จากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 27 (COP27) ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองชาร์ม เอล-ชีค ประเทศอียิปต์ ระหว่างวันที่ 6-18 พฤศจิกายน 2565 พบว่าที่ประชุมให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาวิกฤติธรรมชาติที่สำคัญ 10 ประเด็นเป็นลำดับแรก ดังต่อไปนี้
1. การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปโครงสร้างทางการเงินเพื่อธรรมชาติและสภาพภูมิอากาศ ดังเป็นที่ทราบกันดีว่าเรื่องการเงินเป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศให้ประสบความสำเร็จ แต่คำว่า “การเงิน” มีความหมายที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ในปี 2565 นี้ ทั่วโลกให้ความสนใจอย่างมากเกี่ยวกับการปฏิรูปโครงสร้างของระบบการเงิน ตลอดจนความจำเป็นในการสร้างกลไกที่เป็นนวัตกรรมใหม่เพื่อสนับสนุนให้เกิดผลสำหรับธรรมชาติและสภาพภูมิอากาศในระดับประเทศและในระบบนิเวศ ยกตัวอย่างเช่น โครงการปฏิบัติการเพื่อกำจัดการตัดไม้ทำลายป่าในภาคการเงินหรือ FSDA (Finance Sector Deforestation Action) ซึ่งสมาชิกพยายามดำเนินการเพื่อลดการตัดไม้ทำลายป่าลง
2. ความสนใจที่ขยายเป็นวงกว้างจาก COP15 ในประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพ แม้ว่าหลายประเทศจะผลักดันให้รวมเรื่องเกี่ยวกับการลดก๊าซเรือนกระจกจากการประชุม COP15 ไว้ใน COP27 แต่ความพยายามก็ไม่ประสบผลเท่าใดนัก เนื่องจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์นั้นไม่เพียงพอที่จะจำกัดอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รัฐบาลทั่วโลกจำเป็นต้องหยุดและฟื้นฟูการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพให้ได้ภายในปี 2573 (ค.ศ.2030) จึงจะเห็นผลอย่างชัดเจน
3. สัญญาณที่ชัดเจนของเจตจำนงทางการเมืองเพื่อป่าไม้ เห็นได้จากความร่วมมือของผู้นำป่าไม้และสภาพภูมิอากาศ หรือ FCLP (Forest and Climate Leaders’ Partnership) ซึ่งประกาศในการประชุม COP 27 ทำให้เราตระหนักว่าต่อไปนี้จะไม่มีเวลาให้เสียอีกต่อไปแล้วหากต้องการหยุดและฟื้นฟูการสูญเสียป่าให้ได้ภายในปี 2573 (ค.ศ.2030) ซึ่งผู้นำของประเทศสมาชิก FCLP 28 ประเทศก็มีบทบาทหลักและแสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนเกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการทำลายป่าไม้และการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ
4. การดำเนินการตามคำมั่นสัญญาเรื่องป่าไม้ มีตัวอย่างความคิดริเริ่มที่จะส่งเสริมการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนของภาคเอกชนในเรื่องนี้ ได้แก่ การเปิดตัวของบริษัท 5 แห่ง (Suzano, Santander, Itau Unibanco, Robobank Group และ Vale) เพื่อทำการฟื้นฟูพื้นที่ป่าอเมซอน ป่าฝนแอตแลนติก และป่าเซอร์ราโด จำนวน 4 ล้านเฮกตาร์ นอกจากนี้ องค์กรของสภาเศรษฐกิจโลก (WEF) ที่มีชื่อว่า 1t.org ก็ได้ประกาศคำมั่นสัญญาจากบริษัทอินเดีย 4 แห่งแรก (Vedanta, ReNew Power, CSC Group และ Mahindra) ร่วมกับบริษัทอื่นๆ อีก 75 บริษัททั่วโลกที่มุ่งมั่นที่จะปลูกและปลูกต้นไม้ 7 พันล้านต้นในกว่า 60 ประเทศ
5. การเจรจาเพื่อตัดสินใจแก้ปัญหาเกี่ยวกับธรรมชาติและระบบนิเวศ ประเด็นปัญหานี้ได้มีการอภิปรายอย่างครอบคลุมในการประชุม COP27 เป็นครั้งแรกซึ่งป่าไม้ มหาสมุทร และเกษตรกรรมลวนแล้วแต่มีส่วนสำคัญยิ่งต่อการ
แก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน เช่น การหารือด้านอาหารและเกษตรกรรมของโครงการ Koronivia Joint Work on Agricultureของ FAO ภายใต้ UNFCCC เพื่อลดปัญหาภาวะโลกร้อนไปพร้อม ๆ กับก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเด็นอื่นด้วย (ได้แก่ การยุติความหิวโหย การแก้ไขปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารและภาวะทุพโภชนาการ การทำให้ป่าไม้ การพาะปลูกและการประมงมีความยั่งยืน) อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกต่างจับตามองการประชุม COP28 ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าเพื่อร่วมกันเปลี่ยนแปลงระบบอาหารให้ได้อย่างแท้จริง
6. ความจำเป็นของการใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับธรรมชาติ ในปี 2565 นี้ การใช้แนวทางการแก้ไขปัญหาให้กับธรรมชาติด้วยการใช้ “เทคโนโลยี” เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ มีตัวอย่างของการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหานี้ให้เห็นอยู่มากมาย เช่น ความร่วมมือระหว่างบริษัท Verra กับ Pachama เพื่อนำร่องแพลตฟอร์มการวัด รายงาน และการตรวจสอบคาร์บอนป่าไม้ แบบดิจิทัล โดยมีการประกาศความร่วมมือด้านข้อมูลป่าไม้แนวใหม่โดย WRI, FAO, USAID, Google, NASA, Unilever และกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ร่วมกัน และมีโครงการ Land and Carbon Lab ของสถาบันทรัพยากรโลก (WRI) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงโฉมหน้าใหม่ของการวัดปริมาณคาร์บอนและการใช้ที่ดิน
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นหลักอีก 4 ประเด็น ได้แก่ 7) วาระสำคัญเรื่องอาหาร 8) COP สีน้ำเงินที่เข้มขึ้น 9) ชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น 10) โครงการใหม่ๆ ที่ริเริ่มจากทางประเทศในทวีปแอฟริกา ซึ่งจะนำเสนอในบทความครั้งต่อไปค่ะ
ที่มา: https://www.weforum.org/agenda/2022/11/10-key-takeaways-cop27-nature-critical-role/
Related posts
Tags: COP15, COP27, Environmental Management, FAO, FCLP, Sustainability Management, WEF, WRI
Recent Comments