เมื่อเดือนตุลาคม 2565 วารสาร MASCIInnoversity ได้นำเสนอ “แนะนำมาตรฐานการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืน” โดยชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่สำคัญประการหนึ่งคือ ทำให้มีการบำรุงรักษา เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และปรับปรุงป่าไม้ที่มีมูลค่าการอนุรักษ์สูง”
ปัจจุบัน ความเสี่ยงต่อความหลากหลายทางชีวภาพในโลกนี้มีมากน้อยเพียงใด จากข้อมูลของ Intergovernmental Science-Policy Platform on Biodiversity and Ecosystem Services ระบุว่า สัตว์และพืชมากกว่า 1 ล้านจาก 8 ล้านสายพันธุ์ทั่วโลกกำลังเผชิญกับการสูญพันธุ์ และ 3 ใน 4 ของพื้นผิวโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากจากกิจกรรมของมนุษย์ ทั้ง ๆ ที่ครึ่งหนึ่งของ GDP โลกขึ้นอยู่กับธรรมชาติซึ่งมีความสำคัญทางสังคมและเศรษฐกิจในวงกว้าง แต่ความหลากหลายทางชีวภาพของเรากำลังถูกคุกคามจากทุกภาคส่วน และส่งผลเสียหายต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อมทั่วโลก
ความหลากหลายทางชีวภาพกำลังลดน้อยลงอันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ส่งผลต่อพืชและสัตว์จำนวนนับไม่ถ้วนรวมถึงมนุษย์ซึ่งทั้งหมดต่างก็พึ่งพาอาศัยกัน นับเฉพาะบนผืนดิน พืชผลราว 1 ใน 3 ของโลกอาศัยแมลงผสมเกสร และนกเพื่อการดำรงอยู่ต่อไป แต่อาหารที่สำคัญอย่างอัลมอนด์ บลูเบอร์รี และเชอร์รีจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีแมลงและนกพวกนั้น และใต้ผืนดินเหล่านี้ มีสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังอย่างไส้เดือนอยู่จำนวนมากที่ช่วยรักษาดินให้มีคุณภาพดี ส่วนแบคทีเรียก็มีบทบาทสำคัญในการปล่อยสารอาหารอย่างไนโตรเจนที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของโปรตีนทั้งหมด
นักวิจัยจากออสเตรเลียและบราซิลพบว่าเราสามารถลดการสูญพันธุ์ได้ถึง 60% โดยการฟื้นฟูระบบนิเวศเพียง 15% ในพื้นที่สำคัญ โดยเฉพาะเอเชีย แอฟริกา อเมริกากลางและอเมริกาใต้ นอกจากนี้ การกระทำดังกล่าวสามารถขจัดคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณหนึ่งในสามที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์นับตั้งแต่เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมหากเรามีความมุ่งมั่นมากขึ้น การฟื้นฟู 30% ของระบบนิเวศของโลกก็จะสามารถป้องกันการสูญเสียสายพันธุ์ได้ประมาณ 70% และดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาได้ครึ่งหนึ่งด้วย
สำหรับหนึ่งในภัยคุกคามเชิงระบบที่ใหญ่ที่สุดต่อความหลากหลายทางชีวภาพก็คือการทำเกษตรกรรมเพื่อแทนที่แหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ เช่น การปลูกพืชเชิงเดี่ยวแทนที่ป่าฝนและทุ่งหญ้าที่อุดมด้วยสายพันธุ์ ในทางกลับกัน เมื่อกิจกรรมดังกล่าวดำเนินไปโดยมีเป้าหมายเพื่อความยั่งยืนและการอนุรักษ์ สิ่งที่จะช่วยได้ คือมาตรฐานด้านการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน (เช่น มาตรฐานของ FSC มาตรฐาน มอก.14061-1) และมาตรฐานสากลด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (เช่น ISO 17298, ISO 17317)
มาตรฐานดังกล่าวช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเศรษฐกิจและระบบนิเวศของเรา รวมทั้งสนับสนุนการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพไปพร้อม ๆ กับการสร้างโอกาสสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน
จะเห็นได้ว่าประเด็นของความหลากหลายทางชีวภาพเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น ในวันแรกของการประชุม COP27 ที่ประชุมจึงได้ชี้ให้เห็นความสำคัญของความยั่งยืนโดยเน้นประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเกี่ยวพันกับปัญหาสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน และเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 เป็นวันที่การประชุม COP ยกระดับให้เป็นวันแห่งความหลากหลายทางชีวภาพโดยมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายของความก้าวหน้าในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และจัดตั้งสถาบันในการดำเนินการเพื่อประเมินมูลค่าของความหลากหลายทางชีวภาพ ให้การอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนในระบบนิเวศทั้งบนบก ในแม่น้ำลำคลอง ชายฝั่งและทางทะเลเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สำหรับไอเอสโอ นำโดยคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 331, Biodiversity กำลังพัฒนาแนวทางเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ด้านความหลากหลายทางชีวภาพโดยเฉพาะ เช่น วิศวกรรมนิเวศวิทยา การแก้ปัญหาตามธรรมชาติ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น โดยมีจุดมุ่งหมายคือเพื่อให้มั่นใจได้ว่าการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในระยะยาวได้มีการผสมผสานข้อกำหนด หลักการ และเครื่องมือสนับสนุนเข้าด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการดำเนินการในลักษณะองค์รวม เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และมีความเป็นสากล
มาตรฐานสากลที่ไอเอสโอกำลังพัฒนาขึ้นจะรวมอยู่ใน 4 หัวข้อ ได้แก่ 1) ภาษาทั่วไป การวัด ข้อมูล การติดตามและการประเมิน 2) การฟื้นฟู การอนุรักษ์ และการป้องกัน 3) องค์กร กลยุทธ์ และ 4) การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยที่เป้าหมายของการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันและหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับข้อตกลงด้านสภาพอากาศของปารีสและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญไอเอสโอจึงได้พัฒนาแผนงานสำหรับมาตรฐานด้านความหลากหลายทางชีวภาพโดยใช้แนวทางที่เป็นเป้าหมายที่จะสนับสนุน SDGs และอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพโดยตรง
เป็นเวลาหลายปีที่วิกฤตสภาพภูมิอากาศและวิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพได้รับการปฏิบัติในฐานะประเด็นที่แยกออกจากกัน แต่ในการประชุม COP 27 ผู้เข้าร่วมประชุมตระหนักดีว่า ไม่มีหนทางใดที่จะจำกัดภาวะโลกร้อนให้เหลือ 1.5 องศาเซลเซียสโดยไม่ต้องปกป้องและฟื้นฟูธรรมชาติอย่างเร่งด่วน ซึ่งหมายความว่าปลายทางของความยั่งยืนนั้นอยู่ที่ความหลากหลายทางชีวภาพนั่นเอง
แม้ว่าผู้แทนทุกคนจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศตนเอง แต่ว่าสถานการณ์ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเลวร้ายมากขึ้นดังที่เราเห็นจากรายงานทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้น ผู้แทนของประเทศต่างๆ จึงเข้าใจดีกว่าจำเป็นต้องแสดงให้เห็นความคืบหน้าที่ไม่ใช่เพียงคำพูด แต่ต้องเป็นการลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังเท่านั้น ซึ่งต่างก็หวังว่าความคืบหน้านั้นจะได้รับการแสดงในการประชุม COP 28 ต่อไป (การประชุม COP 28 กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 12 ธันวาคม 2566 ณ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์)
ที่มา: 1. https://news.un.org/en/story/2022/11/1130677
2. https://www.iso.org/contents/news/2022/11/how-to-save-the-world-water.html
3. https://sdg.iisd.org/events/2022-un-climate-change-conference-unfccc-cop-28/
Related posts
Tags: Biodiversity, COP 27, COP 28, FSC, ISO 17298, ISO 17317, SDGs, Standardization, Standards, Sustainability, TIS 14061
ความเห็นล่าสุด