รหัสยืนยันตัวตนทางกฎหมายหรือ LEIs (Legal Entity Identifier) ได้รับการสร้างขึ้นหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2551 เพื่อระบุธุรกิจและนิติบุคล ทำให้มีการทำธุรกรรมอย่างปลอดภัย และภาคการเงินสามารถดำเนินงานได้อย่างโปร่งใส โดยผลพวงของวิกฤตในครั้งนั้นทำให้ภาคการเงินได้เรียนรู้ว่าการทำงานในภาคส่วนนี้มีความซับซ้อนของผลิตภัณฑ์ หน่วยงาน และกลไกทางการเงินบางอย่างที่ส่งผลให้เกิดความยุ่งยาก ใช้เวลานาน และมีต้นทุนสูงในการระบุตัวนิติบุคคลหรือธุรกิจทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางการเงิน และในทางกลับกัน หากเกิดการฉ้อฉลหรือใช้ตลาดไปในทางที่ไม่ถูกต้อง ก็ทำให้การคำนวณความเสี่ยงทางการเงินทำได้ยากด้วย
รหัสยืนยันตัวตนทางกฎหมายนี้ใช้ได้กับทุกประเทศและทุกภาคส่วน ช่วยลดความคลุมเครือของเครือข่ายการเงินที่เชื่อมต่อถึงกันทั่วโลก ทำให้ Global LEI System ได้ถือกำเนิดขึ้นและได้มีการนำ LEI ไปใช้เป็นครั้งแรกในปี 2555 ภายใต้การสนับสนุนของกลุ่มประเทศ G20
LEI กับความโปร่งใส
LEI มีประโยชน์มาในเรื่องของความชัดเจน ส่วนการมีตัวระบุบางอย่างที่เปรียบเสมือนลายนิ้วมือทางการเงินจะถูกจัดสรรให้กับแต่ละธุรกิจที่สมัครเข้าร่วมโครงการ รหัสตัวอักษรและตัวเลข 20 อักขระนี้ถูกสร้างขึ้นตามมาตรฐานสากล
ISO 17442 และมีข้อมูลเกี่ยวกับ Entity เช่น ชื่อและความเป็นเจ้าของ สำหรับ LEI สามารถตรวจสอบได้ฟรีกับฐานข้อมูลสาธารณะคือ Global LEI Index
หลังจากใช้ LEI มาแล้ว 10 ปี ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคการเงิน ได้เห็นแล้วว่า LEI มีคุณค่าและมีความจำเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากภาคการเงินได้เผชิญกับความไม่แน่นอนอีกครั้งหลังจากโลกได้เผชิญกับการระบาดใหญ่ เงินเฟ้อ ความวุ่นวายทางการเมือง รวมทั้งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนี้ นวัตกรรมใหม่ของอุตสาหกรรมอย่างสกุลเงินดิจิทัล ยังทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือและการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้น ในบริบทเช่นนี้ ความโปร่งใสยิ่งมีความสำคัญมากกว่าที่เคยเป็นมาซึ่ง LEI สามารถช่วยในเรื่องนี้ได้
การใช้ LEI ในรายงานทางการเงิน
ปัจจุบัน หน่วยงานของสหรัฐอเมริกาและยุโรปได้กำหนดให้บริษัทต่างๆ ใช้ LEI ในการรายงานทางการเงิน และเป็นข้อบังคับสำหรับทุกบริษัทที่ซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่ง LEI ช่วยให้ระบุหน่วยงานทางการเงินได้ง่ายขึ้นในการตั้งค่าต่างๆ ที่ไม่เพียงแต่การทำธุรกรรมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเริ่มต้นใช้งานลูกค้า การรายงานการปฏิบัติตามข้อกำหนด และการตรวจสอบความเสี่ยง การใช้ LEI ยังหมายถึงข้อมูลทางการเงินที่มีคุณภาพสูงขึ้นและแม่นยำยิ่งขึ้นด้วย ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในด้านการประเมินความเสี่ยง การระบุแนวโน้ม และการดำเนินการแก้ไข การวิจัยจาก McKinsey ยังแสดงให้เห็นว่า LEIs ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของภาคการธนาคารทั่วโลกได้ถึง 4 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี
เมื่อมองไปยังอนาคต นวัตกรรมทางเทคโนโลยีอาจทำให้การใช้งานง่ายกว่าที่เคยเป็นมา เช่น LEI ที่ทวนสอบได้ หรือ“verifiable” LEI (vLEI) ซึ่งเป็นฉบับดิจิทัลใหม่ของ LEI ที่ช่วยให้ยืนยันตัวตนได้โดยอัตโนมัติทั้งหมด ทำให้ประหยัดเวลาและลดข้อผิดพลาดของมนุษย์ลงได้
มาตรฐานสำหรับการเงินที่ยั่งยืน
ปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ภาคการเงินเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นจากการใช้ LEIs แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจในอนาคตที่ยั่งยืนด้วย ซึ่งจำเป็นอาศัยข้อมูลที่ชัดเจนและถูกต้องเพื่อรับมือกับภัยคุกคามที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศและเปิดรับโอกาสต่างๆ ด้วย
ภาคการเงินมีบทบาทสำคัญในการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่การเงินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่จะเกี่ยวข้องกับความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนจากประเทศพัฒนาแล้วเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับการนำไปสู่แผนการดำเนินงานด้านการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศด้วย ซึ่งเกี่ยวพันกับประเด็นต่าง ๆ ในการดำเนินการอีกมากมาย เช่น การลดต้นทุนของการกู้ยืมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การปรับแนวคิดใหม่เกี่ยวกับหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศสำหรับประเทศกำลังพัฒนา การคำนวณค่าชดเชยสำหรับการสูญเสียและความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการรับประกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความเที่ยงธรรม เป็นต้น และเพื่อที่จะจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ทั้งหมดนี้ LEIs สามารถมีบทบาทในการดำเนินงานเพื่อปรับปรุงความโปร่งใสทางการเงินและการใช้งานข้อมูลทางการเงินที่แม่นยำยิ่งขึ้น
ไอเอสโอยังได้พัฒนามาตรฐานฉบับอื่นสำหรับการเงินที่ยั่งยืนด้วย เช่น ISO 32210, Sustainable finance – Guidance on the application of sustainability principles for organizations in the financial sector และ ISO 14093 ในขณะที่มาตรฐาน LEI ของไอเอสโอสามารถลดแรงเสียดทาน ความเสี่ยง และความคลุมเครือในตลาดโลกได้ ด้วยเหตุนี้ มาตรฐานไอเอสโอจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมให้ภาคการเงินสามารถต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้
ที่มา: https://www.iso.org/contents/news/2022/12/sustainable-future-economies.html
Related posts
Tags: G20, ISO 14093, ISO 32210, ISO 17442, LEIs, Standardization, Standards, Sustainable finance
Recent Comments