หนึ่งในหน่วยงานที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อองค์กรทั้งในภาคการผลิตและการบริการ คือ ฝ่ายจัดซื้อ ในอดีตนั้น การจัดซื้อมักเน้นในเรื่องของการลดต้นทุนเป็นหลัก แต่ปัจจุบัน การตัดสินใจซื้อขององค์กร ถูกมองว่าไม่เพียงแต่ส่งผลในด้านการลดค่าใช้จ่ายเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสังคมอีกด้วย ซึ่งหากองค์กรดำเนินการตามแนวทางการจัดซื้ออย่างยั่งยืนแล้ว องค์กรจะได้รับทั้งโอกาสในการเพิ่มมูลค่าจากการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดซื้อ และทำให้โลกของเรามีความยั่งยืนด้วย
ไม่ว่าองค์กรจะซื้ออะไร ซื้อจากใคร หรือแม้แต่วิธีการใช้งานสินค้าและบริการหลังจากซื้อไปแล้ว สามารถส่งผลอย่างมากมายต่อหลายสิ่งหลายอย่างนับตั้งแต่ประสิทธิภาพการทำงาน และความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน ไปจนถึงชื่อเสียงและความสัมพันธ์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ด้วยเหตุนี้ การจัดซื้อขององค์กรจึงมีบทบาทสำคัญในด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและช่วยบูรณาการในระดับการกำกับดูแลด้วย
โดยทั่วไป การจัดซื้อจัดจ้างเป็นส่วนสำคัญของงบประมาณในองค์กร สำหรับภาครัฐเพียงอย่างเดียว คิดเป็นประมาณ 12% ของ GDP และคิดเป็น 29% ของค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในประเทศสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)
องค์กรนำ ISO 20400 ไปใช้เพื่อให้มีการจัดซื้ออย่างยั่งยืน
สำหรับมาตรฐานสากลที่ทุกองค์กรสามารถนำไปใช้ในงานจัดซื้อ คือ ISO 20400, Sustainable procurement – Guidelines ซึ่งมีการให้แนวทางสำหรับองค์กรที่ต้องการบูรณาการความยั่งยืนเข้ากับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง มาตรฐานนี้รองรับการนำมาตรฐาน ISO 26000 ไปใช้เกี่ยวกับแนวทางเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคม และเสริมด้วยการเน้นที่งานการจัดซื้อโดยเฉพาะ
การจัดซื้ออย่างยั่งยืนเป็นกระบวนการจัดซื้อที่มีการตัดสินใจที่ตรงกับความต้องการขององค์กรสำหรับสินค้าและบริการในลักษณะที่ไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อสังคมควบคู่ไปกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ทำให้มั่นใจว่า เงื่อนไขการทำงานของพนักงานของซัพพลายเออร์มีความเหมาะสม ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ซื้อมีความยั่งยืน และสามารถส่งผลไปถึงการแก้ไขปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจด้วย เช่น ความไม่เท่าเทียมกันและความยากจนด้วย
ISO 20400 ให้ประโยชน์ต่อองค์กรในหลายด้าน
การนำ ISO 20400 ไปใช้ ทำให้องค์กรมีส่วนร่วมในเชิงบวกต่อสังคมและเศรษฐกิจด้วยการตัดสินใจจัดซื้ออย่างยั่งยืน และกระตุ้นให้ซัพพลายเออร์และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ทำเช่นเดียวกันด้วย มาตรฐานนี้จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จัดการกับปัญหาสิทธิมนุษยชน และจัดการความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์ ในขณะเดียวกันก็ช่วยในเรื่องการปรับปรุงค่าใช้จ่ายในระยะยาว และประสิทธิภาพการจัดซื้อ ซึ่งจะทำให้องค์กรมีความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างแท้จริง
การใช้มาตรฐานนี้ยังช่วยปรับปรุงการสื่อสารระหว่างผู้รับเหมาและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ส่งเสริมความสัมพันธ์ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ช่วยประสานงานการจัดซื้อด้วยการปรับปรุงความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์ และลดความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทาน เช่น การหยุดชะงักเนื่องจากการเรียกคืนผลิตภัณฑ์หรือความล้มเหลวของซัพพลายเออร์ นอกจากนี้ ISO 20400 ยังเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ต่อการเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และกระตุ้นนวัตกรรมในตลาดด้วย
องค์กรจะเริ่มต้นนำ ISO 20400 ไปใช้ได้อย่างไร
ก่อนเริ่มต้นนำ ISO 20400 ไปใช้ในองค์กร ควรพิจารณาสิ่งที่สำคัญ 4 ประการ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด ประการแรก ตรวจสอบ “วัฒนธรรมการซื้อ” ขององค์กรว่ามีการซื้อจากใคร ซื้ออย่างไร องค์กรสามารถควบคุมความเสี่ยงของซัพพลายเออร์ได้มากน้อยเพียงใด องค์กรมีข้อกำหนดการจัดซื้อที่ชัดเจนหรือไม่ ประการที่สอง รู้จักห่วงโซ่อุปทานขององค์กร เช่น ประเมินต้นทุนของห่วงโซ่อุปทานในองค์กร สัดส่วนรายได้มีการนำไปสู่การจ่ายเงินให้กับซัพพลายเออร์อย่างไร ผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของซัพพลายเออร์คืออะไร ประการที่สาม คิดอย่างมีกลยุทธ์ ด้วยการพิจารณาความเสี่ยงและโอกาสในการทำงานอย่างใกล้ชิดกับซัพพลายเออร์หลักตลอดทั้งวงจรชีวิต ประการสุดท้าย ทำให้ผู้บริหารระดับสูงเห็นด้วยกับแนวคิดของการจัดซื้ออย่างยั่งยืน ตรวจสอบให้มั่นใจว่าผู้มีอำนาจตัดสินใจหลักมีความตระหนักถึงประโยชน์ โอกาส และผลที่อาจเกิดขึ้นจากการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนในองค์กร
องค์กรที่มีแนวทางการดำเนินการอย่างยั่งยืนอยู่แล้ว เช่น การกำหนดจรรยาบรรณสำหรับซัพพลายเออร์ การมีนโยบายจัดซื้อที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน เป็นต้น เพียงแค่นำมาตรฐาน ISO 20400 ไปปรับใช้ในองค์กรร่วมกับแนวทางเดิมที่มีอยู่ก็จะช่วยยกระดับองค์กรให้ได้รับประโยชน์ด้านความยั่งยืนจากการจัดซื้ออย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ที่มา:https://www.iso.org/files/live/sites/isoorg/files/store/en/ISO%2020400_Sustainable_procur.pdf
Related posts
Tags: ISO 20400, ISO 26000, procurement, social responsibility, Standardization, Standards, Supply Chain, Sustainability
Recent Comments