เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่สำคัญ 2 ข้อจากทั้งหมด 17 หัวข้อ คือ SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (Sustainable Consumption and Production) และ SDG13 ปฏิบัติการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) ซึ่งการที่โลกของเราจะบรรลุเป้าหมายทั้ง 2 ข้อนี้ได้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและการผลักดันครั้งสำคัญเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง
จะเห็นได้ว่า 70% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในโลกนี้เกี่ยวข้องกับการสกัดวัตถุดิบและการแปรรูปทรัพยากรต่าง ๆ ดังนั้น การเปลี่ยนไปใช้แบบจำลองการผลิตและการบริโภคสินค้าที่ยั่งยืนมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ตัวอย่างเช่น ของเสียอย่างความร้อนและน้ำเสียสามารถนำมาใช้เป็นทรัพยากรที่ช่วยเติมเต็มให้วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์มีความสมบูรณ์ แทนที่จะทิ้งไปหลังจากใช้แล้วซึ่งทำให้มีการใช้งานอย่างคุ้มค่ามากที่สุด
รายงาน Circularity Gap ฉบับปี 2565 (ค.ศ.2022) พบว่ามีการใช้วัสดุหลายแสนล้านตันทุกปี ซึ่งมากกว่า 90% ของวัสดุถูกใช้ไปอย่างสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ และคาทเธอรีน เชอโวเช่ ประธานคณะกรรมการไอเอสโอซึ่งรับผิดชอบในการร่างมาตรฐานสากลฉบับแรกสำหรับเศรษฐกิจหมุนเวียนกล่าวว่า เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่โลกของเราจำเป็นต้องทำ เราไม่มีเวลาให้เสียอีกต่อไปแล้ว รัฐบาล องค์กร หน่วยงาน และทุกคนต้องร่วมมือกันดำเนินการอย่างรวดเร็วและมากพอที่จะขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้ในระยะเวลาอันสั้น
อันที่จริงแล้ว มนุษย์เราบริโภคมากเกินไปและเร็วเกินไป การที่จะเปลี่ยนแปลงจากเศรษฐกิจแบบเดิมไปเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน องค์กรต้องเตรียมพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าเพื่อต่อสู้กับความต้องการที่อาจเกิดขึ้นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่จะดำเนินการแสวงหาผลกำไรในระยะสั้นต่อไปไม่ว่าจะต้องแลกด้วยต้นทุนแบบใดก็ตาม เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืน
คาทเธอรีนกล่าวว่าเรามีความเสี่ยงที่จะทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดของโลกหมดไป แต่เรามีโลกเพียงใบเดียว ถ้าเราเอาแต่หาทางใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าในระหว่างทางโดยไม่ดูที่ต้นทางของการกระทำหรือยังคงทำธุรกิจตามปกติในแบบเดิมๆ ทรัพยากรก็อาจหมดไปเช่นกัน และแม้ว่าจะมีความท้าทายในเรื่องต่าง ๆ อยู่มากมาย แต่โลกของเราก็ยังมีความหวัง ไม่ว่าจะเกิดจากการแทรกแซงด้วยนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค หรือเกิดจากปฏิบัติการในทุกภาคส่วนก็ตาม เช่น นโยบาย Green New Deal ของสหภาพยุโรป ปฏิบัติการด้านความยั่งยืนของภาคเอกชน เป็นต้น
ในขณะเดียวกัน คณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 323, Circular economy ก็กำลังพัฒนาร่างชุดมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเร่งด่วนอีกครั้ง เพื่อพัฒนากรอบการทำงาน แนวทาง เครื่องมือสนับสนุน และข้อกำหนดสำหรับการดำเนินกิจกรรมขององค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมสูงสุดในการพัฒนาอย่างยั่งยืน และแทนที่จะพัฒนาร่างมาตรฐานทีละฉบับ ไอเอสโอจะจัดทำร่างมาตรฐานหลายฉบับไปพร้อมกันโดยใช้เวลา 3 ปีโดยจะเผยแพร่มาตรฐานดังกล่าวภายในต้นปี 2567 (ค.ศ.2024) การพัฒนามาตรฐานเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกด้วยจำนวนที่เพิ่มขึ้นจาก 40 ประเทศ เป็น 85 ประเทศ
การเผยแพร่มาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียนจะเป็นก้าวสำคัญในการเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกที่ยั่งยืนมากขึ้นซึ่งของเสียถูกลดและนำกลับมาใช้ใหม่ ทำให้องค์กรทุกแห่งได้รับข้อมูลที่จำเป็นเพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างจริงจังต่อไป
มาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียนจะได้รับการหยิบยกมาอภิปรายในประเด็นสำคัญอีกครั้งเกี่ยวกับบทบาทของเทคโนโลยีชั้นสูงของระบบดิจิทัลและการใช้พลังงานสะอาดในอุตสาหกรรม 4. 0 เพื่อนำไปสู่อนาคตที่ปราศจากคาร์บอนในการประชุมประจำปีของไอเอสโอ 2566 (ISO Annual meeting 2023) ระหว่างวันที่ 18 – 22 พฤศจิกายน 2565 ที่เมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย
สำหรับประเทศไทย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้พัฒนามาตรฐานระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กร (มตช.2 เล่ม 2–2564) เพื่อให้องค์กรนำไปใช้งาน และมีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
ที่มา: 1. https://www.iso.org/contents/news/2022/11/ambition-for-the-new-economy.html
2. https://www.iso.org/en/home/news/events/iso-annual-meeting-1/speakers.html
Related posts
Tags: Circular Economy, Consumption, Economy, European Green Deal, GHG, SDG12, SDG13, Standardization, Standards, Sustainability
ความเห็นล่าสุด