ถึงแม้ว่าคนเราจะต่างชาติต่างภาษากัน แต่บางครั้ง เราอาจพบว่ามีสำนวนบางอย่างที่มีความหมายเหมือนกันอย่างไม่ได้ตั้งใจ เป็นต้นว่า “เวลาและวารีไม่เคยคอยใคร” ซึ่งตรงกับสำนวนอังกฤษที่ว่า “Time and tide wait for no man.” สำนวนนี้ตรงกับสถานการณ์ปัจจุบันของโลกของเราที่กำลังก้าวสู่หัวเลี้ยวหัวต่อเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หมายความว่าโลกของเราไม่อาจรอให้เวลาผ่านไปได้อีกต่อไป มีแต่การลงมือปฏิบัติเท่านั้นที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์อย่างชัดเจนโดยมีการวางเทคโนโลยีด้านสภาพอากาศเป็นหัวใจสำคัญของการประชุม COP 27 ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงเพื่อบรรลุเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2583 (ค.ศ. 2040)
ทั้งนี้ จากการประชุมประจำปี 2565 ของไอเอสโอที่เมืองอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก็มีการบรรยายในหัวข้อเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม ซึ่งตัวแทนจากทั่วทุกมุมโลกต่างเห็นพ้องต้องกันว่าคนทั่วโลกจำเป็นต้องทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรใด หรืออุตสาหกรรมใดก็ตาม โดยมี “มาตรฐาน” เป็นสิ่งที่ช่วยวางรากฐานสำหรับนวัตกรรมในการทำงานร่วมกัน
ในการดำเนินการด้านสภาพอากาศ “เทคโนโลยีใหม่” ได้รับการยอมรับว่าเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น ในขณะที่เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS) ยังคงอยู่ในระยะเริ่มต้น รายงานล่าสุดของ UN IPCC ยอมรับว่าต้องมีการใช้งานในระดับมหาศาลเพื่อชดเชยการปล่อยมลพิษที่ลดได้ยาก
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของข้อตกลงปารีส การดักจับและกักเก็บคาร์บอนเป็นเพียงด้านเดียวที่จำเป็นต้องมีนวัตกรรมอย่างรวดเร็วเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านสภาพอากาศ นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมอื่นๆ สนับสนุนด้วย เช่น การจัดเก็บพลังงานในระดับกริด การผลิตไฮโดรเจนสีเขียว (green hydrogen) และการใช้พลังงานไฟฟ้าของเครื่องบินและเรือ เป็นต้น
เมื่อเทคโนโลยีเหล่านั้นเกิดขึ้น มาตรฐานก็มีบทบาทสำคัญที่จะทำให้ทุกฝ่าย ตั้งแต่ผู้ผลิตและรัฐบาล ไปจนถึงหน่วยงานกำกับดูแลและผู้บริโภค มีความมั่นใจว่าจะสามารถแบ่งปันและเข้าใจได้ถึงคำจำกัดความและคำศัพท์ต่างๆ ร่วมกัน มาตรฐานทำให้มั่นใจได้ว่าเทคโนโลยีเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทนี้ ซึ่งยังคงมีความสำคัญ อย่างไม่เปลี่ยนแปลง มาตรฐานช่วยให้การลงทุน พัฒนา และใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัย
ตัวอย่างเช่น ในประเทศแคนาดา รัฐบาลกำลังแสดงความเป็นผู้นำในการจัดซื้อวัสดุก่อสร้างที่มีคาร์บอนต่ำ รวมถึงผลิตภัณฑ์ซีเมนต์และคอนกรีต บริษัท CarbonCure Technologies Inc. ซึ่งตั้งอยู่ในโนวาสโกเชีย มีภารกิจในการขจัดคาร์บอนไดออกไซด์ในคอนกรีตและลดการปล่อยมลพิษที่เกี่ยวข้องกับวัสดุก่อสร้าง เทคโนโลยีที่ได้รับการจดสิทธิบัตรของบริษัทนี้จะทำการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์อย่างถาวรโดยการฉีดเข้าไปในคอนกรีตในขณะที่ผสม ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์คอนกรีตที่ตรงตามเกณฑ์มาตรฐานหรือสูงกว่าสำหรับคุณภาพและความแข็งแรง ในขณะที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดต้นทุนการผลิตได้ด้วย ยิ่งไปกว่านั้น มาตรฐานที่ยอมให้ใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ฉีดเข้าไปในซีเมนต์ยังได้รับการอ้างอิงในประมวลกฎหมายระดับประเทศ (National Model Construction Codes) เช่นเดียวกับการนำหลักจรรยาบรรณไปใช้ในระดับจังหวัดและในอาณาเขตด้วย (การผลิตคอนกรีตผสมกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อปรับปรุงคาร์บอนฟุตพริ้นท์โดยไม่ลดทอนความแข็งแกร่ง มีผลงานวิจัยซึ่งสามารถศึกษาได้ที่นี่)
จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีใหม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินการด้านสภาพอากาศ แต่หากพูดถึงเรื่องที่ก้าวไกลไปมากกว่าเรื่องของเทคโนโลยี ความพยายามด้านสภาพอากาศต้องการอะไรที่เป็นมากกว่านวัตกรรมทางเทคโนโลยี อันที่จริง เทคโนโลยีจำนวนมาก ตั้งแต่การจับอากาศโดยตรงไปจนถึงไฮโดรเจนสีเขียว เดิมทีไม่ได้มีความต้องการอยู่จริงแต่เป็นเรื่องของนโยบายที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการลงทุนเพื่อการพัฒนา
มาซัมบา จัวเย ผู้แทนของ UNFCCC Global Innovation Hub ได้กล่าวในที่ประชุมไอเอสโอประจำปี 2565 ว่าเมื่อพูดถึงนวัตกรรม ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของเทคโนโลยี แต่ความท้าทายด้านสภาพอากาศและความยั่งยืนนั้นมีความสำคัญมาก เทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะจัดการกับความท้าทายดังกล่าว เราต้องมีแนวทางแบบบูรณาการเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมผสมผสานกับนโยบายที่เป็นนวัตกรรมด้วย รวมไปถึงโมเดลธุรกิจที่เป็นนวัตกรรม โมเดลทางการเงินที่เป็นนวัตกรรมใหม่ และแนวทางการทำงานร่วมกันที่เป็นนวัตกรรมใหม่ เราต้องมีนวัตกรรมทางสังคมและใช้ประโยชน์จากมันให้ได้ เพราะสิ่งนี้คือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนั่นเอง
การคิดเชิงนวัตกรรมจะต้องนำไปใช้โดยรวมในเรื่องเหล่านี้ทั้งหมด เพื่อหาวิธีใหม่และวิธีที่ดีกว่าในการเปิดใช้งานการดำเนินการด้านสภาพอากาศ ตัวอย่างเช่น ในการประชุมไอเอสโอประจำปีดังกล่าว มีการอภิปรายว่าเมืองต่างๆ ควรได้รับอำนาจในการทำหน้าที่เป็น ผู้ให้บริการอย่างครอบคลุมด้านสภาพอากาศมากกว่าที่จะเป็นเพียงผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งไอเอสโอกำลังทำงานร่วมกับเมืองโกยางในเกาหลีใต้เกี่ยวกับแนวทางที่เป็นนวัตกรรมใหม่ในด้านบัญชีคาร์บอนซึ่งช่วยแจ้งข้อมูลความคืบหน้าในการวางแผนการลดคาร์บอน
ในทศวรรษต่อไป นวัตกรรมด้านสภาพอากาศจะทำให้รูปแบบการใช้ชีวิตและการทำงานของเราเปลี่ยนไป เมื่อก้าวไปสู่สิ่งที่ไม่คุ้นเคยด้วยการทดลองเหล่านี้แล้ว มาตรฐานไอเอสโอซึ่งครอบคลุมความพยายามที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ ตั้งแต่ระบบการจัดการพลังงานไปจนถึงการวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (รวมทั้งมาตรฐานเทคโนโลยีนวัตกรรม) จะสามารถให้รากฐานที่มั่นคงและทำให้มั่นใจในแนวปฏิบัติที่ดี และส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ในที่สุด
ที่มา: https://www.iso.org/contents/news/2022/09/top-technologies-for-climate.html
Related posts
Tags: Carbon Capture and Storage (CCS), Climate Change, COP 27, Green hydrogen, Innovation, ISO, Net Zero, Standardization, Technology
Recent Comments