อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในห้องปฏิบัติการทางเคมีของมหาวิทยาลัยบางแห่งในประเทศจีนเมื่อปลายปี 2558 และในปี 2564 เป็นเหตุให้ต้องสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดความตื่นตัวในการยกระดับความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการทางเคมีซึ่งมีการทดสอบตัวอย่างทั้งที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตราย แต่หากไม่มีการจัดการที่ดี จะเกิดความเสี่ยงที่เป็นอันตรายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินตามมา
ทั้งนี้ ในประเทศไทยเราเอง มีมาตรฐานระบบการจัดการความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวกับสารเคมี (มอก.2677-1 ซึ่งไม่ครอบคลุมข้อปฏิบัติเกี่ยวกับสารกัมมันตรังสี และวัตถุชีวภาพ) สำหรับส่งเสริมและพัฒนาระบบการจัดการความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวกับสารเคมีและของเสีย ทำให้มั่นใจในการจัดการที่เหมาะสมและปลอดภัย ไม่เกิดความเสี่ยงอันตรายต่อบุคลากรในห้องปฏิบัติการ ชุมชน และสิ่งแวดล้อม
สำหรับข้อกำหนดของระบบการจัดการความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวกับสารเคมี ประกอบด้วยนโยบายด้านความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ การวางแผนเพื่อลดความเสี่ยง การนำไปใช้และการปฏิบัติให้สอดคล้องกับนโยบายและวัตถุประสงค์ด้านความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ การติดตามตรวจสอบการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องและการประเมินผลการปฏิบัติ และการทบทวนการดำเนินการตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งสรุปประเด็นได้ดังนี้
- นโยบายด้านความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ แผนงาน และความมุ่งมั่นขององค์กรในการดำเนินงานด้านความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและการจัดการด้านความปลอดภัย
- การวางแผนเพื่อลดความเสี่ยงโดยมีมาตรการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติงานโดยดำเนินการตามกฎหมายและข้อกำหนดอื่นที่เกี่ยวข้อง
- การนำไปใช้และการปฏิบัติให้สอดคล้องกับนโยบายและวัตถุประสงค์ด้านความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ เกี่ยวข้องกับโครงสร้าง หน้าที่ ความรับผิดชอบ การจัดการสารเคมี การจัดการของเสีย การเตรียมความพร้อม และตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน การให้ความรู้ และการสร้างจิตสำนึก และการจัดการเอกสาร
- การติดตามตรวจสอบการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องและการประเมินผลการปฏิบัติอย่างน้อยปีละครั้ง ให้ครอบคลุมกรอบการบริหารจัดการความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ โดยต้องนำข้อมูลจากการติดตามตรวจสอบไปใช้ประเมินผลการปฏิบัติ และมีการจัดการข้อบกพร่องอย่างเหมาะสม ตลอดจนมีการบันทึกการดำเนินการดังกล่าวเพื่อนำไปใช้ประกอบการพิจารณาทบทวนการจัดการต่อไป
- การทบทวนการดำเนินการตามระยะเวลาที่กำหนดไว้โดยพิจารณา 2 ประการ คือ ประการแรก ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของระบบการจัดการด้านความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ และประการที่สอง นโยบายด้านความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งบริบทภายในและบริบทภายนอกโดยพิจารณาจากผลการติดตามตรวจสอบ และการประเมินผลการฏิบัติงานด้านความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ
มอก.2677 เป็นมาตรฐานที่นำมาซึ่งความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการทางเคมีที่มีต่อบุคลากรและนักวิจัยที่อยู่ในห้องปฏิบัติการ ชุมชน และสิ่งแวดล้อมโดยรอบด้วย
ที่มา: 1. https://mgronline.com/china/detail/9580000139415
2. https://www.masci.or.th/service/cert-tis2677-1/
ความเห็นล่าสุด