เมื่อปี 2564 (ค.ศ.2021) มีประเทศต่างๆ รวม 88 ประเทศได้รับมาตรฐานแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000 ไปใช้เป็นมาตรฐานระดับประเทศ และอีก 17 ประเทศอยู่ในระหว่างดำเนินการรับมาตรฐานไปใช้เป็นมาตรฐานของประเทศตนเองเช่นกัน
มาตรฐานแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000 เป็นมาตรฐานที่มีจุดเด่นในเรื่องของการดำเนินงานที่มีความโปร่งใส สามารถนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยให้แนวทางที่ครอบคลุมเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม ทำให้ธุรกิจและองค์กรต่างๆ สามารถแปลงหลักการทั้ง 7 ข้อไปเป็นการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งวารสาร MASCIInnoversity ได้เคยนำเสนอมาตรฐาน ISO 26000 ผ่านมุมมองต่างๆ มาแล้วหลายครั้ง
สำหรับ MASCIInnoversity ในครั้งนี้ขอนำเสนอมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับประโยชน์ที่โดดเด่นด้านการเงินจากการนำมาตรฐาน ISO 26000 ไปใช้ในประเทศฝรั่งเศส จากผลงานวิจัยร่วมของซัลมา จักรอรุณ, แอนิส เบน อมาร์ และแอนิส จาร์โบอี มหาวิทยาลัยสฟักซ์ ประเทศตูนิเซีย กับ บาสเซม สาลี มหาวิทยาลัยมัจมาห์ ประเทศซาอุดิอารเบีย เรื่อง The impact of ISO 26000 social responsibility standard adoption on firm financial performance Evidence from France ซึ่งได้รับการเผยแพร่ในเว็บไซต์ของรีเสิร์ชเกตเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 (ค.ศ.2020)
งานวิจัยดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างการรับเอามาตรฐาน ISO 26000 ไปใช้กับสมรรถนะทางการเงิน และสำรวจว่าการนำมาตรฐานนี้ไปใช้มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพทางการเงินหรือไม่ โดยมีกลุ่มตัวอย่างคือบริษัทในประเทศฝรั่งเศสที่จดทะเบียนในดัชนี CAC-All-Tradable ในช่วงปี 2553 – 2560 (ค.ศ.2010 – ค.ศ.2017) และใช้วิธีวิจัยคือ Feasible Generalized Least Squares (FGLS)
ผลการวิจัยพบว่าการกำกับดูแลกิจการที่ดีสามารถปรับปรุงผลการดำเนินงานทางการเงินได้ ผลกระทบเชิงบวกนี้ยังสังเกตเห็นได้ในกรณีของแรงงานสัมพันธ์และเงื่อนไข สิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของชุมชน อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถใช้กับสิทธิมนุษยชน แนวทางปฏิบัติที่เป็นธรรม และประเด็นผู้บริโภคได้ เนื่องจากไม่มีความสัมพันธ์ที่มีนัยสำคัญระหว่างมิติเหล่านี้กับประสิทธิภาพทางการเงิน
ผลการวิจัยด้านประสิทธิภาพทางการเงิน พบว่า 1) บริษัทที่มีการกำกับดูแลกิจการในระดับที่สูงกว่าจะมีผลการดำเนินงานทางการเงินที่สูงกว่า 2) บริษัทที่มีสิทธิมนุษยชนในระดับสูงกว่าจะมีผลการดำเนินงานทางการเงินที่สูงกว่า 3) บริษัทที่มีระดับแรงงานสัมพันธ์และเงื่อนไขสูงกว่าจะมีผลการดำเนินงานทางการเงินที่สูงกว่า 4) บริษัทที่มีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในระดับที่สูงกว่าจะมีผลการดำเนินงานทางการเงินที่สูงกว่า 5) บริษัทที่มีแนวทางปฏิบัติที่เป็นธรรมในระดับที่สูงกว่าจะมีผลการดำเนินงานทางการเงินที่สูงกว่า 6) บริษัทที่มีการตอบสนองต่อปัญหาของผู้บริโภคในระดับที่สูงกว่าจะมีประสิทธิภาพทางการเงินที่สูงกว่า 7) บริษัทที่มีส่วนร่วมของชุมชนในระดับที่สูงกว่าจะมีประสิทธิภาพทางการเงินที่สูงกว่า
ในการวิจัยดังกล่าว มีการวิเคราะห์เพิ่มเติมเกี่ยวกับมิติทางสังคมขององค์กรซึ่งแต่ละมิติได้รับการกำหนดโดยอ้างอิงถึงแนวทางมาตรฐาน ISO 26000 ในการวัดมิติเหล่านี้ได้รวบรวมข้อมูลจากรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งเผยแพร่โดยบริษัทต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์คือเพื่อพิจารณาว่าบริษัทใดมีความมุ่งมั่นที่จะรับผิดชอบต่อสังคม และได้ลงทุนในโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือไม่ ซึ่งผลลัพธ์อาจได้รับอิทธิพลจากการนำ GRI (Global Reporting Initiative) มาใช้ อันที่จริงแล้ว แนวทาง GRI ครอบคลุมทุกแง่มุมของความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร โดยพิจารณาจากมุมมองทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม (ตั้งแต่ปี 2558 บริษัทฝรั่งเศสมีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลทางสังคมและสิ่งแวดล้อม)
ผลการวิจัยในเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าบริษัทฝรั่งเศสให้ความสนใจและคำนึงถึงมิติทางสังคมในกิจกรรมของตนเอง ซึ่งในระหว่างปี 2559 ถึง 2560 ผลลัพธ์ดูเหมือนจะคงที่แต่สังเกตได้ว่ามีการปรับปรุงให้ดีขึ้น ซึ่งการกำกับดูแลกิจการที่ดีก็ให้ผลการปฏิบัติงานทางการเงินในระดับสูงเช่นกัน นอกจากนี้ ยังสังเกตเห็นผลกระทบเชิงบวกในกรณีของมิติสิ่งแวดล้อม การปฏิบัติที่เป็นธรรม และการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งผลลัพธ์ก็ยืนยันความได้เปรียบที่ได้รับจากความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ผลการวิจัยยังแนะนำว่าเรื่องนี้อาจเป็นประโยชน์และเป็นที่น่าสนใจสำหรับนักวิจัยหรือนักวิชาการ นักลงทุน และหน่วยงานกำกับดูแลในการนำ ISO 26000 ไปใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพทางการเงิน รวมทั้งมีความเหมาะสมสำหรับนักลงทุนในประเทศต่างๆ ในการนำมาตรฐานแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000 และแนวทางปฏิบัติทางสังคมไปใช้ในกิจกรรมของตนเองด้วย
มาตรฐาน ISO 26000 เป็นหนึ่งในปัจจัยความสำเร็จของธุรกิจที่น่าสนใจซึ่งธุรกิจและองค์กรไม่เพียงแต่จะได้รับประโยชน์จากการเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันได้เท่านั้น แต่ยังมีส่วนทำให้เกิดการพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืน รวมทั้งการปรับปรุงประสิทธิภาพทางการเงินด้วย
ที่มา: 1. https://iso26000sgn.org/news/iso26000-as-a-national-standard/
2. https://bit.ly/3R8xEBc
Related posts
Tags: Financial performance, GRI, ISO, ISO 26000, ResearchGate FGLS, social responsibility, Standardization, Sustainability
Recent Comments