บทความ MASCIInnoversity เรื่อง “เทคโนโลยีที่พลิกโฉมอุตสาหกรรมสู่อนาคต ตอนที่ 1” ได้กล่าวถึงเทคโนโลยีเสมือนหรือ XR (Extended Reality) และบทบาทของเทคโนโลยีเสมือนซึ่งทำให้มนุษย์มีชีวิตที่สะดวกสบาย มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงจากการก่อการร้ายทางไซเบอร์ การให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง การละเมิดหรือการนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง และอคติในสังคมด้วย จากการศึกษาแนวโน้มของเทคโนโลยีดังกล่าว ทำให้ไอเอสโอได้พัฒนามาตรฐานเป็นจำนวนมากขึ้นมาอย่างครอบคลุมเพื่อปกป้องผู้ใช้งานเทคโนโลยี XR ซึ่งจะกล่าวถึงดังต่อไปนี้ รวมทั้งเทคโนโลยีควอนตัม
ไอเอสโอได้แต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการ 3 คณะ ได้แก่
1. ISO/IEC JTC 1/SC 24 Computer graphics, image processing and environmental data representation ซึ่งได้เผยแพร่มาตรฐานไปแล้วจำนวน 87 ฉบับโดยอยู่ในระหว่างการพัฒนามาตรฐานและโครงการภายใต้มาตรฐานนี้รวมจำนวน 13 รายการ
2. ISO/IEC JTC 1/SC 29, Coding of audio, picture, multimedia and hypermedia information ซึ่งได้เผยแพร่มาตรฐานไปแล้วจำนวน 607 ฉบับโดยอยู่ในระหว่างการพัฒนามาตรฐานและโครงการภายใต้มาตรฐานนี้รวมจำนวน 13 รายการ
3. ISO/IEC JTC 1/SC 36, Information technology for learning, education and training ซึ่งได้เผยแพร่มาตรฐานไปแล้วจำนวน 55 ฉบับโดยอยู่ในระหว่างการพัฒนามาตรฐานและโครงการภายใต้มาตรฐานนี้รวมจำนวน 8 รายการ สำหรับเทคโนโลยีควันตัม (Quantum technologies) เป็นเทคโนโลยีอีกอย่างหนึ่งที่พลิกโฉมอุตสาหกรรมและจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต เทคโนโลยีควอนตัมอาศัยหลักการของฟิสิกส์ควอนตัมและครอบคลุมขอบเขตการใช้งานที่หลากหลาย เช่น การสื่อสารควอนตัม คอมพิวเตอร์ควอนตัม การเข้ารหัสควอนตัม การถ่ายภาพควอนตัม มาตรวิทยาควอนตัม เซ็นเซอร์ควอนตัม และการจำลองควอนตัม เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คอมพิวเตอร์ควอนตัม อาจเป็นตัวพลิกบทบาทของเทคโนโลยีและปฏิวัติวิธีการคำนวณ
คอมพิวเตอร์ควอนตัมเป็นคอมพิวเตอร์แห่งอนาคตที่ทำงานตามกฎของกลศาสตร์ควอนตัมและประกอบด้วยวงจรควอนตัม การสร้างบล็อคพื้นฐานของคอมพิวเตอร์ควอนตัมคือควอนตัมบิตหรือ qubit ซึ่งเป็นอะนาล็อกควอนตัมของเลขฐานสองหรือบิตการคำนวณแบบดั้งเดิม
qubit สามารถอยู่ในสองสถานะ คล้ายกับ ’1′ และ ’0′ ของบิตดั้งเดิม เช่นเดียวกับสถานะการซ้อนทับโดยที่มันเป็นทั้ง ’1′ และ ’0′ ในเวลาเดียวกัน เนื่องจาก qubits สามารถมีอยู่ได้ในหลายสถานะพร้อมกัน คอมพิวเตอร์ควอนตัมจึงมีศักยภาพที่รวดเร็วกว่าคอมพิวเตอร์แบบเดิมถึงร้อยล้านเท่า สามารถค้นหาฐานข้อมูลได้เร็วขึ้น ระบบที่ซับซ้อน เช่น พฤติกรรมระดับโมเลกุล ทำให้สามารถสร้างแบบจำลองเพื่อผลิตยาให้ดีขึ้น และเทคโนโลยีการเข้ารหัสในปัจจุบันก็สามารถทำให้ดีขึ้นได้เช่นกัน โดยในอนาคต จะสามารถจองและรับพลังการประมวลผลควอนตัมผ่านคลาวด์จากผู้ให้บริการ เช่น Amazon และ IBM ได้ ซึ่งทำให้เกิดยุคของการประมวลที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงมาก
แม้ว่าควอนตัมเป็นหนึ่งในเทคโนโลยี DARQ ที่พึ่งเกิดขึ้นใหม่ล่าสุด แต่การลงทุนในด้านนี้กลับเติบโตอย่างรวดเร็วและเกิดขึ้นในหลายระดับ เช่น จากระดับบริษัทไปจนถึงองค์กรสถาบันและระดับประเทศ ยกตัวอย่างเช่น จีนได้จัดตั้งเครือข่ายการเข้ารหัสควอนตัมแห่งแรกของโลกที่เรียกว่า “โครงการจี่หนาน” เมื่อปี 2560 (ค.ศ.2017) ในขณะเดียวกันสหภาพยุโรปก็ได้เปิดตัวโครงการ quantum flagship เมื่อปี 2561 (ค.ศ.2018) ซึ่งครอบคลุมการสื่อสารควอนตัม การจำลองควอนตัม การคำนวณควอนตัม มาตรวิทยาควอนตัม และการตรวจจับ ตลอดจนวิทยาศาสตร์พื้นฐานเบื้องหลังเทคโนโลยีควอนตัม โครงการดังกล่าวใช้งบประมาณอย่างน้อย 1 พันล้านยูโรในระยะเวลา 10 ปี วิสัยทัศน์ระยะยาวของความคิดริเริ่มหลักคือการพัฒนาเว็บควอนตัมในยุโรป ซึ่งมีคอมพิวเตอร์ควอนตัม เครื่องจำลอง และเซ็นเซอร์เชื่อมต่อกันผ่านเครือข่ายการสื่อสารควอนตัม
ในแง่ของความก้าวหน้าของภาคเอกชน ผู้ที่มีบทบาทหลักในด้านนี้อย่าง Google, Alibaba, IBM, Baidu และ Hewlett Packard ต่างก็ทำวิจัยของตนเอง เมื่อปี 2564 IBM Quantum ได้เปิดตัวชิป Eagle โดยส่งมอบ 127 qubits บนโปรเซสเซอร์ควอนตัมของ IBM เครื่องเดียวเป็นครั้งแรกพร้อมเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ที่ก้าวล้ำ Eagle ได้ทำลายอุปสรรคของโปรเซสเซอร์ 100 บิตและเป็นผู้นำคอมพิวเตอร์ควอนตัมสู่ยุคใหม่ IBM คาดการณ์ว่าเมื่อใช้ Eagle ผู้ใช้งานจะสามารถสำรวจส่วนที่ยังไม่เคยมีใครค้นพบมาก่อน และสัมผัสประสบการณ์ครั้งสำคัญบนเส้นทางสู่การคำนวณควอนตัมที่ใช้งานได้จริง
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีควอนตัมยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และจะใช้เวลานานกว่าจะเข้ายึดครองตลาดได้ จากการคาดการณ์ของ Deloitte Insights พบว่าสำหรับตลาดคอมพิวเตอร์ควอนตัม มีคาดการณ์ว่าจะเติบโตจนเท่าขนาดของตลาดซูเปอร์คอมพิวเตอร์ในปัจจุบันเพียงเท่านั้น ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับตลาดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์แบบดั้งเดิมในปัจจุบันซึ่งมีมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์แล้วเมื่อปี 2562 และแม้กระทั่งภายในปี 2573 (ค.ศ.2030) ก็จะยังไม่มีสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่ใช้อยู่เลยที่จะขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีควอนตัม
ไอเอสโอได้ศึกษาแนวโน้มของเทคโนโลยีควอนตัม และเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีนี้ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการ ISO/IEC JTC 1 Information technology ซึ่งได้เผยแพร่มาตรฐานไปแล้วจำนวน 3,359 ฉบับโดยอยู่ในระหว่างการพัฒนามาตรฐานและโครงการภายใต้มาตรฐานนี้รวมจำนวน 500 รายการ
นอกจากนี้ ยังได้แต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการ ISO/IEC JTC 1/SC 27, Information security, cybersecurity and privacy protection เพื่อดูแลปกป้องความเป็นส่วนตัวและความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งได้เผยแพร่มาตรฐานไปแล้วจำนวน 224 ฉบับโดยอยู่ในระหว่างการพัฒนามาตรฐานและโครงการภายใต้มาตรฐานนี้รวมจำนวน 60 รายการ
นอกจากเรื่องของเทคโนโลยีเสมือนและเทคโนโลยีควอนตัมแล้ว ยังมีบล็อกเชน และคลาวด์คอมพิวเตอร์ ซึ่งMASCIInnoversity จะนำเสนอในโอกาสต่อไปค่ะ
ที่มา: 1. https://www.iso.org/foresight/computing.html
2. https://bit.ly/3exIfbp
Related posts
Tags: Cybersecurity, DARQ technologies, Hypermedia information, Image processing, ISO, Privacy Protection, Quantum technologies, Qubit, Standardization
ความเห็นล่าสุด