ในขณะที่ผู้นำประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้มาร่วมประชุม COP27 ระหว่างวันที่ 6- 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2565 ที่เมืองชาร์ม เอล-ชีค ประเทศอียิปต์ มนุษยชาติก็ยังคงเผชิญหน้ากับภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศท่ามกลางคำเตือนจากนักวิทยาศาสตร์และองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่กล่าวว่า ความร่วมมือในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหานี้ยังมีไม่มากพอและไม่เร็วพอ เว้นเสียแต่ว่าจะมีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทันทีและในวงกว้างอย่างรวดเร็วตามที่คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPPC (Intergovernmental Panel on Climate Change) ได้กล่าวไว้
การจำกัดภาวะโลกร้อนให้มีค่าเฉลี่ยใกล้เคียง 1.5 องศาเซลเซียสหรือ 2 องศาเซลเซียส ดูเหมือนจะมีความยากลำบากและไกลเกินเอื้อมซึ่งการเปลี่ยนแปลงในระดับนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากไม่มีความร่วมมือระดับระหว่างประเทศในวงกว้าง ซึ่งต้องมาจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วนนับตั้งแต่รัฐบาลไปจนถึงผู้นำในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ แต่หากมีความร่วมมือระดับโลกแล้วจึงจะมั่นใจได้ว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำนั้นมีความยุติธรรม เท่าเทียม ครอบคลุมทุกประเทศ และไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
ตัวอย่างเช่น ประเทศที่เป็นเกาะเล็ก ๆ มีส่วนทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศเพียงเล็กน้อย และไม่สามารถลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีที่จำเป็น ซึ่งอาจเป็นสัญลักษณ์ของความไม่สมดุลที่กว้างขึ้นด้วย ส่วนประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ก็จำเป็นต้องมีกฎหมายว่าด้วยการดำเนินการและการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น
ดังนั้น ประเทศที่เสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุดควรมีส่วนร่วมมากขึ้นในการกำหนดแนวทางการดำเนินการด้านสภาพอากาศ ซึ่งไอเอสโอมุ่งมั่นที่จะตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องเหล่านั้น แผนปฏิบัติการสำหรับประเทศกำลังพัฒนาจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมที่กว้างขึ้นในการร่างมาตรฐานสภาพภูมิอากาศ
ในทางปฏิบัติ ความต้องการไฟฟ้าทั่วโลกเพิ่มขึ้นเร็วกว่ากำลังการผลิตทดแทนในปัจจุบันซึ่งทำให้เกิดความท้าทายในระดับโลก ซึ่งมีความจำเป็นในการผลิตพลังงานซึ่งไม่ใช่เพียงแค่วิธีที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงวิธีการที่เราจัดการพลังงานด้วย
มีวิธีการบางอย่างที่ทุกองค์กรและทุกภาคส่วนสามารถทำได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องรอเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งก็คือการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อก้าวข้ามความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยสามารถให้ประโยชน์ด้านการเงินและสิ่งแวดล้อมด้วยต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำ เป็นต้นว่า บ้านเรือนในประเทศสหราชอาณาจักรมีการติดตั้งฉนวนเพิ่มเติม ทำให้สามารถประหยัดต้นทุนมากที่สุดในการลดการปล่อยมลพิษในประเทศ หรือโรงแรมฮิลตันซึ่งเป็นธุรกิจการบริการระดับโลกแห่งแรกที่ดำเนินการและได้รับการรับรองตามมาตรฐานการจัดการพลังงาน ISO 50001, Energy management systems – Requirements with guidance for use อย่างเต็มรูปแบบจนสามารถลดความเข้มข้นของพลังงานลง 20% และลดความเข้มข้นของคาร์บอนลง 30%
การดำเนินการของบริษัทเช่นนี้ไม่เพียงแต่เป็นก้าวสำคัญของพันธกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ทางการเงินหรืองบดุลอีกด้วย
ภาพความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นทั่วโลกมีความชัดเจนมากแม้ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ค่อนข้างยากลำบาก แต่ความมุ่งมั่นในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงปรากฏอยู่เสมอในทุกภาคส่วน เพียงแต่ว่าขณะนี้ ทุกองค์กรจะต้องเปลี่ยนจากความมุ่งมั่นไปสู่การลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังเท่านั้น และมาตรฐานสากลที่จะสนับสนุนให้องค์กรสามารถลดการปล่อยมลพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลก็คือ ISO 50001 รวมทั้งมาตรฐานสากลฉบับอื่นที่ส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น ISO 52000 series และ ISO 14000 series เป็นต้น
ที่มา: https://www.iso.org/contents/news/2022/11/fair-and-just-energy-transition.html
Related posts
Tags: Climate Change, energy management, greenhouse gas, ISO 14000 series, ISO 50001, ISO 52000 series, Standardization, Standards, Sustainability
Recent Comments