วารสาร MASCIInnoversity ได้นำเสนอบทความ เรื่อง “สำเร็จอย่างยั่งยืนด้วยมาตรฐานการจัดการนวัตกรรม” ซึ่งได้นำเสนอมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการนวัตกรรมหลายฉบับรวมทั้ง ISO 56002 ที่ช่วยให้องค์กรสามารถสร้างนวัตกรรมได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสำเร็จได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น เนื่องจากองค์กรยุคใหม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการทำงานให้สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ และปัจจัยสำคัญของการเติบโตอย่างยั่งยืนก็คือความสามารถขององค์กรในการสร้างนวัตกรรมนั่นเอง
ความสามารถด้านนวัตกรรมขององค์กรนั้นรวมถึงความสามารถในการเข้าใจและตอบสนองต่อเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงไปของบริบท แสวงหาโอกาสใหม่ ๆ และใช้ประโยชน์จากความรู้และความคิดสร้างสรรค์ของคนภายในองค์กร และร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก ซึ่งองค์กรจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้นเมื่อกิจกรรมที่จำเป็นทั้งหมดและองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกันได้รับการจัดการอย่างเป็นระบบ
มาตรฐาน ISO 56002, Innovation management – Innovation management system – Guidance เป็นมาตรฐานที่ให้แนวทางปฏิบัติเพื่อให้องค์กรทุกประเภทสามารถนำไปประยุกต์เป็นแนวทางในการจัดทำ รักษา และพัฒนาแนวปฏิบัติในการจัดการนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ สามารถพัฒนาและก้าวไปสู่การเป็นองค์กรนวัตกรรมจนกระทั่งประสบความสำเร็จในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ บริการ กระบวนการ และรูปแบบธุรกิจใหม่
มาตรฐาน ISO 56002 มีหลักการที่เป็นสาระสำคัญจำนวน 8 ประการ ได้แก่ 1) การสร้างคุณค่า (realization of value)
2) ผู้นำที่มุ่งสู่อนาคต (future-focused leaders)3) ทิศทางกลยุทธ์ (strategic direction) 4) วัฒนธรรม (culture)
5) การใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึก (exploiting insights) 6) การจัดการความไม่แน่นอน (managing uncertainty)
7) การปรับปรุงเปลี่ยนแปลง (adaptability) 8) การมุ่งเน้นระบบ (systems approach)
สำหรับข้อกำหนดของมาตรฐาน ISO 56002 ในสาระสำคัญ 7 ข้อ ได้แก่ 1) บริบทองค์กร ซึ่งต้องมีการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกองค์กร 2) บทบาทของผู้นำ ซึ่งต้องกำหนดวิสัยทัศน์ด้านนวัตกรรมขององค์กร และแสดงให้เห็นถึงภาวะความเป็นผู้นำในระบบการจัดการนวัตกรรมผ่านการกำหนดนโยบายและวัตถุประสงค์ด้านนวัตกรรม และสนับสนุนทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อให้มีประสิทธิผล 3) การวางแผน ซึ่งต้องพิจารณาถึงบริบทขององค์กร และความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และระบุความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในทุกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสร้างนวัตกรรม 4) การสนับสนุน ซึ่งองค์กรต้องจัดสรรทรัพยากรในด้านบุคลากร เวลา องค์ความรู้ การเงิน และโครงสร้างพื้นที่ที่เพียงพอและเหมาะสมต่อระบบการจัดการนวัตกรรม 5) การปฏิบัติการ ซึ่งองค์กรต้องมีแผนการดำเนินการและการควบคุมสำหรับการริเริ่มกระบวนการ โครงสร้าง และการสนับสนุนความต้องการที่มีการระบุโอกาสเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ 6) การประเมินสมรรถนะ ซึ่งต้องกำหนดตัวชี้วัด วิธีการสำหรับการตรวจติดตามและเกณฑ์ในการตรวจวัด มีการตรวจประเมินภายในและการทบทวนของฝ่ายบริหาร และ 7) การปรับปรุง ซึ่งต้องชี้เบี่ยงความเบี่ยงเบน ความไม่สอดคล้องที่เกิดขึ้น กำหนดวิธีการและทำการแก้ไขเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพและผลลัพธ์ของระบบการบริหารจัดการนวัตกรรม
มาตรฐานการจัดการนวัตกรรม ISO 56002 สามารถช่วยให้บริษัทและองค์กรดำเนินการนวัตกรรมได้อย่างรวดเร็วและเป็นระบบ ทำให้องค์กรสามารถตัดสินใจและดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งความเป็นพลวัตในโลกธุรกิจเกิดขึ้นอยู่เสมอ การที่องค์กรมีเครื่องทุ่นแรงในการจัดการนวัตกรรมอย่างมาตรฐาน ISO 56002 จะทำให้สามารถปรับตัวได้เร็ว พร้อมเผชิญหน้ากับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่เสมอ รวมทั้งสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันด้วย
ที่มา: 1. https://intelligence.masci.or.th/certified/iso-560022019/
2. https://www.iso.org/obp/ui/#iso:std:iso:56002:ed-1:v1:en
Related posts
Tags: Culture, Innovation, Innovation Management, ISO, ISO 56002, standard, Standardization, Strategy
ความเห็นล่าสุด