บทความ MASCIInnoversity ในครั้งที่แล้ว ได้นำเสนอเรื่อง “มาตรฐานใหม่ “ISO14083” ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกในภาคส่วนโลจิสติกส์” ซึ่งได้กล่าวถึงความพยายามของภาคส่วนโลจิสติกส์ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมุ่งสู่เป้าหมายสุทธิเป็นศูนย์ โดยบริษัทข้ามชาตินับร้อยแห่งได้นำ GLEC Framework ไปใช้เพื่อเปิดเผยการปล่อยมลพิษด้านโลจิสติกส์ และกรอบการดำเนินงานนี้ยังเป็นส่วนสำคัญที่ไอเอสโอนำมาพิจารณาในการพัฒนามาตรฐานฉบับใหม่ คือ ISO 14083 ด้วย สำหรับบทความในครั้งนี้ จะกล่าวเน้นถึงบทบาทในการดำเนินการเพื่อมุ่งสู่ Net-Zero ของภาคส่วนโลจิสติกส์ดังต่อไปนี้
โลกยอมรับว่าภาคส่วนโลจิสติกส์มีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจโลกของเรา และที่ผ่านมาก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงกิจกรรมนี้ได้ เช่น ในแต่ละปี ทั่วโลกมีการขนส่งสินค้าหลายพันล้านตันด้วยรถบรรทุก เครื่องบิน เรือ และรถไฟ จากข้อมูลของนักวิจัยจาก Massachusetts Institute of Technology Supply Chains Initiative พบว่าการขนส่งนี้คิดเป็น 8% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก และคิดเป็น 11% หากรวมคลังสินค้าและท่าเรือเข้าไปด้วย
จากเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตในเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา ทำให้คาดว่าจะมีความต้องการขนส่งสินค้าทั่วโลกเพิ่มขึ้น 3 เท่าภายในปี 2593 (ค.ศ.2050) ซึ่งจะเพิ่มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่งสินค้าขึ้นเป็น 2 เท่า และแม้ว่าภาคพลังงานอื่นๆ จะลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลง แต่การขนส่งสินค้าเกือบทั้งหมดยังคงใช้น้ำมันและก๊าซ ซึ่งหากมีการดำเนินธุรกิจตามปกติ การขนส่งสินค้าก็จะกลายเป็นภาคส่วนที่ปล่อยมลพิษสูงสุดภายในปี 2593
เมื่อเรานึกถึงการขนส่งสินค้า จะพบว่าก๊าซเรือนกระจกไม่ได้เป็นปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่อุปกรณ์การขนส่งยังปล่อยคาร์บอนแบล็คมากกว่า 20% ของโลกด้วย คาร์บอนแบล็คนี้เป็นมลพิษทางสภาพอากาศที่มีอายุสั้นอันทรงพลัง เราต่างเคยเห็นกลุ่มควันสีดำที่ออกมาจากท่อไอเสียของรถบรรทุกมาแล้ว มันคือคาร์บอนแบล็คนั่นเอง การปล่อยก๊าซเหล่านี้อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงตามมาได้หากเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ผู้คนอยู่อาศัย
นอกจากนี้ คาร์บอนแบล็คยังเชื่อมโยงกับการละลายอย่างรวดเร็วของพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็ง เช่น ธารน้ำแข็งหรือน้ำแข็งในทะเล เป็นต้น เนื่องจากคุณสมบัติของคาร์บอนแบล็คในการดูดซับแสงและแผ่ออกเป็นความร้อน สามารถทำให้พื้นผิวหิมะหรือน้ำแข็งมีสีเข้มขึ้น ส่งผลต่อความสมดุลของพลังงานและนำไปสู่การเร่งให้เกิดการละลายของธารน้ำแข็ง หิมะปกคลุม และน้ำแข็งในทะเล
ดังนั้น ภาคส่วนโลจิสติกส์จึงต้องการมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และกุญแจสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็คือ การติดตามคาร์บอนที่ปล่อยออกมาในระหว่างดำเนินกิจกรรมนั่นเอง ซึ่งจำเป็นต้องรู้ว่ามลพิษนั้นมาจากไหนเพื่อจัดการมลพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ภาคส่วนโลจิสติกส์ได้นำ GLEC Framework ไปใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในขณะที่ไอเอสโอก็ได้พัฒนามาตรฐาน ISO 14083, Greenhouse gases – Quantification and reporting of greenhouse gas emissions arising from transport chain operations ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนให้ภาคส่วนโลจิสติกส์สามารถติดตามการปล่อยมลพิษทางโลจิสติกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โซฟี ปุนเต ผู้ก่อตั้ง Smart Freight Centre กล่าวว่าการพัฒนามาตรฐาน ISO 14083 เป็นขั้นตอนสำคัญในการสร้างความน่าเชื่อถือของระเบียบวิธีของ GLEC และส่งเสริมการยอมรับทั่วโลก รวมทั้งการประยุกต์ใช้อย่างสม่ำเสมอโดยรัฐบาล นักลงทุน และบริษัทข้ามชาติ เนื่องจากกรอบการทำงานของ GLEC และมาตรฐาน ISO 14083 จะช่วยให้สามารถคำนวณและรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกได้อย่างคงเส้นคงวา และหากผนวกเข้ากับเทคโนโลยีบล็อกเชน ภาคส่วนโลจิสติกส์ก็จะสามารถทำให้เกิดการปฏิวัติด้านความโปร่งใสได้เป็นอย่างดี
มาตรฐาน ISO 14083 จะช่วยเพิ่มความสอดคล้องระหว่างบัญชีของบริษัทและองค์กรกับบัญชีของภาครัฐสำหรับการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้เกิดความโปร่งใส และยังเป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้มั่นใจในแนวทางปฏิบัติที่ภาคส่วนนี้ดำเนินการอยู่แล้วรวมทั้งมาตรฐานสากล ISO 14083 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ด้วย รวมทั้งมีส่วนทำให้ภาคส่วนโลจิสติกส์สามารถต่อสู้เพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่งในอนาคตด้วย
ที่มา: 1. https://www.iso.org/contents/news/2023/01/a-net-zero-logistics-sector.html
2. https://climate.mit.edu/explainers/freight-transportation
Related posts
Tags: Carbon Emission, Climate Change, Economy, greenhouse gas, ISO14083, Logistics, standard, Standardization, Strategy Management
Recent Comments