ปัจจุบัน ธุรกิจและองค์กรต่าง ๆ กำลังเตรียมความพร้อมเพื่อรับมืออนาคตแห่งความไม่แน่นอน และสิ่งหนึ่งที่องค์กรจำเป็นต้องทำคือการยกระดับความรู้ความสามารถของบุคลากร ทั้งที่เป็นการต่อยอดจากองค์ความรู้เดิม และปรับเปลี่ยนไปพัฒนาและความรู้ใหม่ ๆ ซึ่ง “การจัดการองค์ความรู้” เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้องค์กรรับมือกับการเปลี่ยนแปลงตามบริบทต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และยังเป็นหนึ่งในปัจจัยแห่งความสำเร็จในการบรรลุวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ด้วย
เพื่อให้องค์กรสามารถนำการจัดการองค์ความรู้ไปใช้ได้อย่างเป็นระบบ ไอเอสโอจึงได้พัฒนามาตรฐานการจัดการองค์ความรู้ ISO 30401, Knowledge Management Systems ขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทางสำหรับองค์กรที่ดำเนินการจัดการความรู้ สามารถสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับองค์กร โดยอาศัยเครื่องมือการจัดการความรู้ และเป็นพื้นฐานสำหรับการตรวจสอบรับรองประเมินผลและรับรององค์กรที่มีความสามารถด้านการจัดการความรู้โดยผ่านหน่วยงานตรวจสอบภายในและหน่วยงานภายนอกที่เป็นที่ยอมรับ
สำหรับองค์กรที่ได้นำมาตรฐานระบบคุณภาพ ISO 9001 ไปใช้อยู่แล้ว การต่อยอดไปสู่การใช้มาตรฐาน ISO 30401 สามารถทำได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยในมาตรฐาน ISO 9001 ข้อ 7.1.6 ความรู้องค์กร (Organizational Knowledge) ระบุว่าองค์กรคววรกำหนดความรู้ที่จำเป็นสำหรับการดำเนินงานตามกระบวนการ และเพื่อให้สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์และบริการ ความรู้นี้ก็ควรจะได้รับการรักษาไว้และทำให้มีอยู่ตามขอบเขตที่จำเป็น เมื่อมีการระบุความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงและแนวโน้ม องค์กรควรจะพิจารณาความรู้ในปัจจุบัน และพิจารณาวิธีการทำให้ได้มาหรือเข้าถึงความรู้เพิ่มเติมที่จำเป็นด้วย
มาตรฐาน ISO 30401 ประกอบด้วยข้อกำหนดและแนวทางสำหรับการสร้าง ดำเนินการ รักษา ทบทวน และปรับปรุงระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพสำหรับการจัดการความรู้ในองค์กร ซึ่งองค์กรทุกประเภท ทุกขนาด สามารถนำไปใช้งานได้
มาตรฐาน ISO 30401 มีหลักการระบบการจัดการความรู้รวม 8 ข้อ ดังนี้
1) ธรรมชาติของความรู้ ความรู้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถจับต้องได้ มีความซับซ้อน และคนเป็นผู้สร้างความรู้
2) คุณค่า ความรู้เป็นทรัพยากรที่สำคัญและมีมูลค่าสำหรับองค์กรในการทำให้องค์กรบรรลุวัตถุประสงค์ได้
3) การมุ่งเน้น การจัดการความรู้สามารถตอบสนองเป้าหมาย กลยุทธ์ และความต้องการขององค์กรได้
4) การปรับใช้ วิธีการจัดการความรู้ขึ้นอยู่กับบริบทองค์กร องค์กรต้องพัฒนาวิธีการจัดการความรู้ของตนเองให้สอดคล้องกับบริบทองค์กรของตนเอง
5) ความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกัน การจัดการความรู้ควรมีการปฏิสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างคน การใช้เนื้อหา กระบวนการและเทคโนโลยี
6) สภาพแวดล้อม การจัดการความรู้ต้องมุ่งเน้นไปที่การจัดการสภาพแวดล้อมการทำงาน และการดูแลวงจรชีวิตของความรู้
7) วัฒนธรรมองค์กร วัฒนธรรมองค์กรมีผลต่อประสิทธิภาพการจัดการความรู้เป็นอย่างมาก วัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การคิด การแสดงความเห็น และการทำงาน จะส่งผลต่อการจัดการความรู้โดยตรง
8) จุดเน้นย้ำ การจัดการความรู้ควรแบ่งการดำเนินงานเป็นระยะ (Phase) ให้สอดคล้องกับระบบการเรียนรู้ขององค์กร
องค์กรที่มีการจัดทำระบบคุณภาพ ISO 9001 แล้ว สามารถต่อยอดและเพิ่มคุณค่าให้องค์กรได้ด้วยการนำมาตรฐาน ISO 30401 ไปใช้ตามหลักการระบบดังกล่าวเพื่อช่วยให้องค์กรสามารถพัฒนาระบบที่สนับสนุนการสร้างคุณค่าผ่านความรู้โดยได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายบริหาร รวมทั้งมีเครื่องมือวัดผลคือตัวชี้วัดที่จะประเมินประสิทธิภาพของระบบได้เป็นอย่างดี
ท่ามกลางสถานการณ์โลกอันผันผวนเช่นนี้ ไม่มีอะไรดีไปกว่าการเตรียมรับมือกับอนาคตแห่งความไม่แน่นอนด้วยการพัฒนาบุคลากรและองค์กร และมาตรฐาน ISO 30401 เป็นหนึ่งในเครื่องมือบริหารจัดการที่สามารถช่วยองค์กรให้ดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิผล
ที่มา: 1. https://www.iso.org/standard/68683.html
2. https://intelligence.masci.or.th/certified/iso-30401-2018/
3. https://www.nstda.or.th/home/knowledge_post/iso-30401/
Related posts
Tags: Culture, ISO, ISO 30401, Knowledge Management, Organizational development, Organizational values, standard, Standardization, Strategy, uncertainty
Recent Comments