการภายใต้มาตรฐานนี้จำนวน 3 โครงการ
- คณะกรรมการการวิชาการ ISO/TC 299, Robotics ซึ่งได้เผยแพร่มาตรฐานไปแล้วจำนวน 26 ฉบับ และอยู่ในระหว่างการพัฒนาโครงการภายใต้มาตรฐานนี้จำนวน 11 โครงการ
- คณะกรรมการการวิชาการ ISO/TC 260, Human resource management ซึ่งได้เผยแพร่มาตรฐานไปแล้วจำนวน 27 ฉบับ และอยู่ในระหว่างการพัฒนาโครงการภายใต้มาตรฐานนี้จำนวน 7 โครงการ
- คณะกรรมการการวิชาการ ISO/TC 159/SC1, General ergonomics principles ซึ่งได้เผยแพร่มาตรฐานไปแล้วจำนวน 8 ฉบับ และอยู่ในระหว่างการพัฒนาโครงการภายใต้มาตรฐานนี้จำนวน 1 โครงการ
- คณะกรรมการการวิชาการ ISO/TC 283, Occupational health and safety management ซึ่งได้เผยแพร่มาตรฐานไปแล้วจำนวน 3 ฉบับ และอยู่ในระหว่างการพัฒนาโครงการภายใต้มาตรฐานนี้จำนวน 3 โครงการ
- คณะกรรมการการวิชาการ ISO/TC 292, Security and resilience ซึ่งได้เผยแพร่มาตรฐานไปแล้วจำนวน 45 ฉบับ และอยู่ในระหว่างการพัฒนาโครงการภายใต้มาตรฐานนี้จำนวน 23 โครงการ
ไอเอสโอตระหนักดีว่ามนุษย์เราจำเป็นต้องมีความรู้ความสามารถและทักษะที่เหมาะสมในการทำงานเพื่อให้สามารถก้าวทันหุ่นยนต์และเทคโนโลยีทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งมนุษย์เราก็จำเป็นต้องได้รับการดูแลทั้งในเชิงสังคมและเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง ดังนั้น คณะกรรมการวิชาการของไอเอสโอดังกล่าวจึงได้พัฒนามาตรฐานที่ส่งเสริมการทำงานไว้ในมาตรฐานสากลอย่างครอบคลุมและสอดคล้องโดยมาตรฐานสากลนั้นสามารถรองรับการทำงานที่กำลังเปลี่ยนแปลงและมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากเปลี่ยนแปลงของสังคม เทคโนโลยี รวมทั้งด้านอื่นๆ ด้วย
ทั้งนี้ ไอเอสโอมีความเข้าใจถึงความท้าทายที่โลกต้องเผชิญอีกหลายด้าน และสามารถนำประเด็นความท้าทายต่างๆ รวมไว้ในการพัฒนามาตรฐานสากลเพื่อให้มีการนำไปใช้ทั่วโลกอย่างมีประสิทธิผล และสามารถตอบโจทย์การทำงานในโลกอนาคตได้เป็นอย่างดี ดังเช่นคำขวัญของไอเอสโอที่ว่า “สิ่งดีๆ เกิดขึ้นเมื่อทั่วโลกเห็นพ้องต้องกัน” (Great Things Happen When the World Agrees)
ที่มา: https://www.iso.org/foresight/the-changing-nature-of-work
Related posts
Tags: Automation systems, COVID-19, Education systems, Ergonomics, Human Resource management, ISO, Robotics, Standardization, Workforce
Recent Comments