ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นระบบที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อขจัดของเสีย ลดการใช้ทรัพยากร และเพิ่มมูลค่าของวัสดุ มาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียนจึงเป็นมาตรฐานที่ให้กรอบแนวทางและข้อแนะนำในการนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กรเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิผล รวมทั้งช่วยสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย
สำหรับประเทศไทย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้พัฒนามาตรฐานระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กร หรือ มตช.2 -2564 (Circular Economy Management System for Organizations – Part 2: Requirements) เพื่อให้องค์กรสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
มาตรฐาน มตช.2-2564 ระบุข้อกำหนดสำหรับการดำเนินการระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนในองค์กร มีโครงสร้างของมาตรฐานเช่นเดียวกับมาตรฐานที่เป็นระบบการจัดการ เช่น ISO 9001 ISO 14001 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่องค์กรในประเทศไทยมีการประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลาย และใช้ในการประเมินความสอดคล้อง แล้วขอรับการรับรองจากหน่วยรับรอง (certification body) หรือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ลูกค้า ทำการยืนยันความสอดคล้องพิจารณา หรือองค์กรทำการพิจารณาและประกาศด้วยตนเอง (Self-declaration) ก็ได้
มาตรฐาน มตช.2-2564 เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับองค์กรทุกประเภททุกขนาดที่นำมาตรฐานไปปฏิบัติ โดยทำให้ลดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนสุทธิของการผลิต ทำให้ใช้วัสดุและพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้สามารถสร้างนวัตกรรมและแหล่งรายได้ใหม่ รวมทั้งขยายการเติบโตไปยังตลาดเกิดใหม่ด้วย นอกจากนี้ ยังทำให้สามารถปรับปรุงความสัมพันธ์กับลูกค้า มีโอกาสที่จะสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าได้มากขึ้น และทำให้องค์กรได้รับประโยชน์จากการลดการพึ่งพาการนำเข้าหรือจัดหาวัตถุดิบปฐมภูมิใหม่ๆ ด้วย
ปัจจุบัน องค์กรมีเครื่องมือหลายอย่างที่จะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานที่คำนึงถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม มาตรฐาน มตช.2 -2562 เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพที่มีส่วนสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งทุกองค์กรสามารถนำไปใช้และขอรับการรับรองได้ และจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการจัดการด้านทรัพยากรอย่างคุ้มค่าซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจขององค์กร และช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปพร้อมกันด้วย
ที่มา: https://www.masci.or.th/service/nac-no-2-2/
Related posts
Tags: Circular Economy, Climate Change, ISO, NAC No.2-2, standard, Standardization, Sustainable Development
Recent Comments