วารสาร MASCIInnoversity ได้นำเสนอบทความ เรื่อง “น้ำ…กับการจัดการแบบมีส่วนร่วม” “ก้าวข้ามความท้าทายเรื่องคุณภาพน้ำ” และ “ใช้น้ำอย่างมีคุณค่า เนื่องในวันน้ำโลก 2564” มาแล้ว ซึ่งได้กล่าวถึงความสำคัญของน้ำและมาตรฐานเกี่ยวกับการจัดการน้ำที่สำคัญ เช่น ISO 31600, ISO 46001, ISO 20760 และ ISO 16075 series เป็นต้น
สำหรับบทความในครั้งนี้ จะนำเสนอเรื่องราวของน้ำในมิติของความท้าทายที่มีเพิ่มมากขึ้น และมาตรฐานสากลเกี่ยวกับน้ำที่จะทำให้เราสามารถก้าวข้ามความท้าทายนั้น และสามารถใช้น้ำได้อย่างมีคุณค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ดังต่อไปนี้
ปัจจุบัน เรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “น้ำ” มักได้รับความสนใจและตกเป็นข่าวอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่า ธารน้ำแข็งละลาย หรือเรื่องที่กล่าวว่าประชากรจำนวน 1 ใน 3 ที่มีอยู่บนโลกนี้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดได้
ถึงตอนนี้ ผู้คนก็ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายเกี่ยวกับน้ำอย่างมากมาย นับตั้งแต่การมีแหล่งน้ำที่สะอาดและการสุขาภิบาลที่มีประสิทธิภาพ การจัดการน้ำเสียอย่างรับผิดชอบและปลอดภัย การชลประทานอย่างมีประสิทธิภาพ ไปจนถึงการทำให้เกิดของเสียและมลพิษให้น้อยที่สุดเมื่อใช้น้ำในกระบวนการทางอุตสาหกรรม
แนวทางที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมีหลายแนวทาง เช่น การจัดการพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม การแก้ไขปัญหาไมโครพลาสติก การหยุดมลพิษของน้ำใต้ดินและมหาสมุทร การลดปริมาณและฟื้นฟูแหล่งน้ำที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และการต่อต้านของเสียจากน้ำและการใช้น้ำมากเกินไป เป็นต้น
แม้ว่าจะมีแนวทางการแก้ไขปัญหาความท้าทายเกี่ยวกับน้ำ แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งมากขึ้นเกี่ยวกับแหล่งน้ำและการเคลื่อนย้ายประชากรจำนวนมาก องค์กรที่ดูแลเรื่องน้ำขององค์การสหประชาชาติคือ UNWater ได้ประมาณการว่าภายในปี 2573 (ค.ศ.2030) การขาดแคลนน้ำอาจทำให้ผู้คนหลายร้อยล้านต้องพลัดถิ่น เมื่อพิจารณาถึงปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นเช่นนั้น ทศวรรษที่จะดำเนินการเกี่ยวกับน้ำขององค์การสหประชาชาติซึ่งเรียกว่า Water Acton Decade (ระหว่างวันที่ 22 มีนาคม 2561 (ค.ศ.2018) ถึงวันที่ 22 มีนาคม 2571 ค.ศ.2028 ซึ่งตรงกับวันน้ำโลก) จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการตอบสนองต่อความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับน้ำในระดับโลก
เป้าหมายของโลกกับมาตรฐานสากล
จุดยืนที่สำคัญเกี่ยวกับน้ำปรากฏอยู่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 2 ประการขององค์การสหประชาชาติ ได้แก่ SDG6 (การจัดการน้ำและการสุขาภิบาล) และ SDG14 (การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและชีวิตใต้น้ำ) ซึ่งสนับสนุนการจัดการกับความท้าทายเกี่ยวกับน้ำโดยตรง ในขณะที่อีกหลายเป้าหมายได้รับการรวมเข้ากันกับเป้าหมายอีก 15 ประการ เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินการเกี่ยวกับน้ำ ซึ่งในส่วนของไอเอสโอได้นำมาพิจารณาร่วมกับการพัฒนามาตรฐานที่ส่งเสริมเป้าหมายดังกล่าวโดยได้พัฒนามาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับน้ำขึ้นมาหลายร้อยฉบับ
มาตรฐานสากลด้านน้ำ
มาตรฐานไอเอสโอครอบคลุมการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับน้ำเกือบทุกด้าน นับตั้งแต่ข้อกำหนดเฉพาะชั้นสูง เช่น ข้อมูลจำเพาะของผลิตภัณฑ์และประสิทธิภาพของโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ (ท่อ วาล์ว ข้อต่อ ฯลฯ) ไปจนถึงเครื่องมือประเมินคุณภาพน้ำ แนวทางการจัดการน้ำ และมาตรฐานเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ เช่น การสุขาภิบาล ซึ่งเกิดจากการอภิปรายร่วมกันและองค์ความรู้ของผู้เชี่ยวชาญระดับสูง ทำให้มาตรฐานไอเอสโอเป็นตัวแทนของฉันทามติเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขในทางปฏิบัติและแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด
มาตรฐานที่สนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เมื่อภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศใกล้เข้ามา ไอเอสโอก็กำลังก้าวไปอีกขั้นในการพัฒนาชุดมาตรฐานเฉพาะด้านที่สนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับภาคส่วน “น้ำ” ได้แก่ ISO 24566 – 1 และ ISO 24566 – 2 ซึ่งมุ่งเป้าไปที่ระบบสาธารณูปโภคด้านน้ำ มีการระบุและวางหลักการสำหรับการรวมผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ากับการวางแผนและการออกแบบการจัดหาน้ำ งานประเภทนี้มีความสำคัญเนื่องจากสามารถแก้ไขปัญหาที่เพิ่มขึ้นได้ เช่น ความเครียดน้ำ เพื่อให้แน่ใจว่ามีการจัดหาน้ำอย่างต่อเนื่องสำหรับชุมชนในขณะที่มีความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น
โลกของเรามีเครื่องมือมากมายที่ช่วยให้สามารถคาดการณ์ วางแผน และปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เครื่องมือที่เกี่ยวข้องมากที่สุดคือมาตรฐานสากลซึ่งช่วยให้มั่นใจในคุณภาพของผลิตภัณฑ์หรือบริการ ในกรณีมาตรฐานสากลของน้ำ จะครอบคลุมวงจรทั้งหมด ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ ซึ่งก็คือ น้ำดื่ม ไปจนถึงคุณภาพของโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้ในการส่งมอบน้ำ และกระบวนการที่ใช้ในการกำจัดและบำบัดน้ำเสีย
ในสถานการณ์ที่มีการค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำ มาตรฐานสากลมีความสำคัญมากทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับระหว่างประเทศ ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะในระดับรัฐบาลหรือระดับท้องถิ่น รวมถึงผู้ผลิต ธุรกิจ หรือหน่วยงานด้านการพัฒนา สามารถใช้แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดตามมาตรฐานสากลดังกล่าวเพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหาน้ำเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG6 และ SDG14) ได้ต่อไป
ที่มา: 1. https://www.un.org/sustainabledevelopment/water-action-decade/
2. https://www.iso.org/contents/news/2022/11/how-to-save-the-world-water.html
Related posts
Tags: ISO 20760, ISO 24566, ISO 31600, ISO 46001, SDG14, SDG6, Standardization, Standards, UN Water, water, Water Action Decade, Water stress
Recent Comments