“เมืองอัจฉริยะ” เป็นเมืองแห่งอนาคตที่มีผู้คนกล่าวขานถึงและประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้วางแผนเพื่อก้าวสู่อนาคตมานานนับสิบปีแล้วเนื่องจากต้องใช้ทรัพยากรและเวลาเป็นจำนวนมากซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม หรือเทคโนโลยี และ “เมืองอัจฉริยะ” ยังเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นจำนวนมากด้วย
ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและความพยายามเป็นอย่างสูง แต่ปรากฏว่าเมื่อ 14 ปีที่แล้ว (พ.ศ.2552 หรือ ค.ศ.2009) เมืองอัมสเตอร์ดัมได้กลายเป็นผู้นำเมืองอัจฉิรยะแห่งแรกของโลก ในขณะเดียวกัน เมืองใหญ่หลายแห่งทั่วโลกก็กำลังพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะเช่นกัน
โตเกียวและกรุงเทพมหานครเป็นเมืองใหญ่ท่ามกลางเมืองทั่วโลกที่ได้วางแผนและดำเนินการเพื่อก้าวไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะแล้ว สำหรับประเทศญี่ปุ่นมีการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ “คะชิวะโนฮา สมาร์ท ซิตี้” ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองคะชิวะ จังหวัดชิบะ และยังมีโครงการที่เรียกว่า Tokyo Bay eSG Project ซึ่งถือเป็นเมืองต้นแบบของอนาคต อยู่ในบริเวณชายฝั่งอ่าวโตเกียวด้วย โดยคะชิวะโนฮา สมาร์ท ซิตี้ เกิดขึ้นจากการสร้างวิสัยทัศน์แห่งอนาคตภายใต้แนวคิดหลัก 3 ประการ ได้แก่ การพึ่งพาอาศัยกันทางสิ่งแวดล้อม สุขภาพและการมีชีวิตที่ยืนยาว และการสร้างสรรค์อุตสาหกรรมใหม่ ๆ ซึ่งเป็นแหล่งรวมของสตาร์ทอัพ ส่วนโครงการโตเกียวเบย์อีเอสจีมุ่งเน้นการใช้เทคโลยีใหม่ เช่น ลดความแออัดของการจราจร ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มการผลิตพลังงานสะอาด เป็นต้น
สำหรับประเทศไทย ได้มีแนวคิดการสร้างเมืองอัจฉริยะเช่นกัน เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2560 ได้มีการจัดตั้ง “สำนักงานเมืองอัจฉริยะ” ขึ้นภายใต้การกำกับดูแลของ “สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล” (DEPA/ดีป้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมุ่งขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศตามแนวทางการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเมื่อต้นเดือนมกราคม 2566 ดีป้าได้ดำเนินการมอบตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะประเทศไทย ปี 2565 แก่ 15 ผู้พัฒนาเมืองที่ได้รับการประกาศรับรองเป็นพื้นที่เมืองอัจฉริยะ ครอบคลุมการให้บริการประชาชนกว่า 16 ล้านคน เช่น เทศบาลนครเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมืองน่านสู่เมืองอัจฉริยะ โคราชเมืองอัจฉริยะ และนครระยองเมืองอัจฉริยะและน่าอยู่ เป็นต้น
ความเป็นเมืองอัจฉริยะและความเป็นเมืองแห่งอนาคตทั้งของโตเกียวและกรุงเทพมหานคร รวมทั้งเมืองใหญ่อื่นๆ มีประเด็นหลักร่วมกันที่ต้องนำมาพิจารณาดำเนินการ ซึ่งทั้งสองเมืองนี้ได้รับการวางแผนไว้เป็นอย่างดีโดยได้กำหนดพื้นที่และเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน และอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัย สามารถใช้ทรัพยากรร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เมืองมีการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนในมิติที่ครอบคลุม สำหรับประเด็นหลักในการพิจารณาสร้างเมืองอัจฉริยะ ได้แก่
- เทคโนโลยีหรือนวัตกรรม ครอบคลุมการเป็นเมืองอัจฉริยะ เช่น Mobilityและ Big Data ความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล กับโครงสร้างพื้นฐานของเมืองไม่ว่าจะเป็นการสาธารณูปโภค การจราจร หรือการขนส่งสาธารณะ เป็นต้น
- สิ่งแวดล้อม ไม่เพียงแต่เรื่องของทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมพลังงานสะอาด การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจนกระทั่งก้าวสู่ Net-Zero รวมไปถึงมุมมองของโอกาส ความเสี่ยงและอันตรายต่าง ๆ ที่ส่งผลความยั่งยืนด้วย
- สังคม วัฒนธรรม และพลเมือง เกี่ยวข้องกับมิติที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพชีวิตทั่วไป สุขภาพ ความปลอดภัย ความสัมพันธ์ของคนในชุมชน รายได้มวลรวมประชาชาติต่อหัว อายุคาดเฉลี่ย (Life Expectancy) หรือโอกาสทางการศึกษาและการทำงาน
- เศรษฐกิจ เกี่ยวข้องกับระดับของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ นับตั้งแต่ระดับนโยบายเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูล การลงทุนและการเติบโตของเมืองอัจฉริยะ ไปจนถึงเรื่องความมั่นคงปลอดภัย และความยืดหยุ่น
- การเมือง รวมทั้งการกำกับดูแล ธรรมาภิบาล และกฎหมายเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของเมืองอัจฉริยะ เช่น กฎหมายเทคโนโลยีดิจิทัล กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม และความสมดุลระหว่างการปกป้องข้อมูลกับเสรีภาพส่วนบุคคล เป็นต้น
โตเกียวและกรุงเทพมหานครเป็นเพียงส่วนหนึ่งของตัวอย่างเมืองอัจฉริยะแห่งอนาคตของประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย ยังมีเมืองอีกจำนวนมากที่พร้อมจะก้าวไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ ซึ่ง“มาตรฐานสากล” จะมีส่วนสำคัญในการสร้างเมืองอัจฉริยะได้ครอบคลุมทุกประเด็นหลักอย่างมีประสิทธิผล
ผู้สนใจมาตรฐานสากลเพื่อเมืองอัจฉริยะสามารถติดตามอ่านได้ในบทความ MASCIInnoversity เรื่อง “มาตรฐานสากลเพื่อเมืองอัจฉริยะ” และศึกษาได้จากเว็บไซต์ของไอเอสโอ
ที่มา: 1. https://www.depa.or.th/th/smart-city-plan
2. https://www.statista.com/statistics/1233774/smart-cities-ranking-government-worldwide/
Related posts
Tags: Bangkok, ISO, Smart cities, standard, Standardization, Sustainable Cities, Sustainable communities, Tokyo
ความเห็นล่าสุด