วารสาร MASCIInnoversity ได้นำเสนอบทความ เรื่อง “2565 ปีตัดสินชะตา “เรื่องต้องรู้ 10 ประเด็นหลักจาก COP27” ตอนที่ 1” ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้รับจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 27 (COP27) จัดขึ้นที่เมืองชาร์ม เอล-ชีค ประเทศอียิปต์ ระหว่างวันที่ 6-18 พฤศจิกายน 2565 ที่ประชุมนี้ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาวิกฤติธรรมชาติที่สำคัญ 10 ประเด็น โดยได้กล่าวถึง 6 ประเด็นแรก ดังต่อไปนี้
1) การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปโครงสร้างทางการเงินเพื่อธรรมชาติและสภาพภูมิอากาศ 2) ความหลากหลายทางชีวภาพ COP15 ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก 3) สัญญาณที่ชัดเจนของเจตจำนงทางการเมืองเพื่อป่าไม้ 4) การดำเนินการตามคำมั่นสัญญาเรื่องป่าไม้ 5) การเจรจาเพื่อตัดสินใจแก้ปัญหาเกี่ยวกับธรรมชาติและระบบนิเวศ และ 6) ความจำเป็นของการใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับธรรมชาติ สำหรับประเด็นหลักที่เหลืออีก 4 ประเด็น มีดังต่อไปนี้
7. วาระสำคัญเรื่องอาหาร ในการประชุม COP27 เรื่องของ“อาหาร” เป็นสิ่งที่ทุกคนคิดถึงและเป็นครั้งแรกที่เรื่องของอาหารได้กลายเป็นวาระหลัก และได้รับการยอมรับจากผู้เข้าร่วมประชุมในที่สุด โดยจอห์น คัมปารี ผู้นำระดับโลกด้านแนวทางปฏิบัติด้านอาหารขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ได้กล่าวไว้ว่า “เราสามารถเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้ แต่เราไม่สามารถเลิกใช้อาหารได้ ดังนั้น เราต้องเปลี่ยนแปลงระบบของอาหาร” ซึ่งการพัฒนาด้านอาหารที่สำคัญ ได้แก่ โครงการริเริ่มด้านอาหารและการเกษตรเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน หรือ FAST (Food and Agriculture for Sustainable Transformation initiative) ที่เปิดตัวโดยประธานการประชุม COP ในประเทศอียิปต์ โครงการนี้เป็นความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่ายเพื่อเร่งการเข้าถึงทางการเงิน สร้างขีดความสามารถ และสนับสนุนการพัฒนานโยบายเพื่อรับประกันความมั่นคงด้านอาหารในประเทศที่เสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด
8. COP สีน้ำเงินที่เข้มขึ้น ผู้สังเกตการณ์ได้แสดงการสนับสนุนและให้กำลังใจว่าการประชุม COP 27 มีความเป็นสีน้ำเงิน (หมายถึงมหาสมุทรหรือทะเล) เพิ่มมากขึ้น เช่น การเรียกร้องให้มีการยอมรับบทบาทขั้นพื้นฐานของมหาสมุทรในระบบของสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ อียิปต์ เยอรมนี และ IUCN ยังได้เปิดตัวโครงการริเริ่ม ENACT (Enhancing Nature-based Solutions for an Accelerated Climate Transformation), การพัฒนาป่าชายเลนเปิดตัวของ Global Mangrove Alliance ร่วมกับ UN Climate Change High-level Champions เพื่อปกป้องป่าชายเลน 15 ล้านเฮกตาร์ทั่วโลกภายในปี 2030 (ค.ศ.2573) และการประกาศหลักการและแนวทางคาร์บอนสีน้ำเงินคุณภาพสูง (High Quality Blue Carbon Principles and Guidance) โดยองค์กรที่เกี่ยวข้องร่วมกัน เพื่อให้มั่นใจว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับคาร์บอนสีน้ำเงินมีส่วนร่วมในตลาดอย่างมีประสิทธิภาพและตรงไปตรงมา
9. ชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น ชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น (IPLCs) มีบทบาทในฐานะผู้พิทักษ์ผืนป่าแต่ไม่อาจเข้าถึงกองทุนด้านสภาพภูมิอากาศได้ แต่การประชุม COP27 ก็เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถแบ่งปันความรู้และรับฟังซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราจำเป็นต้องดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน แต่สิ่งสำคัญคือต้องใช้เวลาในการสร้างความไว้วางใจและความเข้าใจซึ่งกันและกัน รวมถึงการปฏิบัติตามระเบียบการให้ความยินยอมล่วงหน้าและที่ได้รับการบอกกล่าวโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้ IPLC สามารถตัดสินใจได้ว่าจะเข้าร่วมในตลาดคาร์บอนหรือไม่ และหากจะเข้าร่วมก็จะเป็นไปด้วยความโปร่งใส มีความเข้าใจอย่างเต็มที่ และได้รับความยินยอมอย่างเสรี ซึ่งก็ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ
10. โครงการด้านความยั่งยืนใหม่ๆ ที่ริเริ่มจากประเทศในทวีปแอฟริกา ในการประชุม COP 27 มีการประกาศสำคัญหลายฉบับที่มาจากอียิปต์ซึ่งเน้นย้ำถึงศักยภาพของทวีปแอฟริกาในการเป็นแหล่งทุนพลังงานจากธรรมชาติ เช่น การเปิดตัวโครงการริเริ่มตลาดคาร์บอนในแอฟริกา (Africa Carbon Markets Initiative) การประกาศสำหรับโครงการริเริ่มสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยั่งยืนของแอฟริกา(Africa Sustainable Commodities Initiative) การเปิดตัวกองทุนฟื้นฟูแอฟริกา (African restoration fund) มูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์ การสนับสนุนเงินทุนสำหรับโครงการกำแพงสีเขียว (Great Green Wall) ที่มีวิสัยทัศน์ของแอฟริกา และการประกาศความร่วมมือใหม่ของ Global EverGreening Alliance และ Climate Impact Partners ในโครงการกำจัดคาร์บอนจากธรรมชาติและแนวทางที่นำโดยชุมชนทั่วแอฟริกาและเอเชียซึ่งมีมูลค่า 330 ล้านดอลลาร์ เป็นต้น
จาก 10 ประเด็นหลักดังกล่าวซึ่งการประชุม COP 27 ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาวิกฤติธรรมชาติ เป็นเรื่องที่น่าติดตามว่าโลกของเราจะสามารถบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากน้อยเพียงใด ในขณะที่เราคงต้องรอติดตามไปพร้อม ๆ กันจากการประชุม COP 28 ซึ่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะเป็นเจ้าภาพจัดงานระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ที่เมืองดูไบ
ที่มา: https://www.weforum.org/agenda/2022/11/10-key-takeaways-cop27-nature-critical-role/
Related posts
Tags: BLUE COP, COP15, COP27, ENACT, Environmental Management, FAST, Food, IPLCs, IUCN, Sustainability Management
ความเห็นล่าสุด