บทความ MASCIInnoversity เรื่อง “สร้างสังคมที่ยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน” ได้นำเสนอความสำคัญของแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนซึ่งช่วยให้มีการนำทรัพยากรและพลังงานต่างๆ ไปใช้อย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพมากที่สุดโดยมีแรงผลักดันจากภัยคุกคามของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นโยบายของรัฐบาลทั่วโลก และความต้องการขององค์กรและสังคมที่ต้องการให้การผลิตและการบริโภคคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้น ทำให้ไอเอสโอต้องการช่วยให้ธุรกิจองค์กรทั่วโลกสามารถประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และวางแผนเพื่อดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับบทความในครั้งนี้ จะกล่าวถึงสิ่งที่จะช่วยสนับสนุนให้มาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียนได้รับความเชื่อมั่นและความไว้วางใจได้มากขึ้นซึ่งได้แก่การประเมินความสอดคล้องตามมาตรฐาน ISO/IEC 17000 Series ดังต่อไปนี้
เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจองค์กรสามารถนำมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไอเอสโอจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 323, Circular Economy เพื่อพัฒนามาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียนในด้านกรอบการทำงาน แนวทาง เครื่องมือ และข้อกำหนดของการนำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับองค์กรทั้งหมดไปใช้ เพื่อมีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้ครอบคลุมเศรษฐกิจหมุนเวียนมากที่สุด โดยข้อกำหนดของไอเอสโอยังครอบคลุมถึงความยั่งยืนในห่วงโซ่มูลค่าของโลก เช่น การค้า แรงงาน สุขภาพ และสิทธิมนุษยชน เป็นต้น
นอกจากนี้ เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีความมั่นใจในมาตรฐานด้านความยั่งยืนและมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน ไอเอสโอยังได้ให้ความสำคัญกับการประเมินความสอดคล้องซึ่งเป็นเครื่องมือที่แสดงให้เห็นว่ามาตรฐานเหล่านั้นเป็นไปตามข้อกำหนดอย่างแท้จริงซึ่งทำให้ตลาดเกิดความไว้วางใจและความมั่นใจได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
สำหรับกิจกรรมการประเมินความสอดคล้อง มีการดำเนินการโดยหน่วยงานที่ทำการประเมินความสอดคล้อง ซึ่งเรียกว่า Conformity Assessment Bodies: CABs ซึ่งมักจะมีการแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ตามกิจกรรมหรือขอบเขต และความเป็นอิสระ ในส่วนของความเป็นอิสระ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
- กิจรรมสำหรับบุคคลที่สาม เป็นกิจกรรมความสอดคล้องที่ดำเนินการโดยองค์กรที่เป็นอิสระซึ่งไม่ขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการและไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับผู้ขอรับการรับบริการแต่อย่างใด
- กิจกรรมสำหรับบุคคลที่สอง เป็นกิจกรรมการประเมินความสอดคล้องที่ดำเนินการโดยหน่วยงานที่มีความสนใจในผู้ให้บริการ
- กิจกรรมสำหรับบุคคลที่หนึ่ง เป็นกิจกรรมการประเมินความสอดคล้องที่ดำเนินการโดยผู้ให้บริการนั้นเอง
- เพื่อให้แน่ใจว่าหน่วยงานที่ทำการประเมินความสอดคล้อง (CABs) นั้น มีความสามารถและเชื่อถือได้ หน่วยงานเหล่านั้นจำเป็นต้องพึ่งพามาตรฐานในชุด ISO/IEC 17000 (ISO/IEC 17000 Series) สำหรับการประเมินความสอดคล้อง (เรียกว่า CASCO Toolbox) โดยมีข้อกำหนดสำหรับความสามารถ ความเป็นกลาง และการดำเนินงานที่สอดคล้องกัน ซึ่งไปใช้เป็นพื้นฐานเพื่อความน่าเชื่อถือของ CABs
กิจกรรมการประเมินความสอดคล้องในส่วนของกิจกรรมหรือขอบเขต แบ่งออกเป็น 5 ประเภทหลัก ดังนี้
- การทดสอบ (Testing) เป็นกระบวนการที่ใช้ในการกำหนดคุณลักษณะของรายการทดสอบหรือตัวอย่าง (เป้าหมายของการประเมินความสอดคล้อง) ตามขั้นตอน สำหรับข้อกำหนดสำหรับห้องปฏิบัติการทดสอบและสอบเทียบได้มีการระบุไว้ในมาตรฐาน ISO/IEC 17025 ซึ่งช่วยให้ห้องปฏิบัติการสามารถแสดงให้เห็นว่าห้องปฏิบัติการเหล่านั้นมีความสามารถทางเทคนิค มีความเป็นกลาง และมีความสามารถในการแสดงผลลัพธ์ที่ถูกต้องและเชื่อถือได้อย่างสม่ำเสมอ
- การตรวจสอบ (Inspection) เป็นการตรวจสอบรายการ (เป้าหมายของการประเมินความสอดคล้อง) และการกำหนดความสอดคล้องตามข้อกำหนดโดยละเอียดหรือตามการตัดสินอย่างมืออาชีพซึ่งมีข้อกำหนดทั่วไป ข้อกำหนดสำหรับหน่วยงานตรวจสอบตามที่ระบุไว้ในมาตรฐาน ISO/IEC 17020
- การตรวจสอบความใช้ได้ (Validation) เป็นการตรวจสอบยืนยันว่าข้อมูลที่ประกาศเป็น “การอ้างสิทธิ์” (เป้าหมายของการประเมินความสอดคล้อง) มีความเป็นไปได้เกี่ยวกับการใช้งานในอนาคต ข้อกำหนดสำหรับหน่วยงานตรวจสอบความถูกต้องได้มีการระบุไว้ในมาตรฐาน ISO/IEC 17029
- การทวนสอบ (Verification) เป็นการตรวจสอบยืนยันว่าข้อมูลที่ประกาศเป็น “การอ้างสิทธิ์” (วัตถุประสงค์ของการประเมินความสอดคล้อง) ได้รับการระบุไว้ตามความเป็นจริง ข้อกำหนดสำหรับหน่วยตรวจสอบได้มีการระบุไว้ในมาตรฐาน ISO/IEC 17029
- การรับรอง (Certification) เป็นการยืนยันความสอดคล้องโดยบุคคลที่สามที่เป็นอิสระจากผู้ขอรับการรับอรง ข้อกำหนดสำหรับหน่วยรับรองได้มีการระบุไว้ในมาตรฐาน ISO/IEC 17021-1 (สำหรับระบบการจัดการที่เป็นเป้าหมายของการประเมินความสอดคล้อง), ISO/IEC 17065 (สำหรับผลิตภัณฑ์ กระบวนการ และบริการที่เป็นเป้าหมายของการประเมินความสอดคล้อง) และ ISO/IEC 17024 (สำหรับบุคคลที่เป็นเป้าหมายของการประเมินความสอดคล้อง)
การใช้มาตรฐาน ISO/IEC 17000 Series ช่วยให้ผู้มีส่วนได้เสียมีความมั่นใจถึงแนวทางปฏิบัติในการประเมินความสอดคล้องในหน่วยงานประเมินความสอดคล้องทั้งหมด (CABs) ทำให้สามารถยืนยันได้ถึงความสอดคล้องที่สามารถเทียบเคียงกันได้ทั่วโลก หมายความว่ารายงานผลการทดสอบ/การตรวจสอบ/การตรวจสอบความใช้ได้/การทวนสอบ จะแสดงให้เห็นถึงความสามารถและความเชื่อมั่นในองค์กรที่ดำเนินการโดยไม่ต้องมีการตรวจสอบหรือรับรองซ้ำอีก ทำให้ช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี
ที่มา: https://www.iso.org/insights/circular-economy-building-trust.html
Related posts
Tags: CABs, Certification, Circular Economy, Climate Change, Inspection, ISO/IEC 17000 Series, ISO/TC 323, standard, Standardization, Sustainability, testing, Validation, Verification
ความเห็นล่าสุด