นับตั้งแต่มีการยกเลิกมาตรการการแพร่ระบาด COVID-19 เป็นต้นมา ภาคส่วนโลจิสติกส์ก็ได้มีส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2564 คิดเป็น 7.7 กิกะตันของคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้น 8% (ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยรวมของโลกอยู่ที่ที่ 35 กิกะตัน) ซึ่งภาคส่วนโลจิสติกส์ถือเป็นภาคส่วนที่มีส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มากกว่า 1 ใน 3 ของโลกอยู่แล้ว และเป็นภาคส่วนที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นจำนวนมาก
สำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของวิกฤตการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ซึ่งภาคส่วนโลจิสติกส์ได้มีส่วนในการปล่อยมลพิษทั่วโลกดังที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้น จึงสามารถมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่อนาคตที่ลดการปล่อยคาร์บอนได้มากขึ้นเช่นเดียวกับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ในการบรรลุเป้าหมายสุทธิเป็นศูนย์ของโลก ภาคส่วนโลจิสติกส์จำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซลงประมาณ 20% หรือน้อยกว่า 6 กิกะตันภายในปี 2573 (ค.ศ.ซึ่งอุตสาหกรรมโลจิสติกส์เองก็มีความตั้งใจที่จะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนผ่านสู่โลกปลอดคาร์บอนที่เป็นธรรม มีสุขภาพดี และมีความยืดหยุ่น โดยภาคส่วนโลจิสติกส์ได้มีความมุ่งมั่นที่จะลงมือทำบางอย่างเพื่อลดคาร์บอนดังปรากฎในแนวทางดำเนินการที่มีชื่อว่า End-to-End GHG Reporting of Logistics Operations ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนมกราคม 2566
มีข้อมูลล่าสุดชี้ให้เห็นว่าหลายประเทศกำลังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งมีบริษัทโลจิสติกส์หลายแห่งได้ตั้งเป้าหมายก้าวสู่ Net-Zero ภายในปี 2593 (ค.ศ.2050) หรือเร็วกว่านั้น
สำหรับกลุ่มพันธมิตรที่เน้นห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งครอบคลุมรูปแบบการขนส่งที่หลากหลาย กำลังลดความซับซ้อนลงโดยให้ผู้ขนส่งมีส่วนร่วมในการลดคาร์บอนด้วย ยกตัวอย่างเช่น Smart Freight Center (SFC) ได้ช่วยบริษัทข้ามชาติทำการตรวจสอบ รายงาน และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และในที่สุด SFC ก็ได้สร้างกรอบความร่วมมือที่เรียกว่า Global Logistics Emissions Council (GLEC) Framework ให้บริษัทข้ามชาติกว่าร้อยแห่งได้ใช้ GLEC Framework เพื่อเปิดเผยการปล่อยมลพิษด้านโลจิสติกส์ และที่สำคัญคือเป็นส่วนสำคัญที่ไอเอสโอนำมาพิจารณาในการพัฒนามาตรฐานฉบับใหม่ คือ ISO 14083, Greenhouse gases – Quantification and reporting of greenhouse gas emissions arising from transport chain operations และทั้งหมดนี้ได้มีการนำมาเปิดตัวในการประชุมประจำปีของ World Economic Forum (WEF 2023) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2566
แนวทางใหม่ดังกล่าวสามารถสนับสนุนอุตสาหกรรมโลจิสติกส์บนเส้นทางสู่การปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ โดย ISO 14083 ครอบคลุมทั้งการขนส่งผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าซึ่งช่วยให้มั่นใจถึงแนวทางอุตสาหกรรมทั่วไปสำหรับการคำนวณและการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ และมีภาคผนวกที่ให้แนวทางเฉพาะภาคส่วนในประเด็นต่างๆ เช่น ประเภทของเรือ ค่าความเข้มของมลพิษเริ่มต้น และตัวอย่างการคำนวณการทำงานสำหรับการขนส่งภายในทางน้ำ ซึ่งช่วยเสริมข้อกำหนดของมาตรฐานหลัก เป็นต้น
ผู้เข้าร่วมประชุม WEF 2023 จึงได้รับทราบข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับวิธีที่บริษัทต่างๆ สามารถทำความเข้าใจและติดตามการปล่อยมลพิษทางโลจิสติกส์ได้ดีขึ้น โดยแนวทางใหม่ดังกล่าวมีความเหมาะสมและตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการลดคาร์บอนฟุตพริ้นต์ของภาคส่วนโลจิสติกส์ทั้งหมดโดยที่ให้คำแนะนำครอบคลุมทั้งหมดตั้งแต่ซัพพลายเออร์ไปจนถึงลูกค้า นอกจากนี้ ยังช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมทั่วโลกที่มีความพยายามดำเนินการด้านสภาพอากาศให้สามารถนำแนวทางไปใช้งานได้จริงอย่างมีประสิทธิผล และสามารถสนับสนุนกลยุทธ์การลดคาร์บอนของบริษัทหรือองค์กรด้วย
ที่มา: 1. https://www.iso.org/contents/news/2023/01/a-net-zero-logistics-sector.html
2. https://www.smartfreightcentre.org/en/iso-standard-building-on-glec-framework/
Related posts
Tags: Carbon Emission, carbon footprint, Climate Change, greenhouse gas, ISO14083, Logistics, standard, Standardization, Strategy Management, WEF
Recent Comments