บทความ MASCIInnoversity เรื่อง “เอ็มไอทีเผยผลวิจัยใช้ Design Thinking ให้ประสบความสำเร็จ ตอนที่ 1” ได้กล่าวถึงความสำคัญของการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ซึ่งทำให้องค์กรสามารถคิดค้นโมเดลธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ บริการใหม่ หรือเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรได้ และได้ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างของการคิดเชิงบริหารกับการคิดเชิงออกแบบ สำหรับบทความในตอนที่ 2 จะกล่าวถึงแนวทางการประเมินความพร้อมขององค์กรสำหรับการคิดเชิงออกแบบ และการสร้างนวัตกรรมดังต่อไปนี้
เนื่องจากผลลัพธ์ที่ต้องการของการคิดเชิงออกแบบ คือการเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างในองค์กร การนำไปใช้จึงต้องมีความพร้อมในระดับสูงสำหรับพนักงาน ผู้จัดการ และผู้บริหาร แต่เป้าหมายไม่ใช่เพื่อเปลี่ยนทุกคนให้เป็นนักออกแบบ หรือใช้การคิดเชิงออกแบบกับทุกปัญหา เพียงแต่ว่าผู้คนจำเป็นต้องเข้าใจและรู้สึกสบายใจกับวิธีการทำงานของนักออกแบบเพื่อเดินหน้าสู่การเปลี่ยนแปลงนั้น
ผู้นำธุรกิจหรือองค์กรสามารถกำหนดขอบเขตที่เข้าใจได้และฝึกฝนมิติของการคิดเชิงออกแบบภายในองค์กรโดยใช้เครื่องมือการประเมินเช่นเดียวกับที่คณะนักวิจัยเอ็มไอทีได้จัดเตรียมไว้โดยสำรวจทั้งผู้จัดการและพนักงาน ซึ่งผู้นำอาจค้นพบภัยคุกคามที่ส่งผลให้การคิดเชิงออกแบบไม่สามารถประสบความสำเร็จได้
ประเมินความพร้อมในการคิดเชิงออกแบบ
ผู้นำสามารถใช้แบบสำรวจเพื่อประเมินว่าองค์กรของตนพร้อมแล้วหรือยังสำหรับการคิดเชิงออกแบบ แบบสำรวจของเอ็มไอทีประกอบด้วย 8 ส่วน หนึ่งส่วนสำหรับแต่ละมิติของการคิดเชิงออกแบบและหลักการพื้นฐาน แต่ละส่วนมีคำถาม 2 ข้อที่จะถามทั้งผู้จัดการและพนักงาน การให้คะแนนแบบสำรวจสำหรับแต่ละมิติโดยเฉลี่ยคำตอบของผู้จัดการและพนักงานแยกกัน และเพิ่มคะแนนเฉลี่ยสำหรับแต่ละมิติเพื่อกำหนดคะแนนรวมระหว่าง 0-80 สำหรับแต่ละกลุ่มตามตารางที่กำหนดไว้ เพื่อเปรียบเทียบคะแนนของผู้จัดการและพนักงานเพื่อกำหนดความพร้อมขององค์กร
ในองค์กรขนาดใหญ่ ผู้นำการคิดเชิงออกแบบจะต้องการสำรวจทีมผู้นำระดับสูง หรือหากเริ่มต้นเพียงส่วนหนึ่งของบริษัท ผู้นำของกลุ่มก็จะต้องสำรวจกลุ่มพนักงานที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย รวมทั้งพนักงานของหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้องหรือพนักงานทั้งหมด
คะแนนรวมที่สูงแสดงถึงข้อตกลงที่มั่นคงแน่วแน่ระหว่างผู้จัดการและพนักงาน หมายความว่าองค์กรมีความพร้อมสำหรับการคิดเชิงออกแบบ ส่วนคะแนนรวมที่ต่ำแสดงถึงความขัดแย้งอย่างลึกซึ้ง หมายความว่าการคิดเชิงออกแบบไม่เหมาะกับองค์กรในปัจจุบัน ส่วนคะแนนรวมที่อยู่ตรงกลาง ผู้นำสามารถระบุประเด็นที่น่าเป็นห่วงและให้ความเห็นว่าจำเป็นต้องให้การศึกษาและฝึกอบรมในส่วนใด หรือใช้โครงการนำร่องเพื่อเปลี่ยนกรอบความคิดขององค์กรโดยสามารถดำเนินการสำรวจติดตามผลเพื่อประเมินผลกระทบของมาตรการดังกล่าว
รากฐานที่มั่นคงของการคิดเชิงออกแบบ
ผู้เชี่ยวชาญของ Sloan Management Review แนะนำว่าหากมิติของการคิดเชิงออกแบบไม่มีรากฐานในองค์กร แนวทางนี้ก็ไม่อาจจะประสบความสำเร็จได้ ผู้นำธุรกิจต้องตัดสินใจว่าจะรักษาแนวทางดั้งเดิมเอาไว้หรือเริ่มกระบวนการที่ใช้เวลาอันยาวนานในการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรซึ่งหากมีการเลือกแนวทางที่จะเปลี่ยนแปลงนี้ ก็สามารถเริ่มต้นด้วยการสนับสนุนให้พนักงานสำรวจว่าบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมของตนนำการคิดเชิงออกแบบไปใช้อย่างไร ในทำนองเดียวกัน พนักงานสามารถเข้าร่วมในเครือข่ายอุตสาหกรรมเพื่อพบปะกับผู้คนในแวดวงการคิดเชิงออกแบบซึ่งสามารถแบ่งปันการคิดเชิงออกแบบและสำรวจว่าจะนำการคิดเชิงออกแบบไปใช้ในสภาพแวดล้อมของตนเองได้อย่างไร หากบริษัทไม่มีความชำนาญ ก็จะต้องพัฒนาขึ้นมาหรืออาศัยผู้เชี่ยวชาญด้านการคิดเชิงออกแบบจากภายนอกที่สามารถช่วยให้ผู้จัดการและพนักงานได้รับประสบการณ์ตรง ทั้งนี้ ต้องทำภายใต้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ของผู้นำองค์กรซึ่งมักใช้เวลาที่ยาวนานและต้องการพื้นที่เฉพาะซึ่งส่งเสริมการคิดนอกกรอบเพื่อการคิดเชิงออกแบบของทีมข้ามสายงานและต้องร่วมมือกันทั่วทั้งองค์กร
วิธีทรงพลังช่วยสร้างสรรค์นวัตกรรม
การคิดเชิงออกแบบได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงในหลายด้านรวมทั้งกลยุทธ์ทางธุรกิจ ทั้งนี้ ในการนำคิดเชิงออกแบบไปใช้ ควรเลือกโครงการที่เหมาะสม และกำหนดตัวชี้วัดที่เหมาะสมซึ่งเน้นในเชิงคุณภาพ แตกต่างจากตัวชี้วัดทางการเงินที่ตัดสินด้วยประสิทธิภาพตามตัวเลข
ภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม การคิดเชิงออกแบบเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการสร้างสรรค์และแก้ไขปัญหาที่ท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาที่มีความคลุมเครือและความไม่แน่นอนซึ่งทำให้ผู้จัดการและพนักงานมองเห็นการดำเนินงานจากภายนอกไปสู่ภายใน ทำให้มีการค้นพบที่แทบไม่มีทางเกิดขึ้นได้หากอยู่ในสภาวะที่ทุกฝ่ายมุ่งเน้นประสิทธิภาพการทำงานและเป้าหมายทางธุรกิจอื่นๆ ตามปกติ การคิดเชิงออกแบบอาจล้มเหลวได้ง่ายหากผู้คนไม่เข้าใจกระบวนการหรือหลักการที่อยู่เบื้องหลัง และหากผู้นำไม่ให้การสนับสนุน
เมื่อเกิดความคิดริเริ่มที่จะเปลี่ยนแปลงเรื่องใดก็ตาม โอกาสของความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้มากกว่าเมื่อสร้างขึ้นจากแนวทางเชิงกลยุทธ์ การคิดเชิงออกแบบก็เช่นกัน
การคิดเชิงออกแบบต้องขึ้นอยู่กับการประเมินความสามารถและวัฒนธรรมของบริษัทอย่างชัดเจน ผู้นำไม่สามารถใช้การคิดเชิงออกแบบด้วยการสั่งการได้ และต้องไม่ปล่อยให้พนักงานและผู้จัดการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง พนักงานจะต้องได้รับการศึกษาและฝึกอบรมที่เหมาะสมกับความมุ่งมั่นและความรู้ ตลอดจนได้รับการสนับสนุนและสิ่งจูงใจต่างๆ ด้วย
เนื่องจากการสร้างอนาคตต้องใช้วิธีคิดที่แตกต่างจากการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน องค์กรจึงต้องใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องในการปลูกฝังกรอบความคิดด้านการออกแบบ โดยคำนึงถึงโอกาสที่มีอยู่รอบตัว ปัจจุบัน มีกรณีตัวอย่างมากมายที่ใช้ประโยชน์จากวิธีคิดเชิงออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบสินค้า บริการ หรือนวัตกรรมทางสังคม ทำให้เกิดนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์อย่างมากต่อมนุษย์และสังคมโดยรวม
การคิดเชิงออกแบบเป็นเครื่องมือสำคัญในปัจจุบันที่สามารถตอบโจทย์องค์กรในการเปลี่ยนแปลงองค์กร การสร้างนวัตกรรมหรือการหาแนวทางแก้ไขปัญหาใหม่ๆ อยู่เสมอเพื่อก้าวสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน
ที่มา: 1. https://sloanreview.mit.edu/article/can-design-thinking-succeed-in-your-organization/
2. https://bit.ly/3djJDOm
Related posts
Tags: Cross functional team, Design Thinking, Innovation Management, Organizational culture, Products, services, Social Innovation, Strategic Management, Think out of the box
Recent Comments