การประชุม COP27 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่ความร่วมมือร่วมใจของคนทั้งโลกเพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศไว้ยังคงดำเนินต่อไป
สำหรับสถานที่จัดการประชุมคือที่เมืองชาร์ม เอล-ชีค ประเทศอียิปต์ เป็นแหล่งที่ตั้งของแนวปะการังที่มีชีวิตต่อเนื่องยาวนานที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และตั้งอยู่บนแถบชายฝั่งทะเลแดงอันที่อยู่อาศัยของแนวปะการังจำนวน 5%ของโลก และมีปะการังมากกว่า 350 ชนิด แต่ก็เช่นเดียวกับแนวปะการังทั่วโลก แนวปะการังบริเวณนั้นกำลังถูกคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นกัน
อันที่จริงแล้ว แนวปะการังเป็นส่วนสำคัญของระบบนิเวศทางทะเลบนโลกของเรา แนวปะการังช่วยปกป้องชายฝั่งจากน้ำท่วม และเป็นแหล่งอาหาร ทำให้เกิดรายได้ และปกป้องคุ้มครองความเป็นอยู่ให้กับผู้คนกว่าครึ่งพันล้านคนทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นและการเกิดกรดในมหาสมุทร เป็นผลมาจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศซึ่งกำลังส่งผลกระทบต่อแนวปะการังทั่วโลก และนำไปสู่ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว ทำให้แนวปะการังทั้งหมดไม่อาจมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ และจากสถิติระหว่างปี 2552 ถึงปี 2561 (ค.ศ.2009 – 2018) โลกของเราได้สูญเสียปะการังไปประมาณ 14 % จากแนวปะการังทั้งหมด คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 11,700 ตารางกิโลเมตร
นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้มองหาวิธีแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยเทคโนโลยี โดยได้รวมตัวกันเปิดบริษัทสตาร์ทอัพ ในชื่อ Archireef เพื่อฟื้นฟูชีวิตใต้ทะเลในแนวปะการังใกล้เกาะฮ่องกง เมื่อปี 2553(ค.ศ.2020) โดยมีผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท คือ วรีโก ยู และเดนิส เทเคียเรก ซึ่งได้อธิบายถึงความท้าทายของปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการประชุม COP 27 ดังต่อไปนี้
นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ได้เริ่มจากการสร้างปะการังเทียมด้วยวิธีการดั้งเดิมอย่างการใช้คอนกรีตบล็อก เหล็กเส้น และโครงพลาสติก แต่ก็เป็นเวลา 4 ปีที่ล้มเหลว พวกเขาพบว่าถ้าไม่เห็นปะการังเทียมหลุดออกมาก็จะเห็นว่าปะการังจริงได้ตายไปแล้ว ต่อมาจึงเริ่มแนวคิดใหม่ที่ว่ามันเป็นปะการังที่ต้องอาศัยวัสดุบางอย่างที่สามารถเข้ากันได้กับตัวปะการังนั่นเอง ซึ่งสิ่งนั้นก็คือความเข้ากันได้ (Compatibility) ของวัสดุ
พวกเขารู้ดีว่าปะการังสามารถเข้ากันได้ดีกับวัสดุธรรมชาติอย่างดินเหนียว แต่สิ่งที่พวกเขาต้องการมากกว่านั้นคือความซับซ้อนเพื่อให้ปะการังสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ สิ่งที่ต้องการต่อมาก็คือราก เพื่อให้สามารถทรงตัวบนพื้นทะเลได้ ทั้ง 3 สิ่งนี้ (ความเข้ากันได้ ความซับซ้อน และราก) เป็นองค์ประกอบที่นำไปสู่การสร้างพิมพ์กระเบื้องแนวปะการังสามมิติเป็นครั้งแรกของโลก โดยมีกระบวนการคือ ข้อมูลทางนิเวศวิทยาที่เปิดเผยต่อสาธารณชนในท้องถิ่นจะถูกป้อนเข้าในอัลกอริธึม แล้วอัลกอริธึมจะกำหนดการออกแบบชั้นบนสุดของวัสดุซึ่งพิมพ์แบบสามมิติด้วยดินเหนียวและติดกับฐานกระเบื้องที่ได้มาตรฐาน
วรีโก ยูกล่าวว่า พวกเขาได้ออกแบบแนวประการังเพื่อป้องกันการสะสมตัวของตะกอน ซึ่งเป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่สำคัญต่อแนวปะการัง กระเบื้องแต่ละแผ่นกว้างประมาณ 50 ซม. และหนักประมาณ 15 กก. พวกเขาเลือกพื้นที่ที่มีชีวิตจำกัด และสุดท้ายก็เลือกพื้นที่พื้นทะเลที่แห้งแล้ง
แม้ว่าแนวปะการังเทียมจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การใช้อัลกอริธึมและการพิมพ์สามมิติก็ช่วยให้สามารถเลียนแบบโครงสร้างตามธรรมชาติของแนวปะการังได้ ซึ่งส่งผลให้สิ่งมีชีวิตในทะเลเติบโตขึ้น
ปัจจุบัน ปะการังเทียมของ Archireef ทำให้มีปะการังมีอัตราการรอดชีวิตสูงถึง 98% ของพื้นที่ที่ทีมได้ติดตั้งแนวปะการัง ในขณะที่วิธีการใช้อัลกอริทึมก็ช่วยให้สามารถปรับขนาดให้เหมาะสมได้อย่างรวดเร็วในหลายพื้นที่
ถึงแม้ว่านวัตกรรมการสร้างปะการังเทียมด้วยการพิมพ์ 3 มิติจะช่วยชีวิตปะการังไว้ได้ แต่สุดท้ายแล้ว สิ่งเดียวที่จะช่วยแนวปะการังทั่วโลกได้รวมทั้งช่วยให้ระบบนิเวศทั้งหมดบนโลกนี้อยู่รอดได้อย่างสมดุลก็คือ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั่นเอง
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่สนใจนำระบบการจัดการต่าง ๆ ไปใช้เพื่อร่วมกันลดภาวะโลกร้อน สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.masci.or.th/, https://www.masci.or.th/service/climate-change-services/ และ https://www.masci.or.th/service/corsia-verification-service/
ที่มา: 1. https://unfccc.int/blog/coral-20
2. https://unfccc-events.azureedge.net/COP27_87831/agenda
Related posts
Tags: 3D Technology, Achireef, climate action, COP 27, coral reefs, ecosystem, Innovation, Sharm el-Sheikh
Recent Comments