การประชุมใหญ่ของภาคี (COP27) ครั้งที่ 27 ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ที่เมืองชาร์ม เอล-ชีค ประเทศอียิปต์ ซึ่งไอเอสโอและสมาชิกจะร่วมกับผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงระดับโลกเพื่อแสดงให้เห็นมาตรฐานสากลสามารถเปลี่ยนพันธสัญญาด้านสภาพอากาศให้เป็นการปฏิบัติด้วยการให้ภาพรวมและข้อมูลเชิงลึกไปจนถึงส่วนที่กระตุ้นความคิดต่าง ๆ
อันที่จริงแล้ว ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลก จิตสำนึกด้านความยั่งยืนได้เกิดขึ้นมานานแล้ว เห็นได้ชัดจากชีวิตประจำวันของเรา นับตั้งแต่เด็กๆ ที่มีการเรียนรู้เกี่ยวกับความยั่งยืนในโรงเรียน ไปจนถึงความสนใจในการธนาคารสีเขียว และเศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของเมืองและเทคโนโลยีอัจฉริยะ รวมทั้งการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ยังได้ทำให้เราเห็นถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ซึ่งระบบนิเวศของเรามีความเปราะบาง และเป็นไปได้ว่าอาจเกิดโรคร้ายแรงจากสัตว์สู่คนได้อีก ผลกระทบของปัญหาระดับโลกในวงกว้างเช่นนี้ก็มาจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปทั่วโลกนั่นเอง
ความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบส่วนหนึ่งก็มาจากแรงกดดันของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นเรียกร้องให้การดำเนินธุรกิจอย่างมีจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เราจึงเห็นธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและเศรษฐกิจสีเขียวไปทั่วโลก รวมทั้งเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ด้วย อย่างไรก็ตามความมุ่งมั่นในการดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ยังมีเป้าหมายที่วัดได้และมาตรฐานที่เชื่อถือได้อย่างจำกัด ทำให้ไอเอสโอสร้างสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สามารถติดตามและวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม
เป้าหมาย มาตรฐาน และธรรมาภิบาล
“คุณภาพของผู้นำสะท้อนให้เห็นในมาตรฐานที่พวกเขากำหนดไว้สำหรับตนเอง” เป็นคำพูดของเรย์ คร็อก นักธุรกิจชาวอเมริกันชื่อดัง แม้ว่าคร็อกจะเป็นซีอีโอของแมคโดนัลด์ ในช่วงทศวรรษที่ 1960 และ 1970 แต่ความเชื่อมั่นนี้ดูเหมือนจะเป็นคำทำนายที่ถูกต้องในเกือบ 6 ทศวรรษต่อมา
เป้าหมาย มาตรฐาน และการกำกับดูแลเป็นสิ่งที่ต้องมาด้วยกัน ความสามารถในการวัดสิ่งที่มีความซับซ้อน และไม่เป็นรูปเป็นร่างอย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างแม่นยำเป็นสิ่งสำคัญ และจำเป็นต้องมีการพัฒนาตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพการทำงาน มาตรฐานการรายงานสากลตามที่ตกลงกันไว้ ด้วยเหตุนี้เองมาตรฐานสากลที่มีอยู่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเยี่ยม
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่ามาตรฐานยิ่งดีเท่าไร ผลลัพธ์จะยิ่งดีขึ้นเท่านั้น แต่อยู่ที่การนำนโยบายไปใช้โดยอ้างอิงมาตรฐานสากลที่ทำให้บรรลุเป้าหมายสภาพอากาศให้ดีขึ้น มีธุรกิจจำนวนมากที่ได้นำมาตรฐานสากลเหล่านั้นไปใช้เพื่อช่วยวัด จัดการ และประเมินผลเพื่อสนับสนุนให้มีการบรรเทาผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ดีขึ้น
มาตรฐานไอเอสโอช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อน
สำหรับมาตรฐานไอเอสโอเป็นมาตรฐานที่ได้รับความนิยมในหลายอุตสาหกรรมทั่วโลก ไอเอสได้พัฒนามาตรฐานมากกว่า 24,000 ฉบับเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) รวมทั้งการช่วยให้ปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การหาปริมาณก๊าซเรือนกระจก และส่งเสริมการเผยแพร่แนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในการจัดการสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ยังมาตรฐานสากลยังรวมอยู่ในนโยบายระหว่างประเทศ และระเบียบข้อบังคับระดับประเทศด้วย โดยในส่วนของ Net zero guidelines มีการให้คำแนะนำเกี่ยวกับสิ่งที่องค์กรกำกับดูแลและองค์กรอื่นๆ สามารถทำได้เพื่อสนับสนุนความพยายามระดับโลกในการจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียสเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายเป็นศูนย์สุทธิภายในปี 2593 (ค.ศ.2050)
เอกสารดังกล่าวยังให้คำแนะนำเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมที่เท่าเทียมกัน และตระหนักถึงความสามารถขององค์กรแต่ละแห่งในการมีส่วนร่วมในการบรรลุเป้าหมายสุทธิเป็นศูนย์ทั่วโลก ไอเอสโอแนะนำว่าเมื่อนำเอกสารนี้ไปใช้ร่วมกับแนวทางที่อ้างอิงวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ก็จะทำให้องค์กรสามารถกำหนดกลยุทธ์ด้านสภาพอากาศที่มีประสิทธิภาพในการบรรลุเป้าหมายได้
การที่องค์กรทั่วโลกนำมาตรฐานไอเอสโอที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศและ Net zero guidelines ไปใช้ จะเป็นกำลังขับเคลื่อนที่สำคัญในการเร่งดำเนินการด้านสภาพอากาศของโลก และสามารถตอบสอนงต่อภาวะฉุกเฉินด้านสภาพอากาศได้อย่างทันท่วงที
COP 27 ขับเคลื่อนอนาคตโลก
ไอเอสโอทำให้คนทั่วโลกเชื่อมั่นว่า “มาตรฐานสากล” สามารถกำหนดอนาคตของสภาพอากาศได้อย่างมีนัยสำคัญ และในการประชุม COP 27 ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 ไอเอสโอจะเข้าร่วมอภิปรายและแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกเพื่อนำเสนอผลงานที่ทันสมัยด้านมาตรฐานที่สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมทั้งเปิดตัว Net zero guidelines ด้วย
COP27 หมายถึงองค์กรและผู้คนทั่วโลกจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้ทุกประเทศใช้มาตรฐานให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะเราทุกคนต้องการกำหนดอนาคตที่ทำให้ผู้คนสามารถเติบโตได้ในโลกที่ยั่งยืน ยืดหยุ่น ปลอดคาร์บอน และทำงานเพื่อโลกที่ดียิ่งขึ้น
Related posts
Tags: Climate Change, COP 27, ISO, Net Zero guidelines, SDGs, Standardization, Standards, UNFCCC
Recent Comments