บทความ MASCIInnoversity เรื่องบทความ MASCIInnoversity เรื่อง “โลกเปลี่ยนไป…อนาคตใหม่ได้เริ่มแล้ว ตอนที่ 1” ได้นำเสนอบทสรุปของงานวิจัยข้อมูลเชิงลึกของไอเอสโอเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่เกิดขึ้นของโลก ซึ่งไอเสโอได้นำไปพิจารณาประกอบ การกำหนดกลยุทธ์และเป้าหมายเพื่อเข้าใจในบริบทการดำเนินงานด้านการพัฒนามาตรฐาน และสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดเกิดใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับบทความในตอนที่ 2 นี้ จะกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ การเมือง และวิทยาศาสตร์ ดังต่อไปนี้
ด้านเทคโนโลยี
เทคโนโลยีกับเส้นทางใหม่สู่อนาคต
ยุคนี้ โลกกำลังก้าวเข้าสู่เทคโนโลยีดาร์กอย่างรวดเร็ว (DARQ technologies: Distributed ledger technology, Artificial Intelligence, Extended Reality, Quantum Computing) ชุดเทคโนโลยีเหล่านี้จะจุดประกายการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้ง โดยรวมแล้ว เทคโนโลยีดาร์กจะขับเคลื่อนนวัตกรรมและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับยุคหลังดิจิทัล ในขณะที่ธุรกิจอาจถูกครอบงำมากขึ้นจากผู้ที่เป็นเจ้าของภาษาดิจิทัลและบริษัทที่ก้าวข้ามไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและประสบความสำเร็จ เทคโนโลยีดาร์กจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะเปิดเส้นทางใหม่สู่อนาคตที่คาดไม่ถึง
นอกจากนี้ เทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการเชื่อมต่อได้ทำหน้าที่เป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนไปสู่โลกที่มีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้การเชื่อมต่อทั่วโลกแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เทคโนโลยีเคลื่อนที่หรือไร้สายได้กลายเป็นเครื่องมือสื่อสารพื้นฐานในชีวิตประจำวัน และสำหรับหลายๆ คน บางครั้ง โทรศัพท์มือถือเป็นช่องทางหลักสำหรับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและประโยชน์ที่จะได้รับ จำนวนอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตคาดว่าจะสูงถึง 5 หมื่นล้านภายในปี 2568 ปริมาณการใช้ข้อมูลที่เพิ่มขึ้น การเติบโตของจำนวนอุปกรณ์และบริการ ตลอดจนความต้องการความสามารถในการจ่ายที่เพิ่มขึ้น และพบว่าผู้ใช้ต้องการได้รับประสบการณ์จากนวัตกรรม ส่วนเทคโนโลยีการผลิตอัจฉริยะอย่างเอไอ คลาวด์คอมพิวติ้ง หุ่นยนต์ การพิมพ์สามมิติ การตัดต่อยีน และไอโอที ก็จะมีอุตสาหกรรมต่าง ๆ นำไปใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของการผลิตแบบดั้งเดิมด้วยซึ่งเป็นโอกาสในการส่งเสริมการผลิตที่ยั่งยืน
ด้านสิ่งแวดล้อม
แหล่งพลังงานกับการจัดเก็บและกระจายพลังงาน
การใช้พลังงานทั่วโลกกำลังเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงเวลาที่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนในระดับสากล เส้นทางเดียวสู่ความสำเร็จคือการใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่นำไปสู่การประหยัดพลังงาน แหล่งพลังงานคาร์บอนต่ำหรือคาร์บอนเป็นศูนย์ การดักจับคาร์บอน และประสิทธิภาพพลังงานที่มากขึ้น จำนวนแหล่งพลังงานที่มีศักยภาพคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอีก 30 ปีข้างหน้า เนื่องจากนวัตกรรมทางเทคโนโลยีในการผลิตและจัดเก็บพลังงานทำให้พลังงานหมุนเวียนและแบตเตอรี่รุ่นใหม่มีราคาถูกลงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนการเติบโตของพลังงานไฟฟ้าในประเทศกำลังพัฒนาและการปรับระบบพลังงานในระดับภูมิภาค จะทำให้เกิดวิวัฒนาการในภาคส่วนนี้ในอนาคตเช่นกัน
การเสื่อมโทรมของทรัพยากรสิ่งแวดล้อมกับระบบนิเวศที่ถูกคุกคาม
มนุษย์ได้ทำให้ธรรมชาติมีการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร และนำไปสู่แนวโน้มการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติในระยะยาวรวมทั้งความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นกับจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น จึงคาดว่าความต้องการน้ำจืดและพื้นที่เพาะปลูกเพื่อการเกษตรจะเพิ่มขึ้น ส่วนการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่อย่างทำฟาร์มอัจฉริยะจะมีความสำคัญต่อการเอาชนะความท้าทายเหล่านั้นรวมทั้งการลดการปล่อยคาร์บอน ในขณะที่การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม รูปแบบการบริโภค การจัดการทรัพยากร และอื่นๆ จะช่วยรักษาระบบนิเวศที่จำเป็นเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์
ด้านเศรษฐกิจ
การค้าที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้ากับโมเดลธุรกิจใหม่
การค้าเป็นโลกาภิวัตน์มากขึ้นในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา แต่แนวโน้มนี้กำลังชะลอตัว และในปีต่อๆ ไปอาจเห็นการกระจายตัวที่เพิ่มขึ้นและเปลี่ยนไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น ตัวขับเคลื่อนของรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะรวมถึงรูปแบบการบริโภคที่เปลี่ยนไป (เช่น สินค้าที่ผลิตในจีนมีการบริโภคมากขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค และการเติบโตของรูปแบบธุรกิจใหม่ที่เป็นไปได้ด้วยเทคโนโลยีใหม่ อย่างบล็อกเชนและการพิมพ์สามมิติ
ด้านการเมือง
การเปลี่ยนอำนาจหลายขั้วกับพันธมิตรระดับภูมิภาค
มีผู้คาดการณ์ว่าพหุภาคีการประสานงานระหว่างประเทศกลายเป็นเรื่องยากขึ้น แต่ก็เป็นตัวขับเคลื่อนที่มีศักยภาพในการเพิ่มความร่วมมือระหว่างรัฐและบังคับให้ประเทศต่าง ๆ ต้องสร้างพันธมิตรเพื่อต่อต้านการแตกแยก อย่างไรก็ตาม พันธมิตรระดับภูมิภาคก็มีแนวโน้มที่จะแข็งแกร่งขึ้น และมีความชัดเจนทางการค้ามากขึ้น
ด้านวิทยาศาสตร์
เทคโนโลยีชีวภาพกับนวัตกรรม และประเด็นทางจริยธรรม
เทคโนโลยีชีวภาพได้ใช้สิ่งมีชีวิตและระบบชีวภาพเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ และในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา สาขานี้ได้พัฒนาอย่างรวดเร็วเนื่องจากความก้าวหน้าทางพันธุวิศวกรรมที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถเปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตได้ วิธีการทำให้แก้ไขและทดสอบยีนได้อย่างรวดเร็ว และนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ ความมั่นคงทางอาหาร และความยั่งยืนในขณะที่ยังคงมีประเด็นขัดแย้งทางจริยธรรมเกิดขึ้น เช่น การคุกคามต่อระบบนิเวศ ภัยจากการนำไปใช้ในทางที่ผิด เป็นต้น
ข้อมูลเชิงลึกที่ไอเอสโอได้ค้นคว้าวิจัยมาดังกล่าวนั้นได้มีการนำไปใช้ในการดำเนินงานของไอเอสโอในการกำหนดกลยุทธ์และเป้าหมายด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงบริบทองค์กร ทำให้สามารถพัฒนามาตรฐานสากลที่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดเกิดใหม่ของโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ที่มา: https://www.iso.org/files/live/sites/isoorg/files/store/en/PUB100470-executive-summary.pdf
Related posts
Tags: DARQ technologies, Economy, Environment, Ethics, Innovation, ISO, ISO 2030 Strategy, Politics, standard, Standardization, Sustainability, Technology, Urbanization
Recent Comments