สภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพเป็นหลักการพื้นฐานและถูกต้องในการทำงาน และเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 การประชุมแรงงานระหว่างประเทศ (ILC) ได้ตัดสินใจรวมเอาเรื่องของสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพเข้าไปไว้ในกรอบหลักการพื้นฐานและสิทธิในการทำงานของ ILO
วันที่ 28 เมษายน เป็นวันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากล สำหรับวันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากลในปี 2566 (ค.ศ.2023) ILO ได้รณรงค์เรื่อง “สภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ” อันเป็นหลักการพื้นฐานและสิทธิในการทำงาน และได้ร่วมหารือกับผู้เชี่ยวชาญและสมาชิกเกี่ยวกับผลกระทบที่มีต่อโลกของการทำงาน ตลอดจนนำเสนอผลที่ได้จากการวิจัยเกี่ยวกับการนำอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 155 และ 187 ไปใช้ (อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 155 และ 187 เป็นอนุสัญญาพื้นฐาน ว่าด้วยความปลอดภัยและอาชีวอนามัย)
ปัญหาและแนวโน้มมากมายที่ส่งผลกระทบต่ออาชีวอนามัยและความปลอดภัย (OH&S) ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก ดังนั้น ความร่วมมือระหว่างประเทศจึงเป็นรากฐานสำคัญของความก้าวหน้าในเรื่องนี้
ไอเอสโอหรือองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐานเป็นแพลตฟอร์มและกลไกที่ทรงพลังสำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศดังกล่าว ปัจจุบันมี 73 ประเทศเข้าร่วมในงานของคณะกรรมการวิชาการไอเอสโอ ISO/TC 283, Occupational health and safety management และอีก 26 ประเทศกำลังติดตามความคืบหน้าด้วยความสนใจอย่างใกล้ชิด งานของไอเอสโอได้รับความร่วมมือจากองค์กรประสานงานระหว่างประเทศ 10 องค์กร รวมถึงองค์กรวิชาชีพและตัวแทนของนายจ้างและผู้ปฏิบัติงานด้วย
ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงรากฐานสำคัญของความก้าวหน้าในเรื่อง OH&S คือในช่วงแรกๆ ของการแพร่ระบาดใหญ่ ไอเอสโอได้จัดทำเอกสารข้อกำหนดที่สาธารณชนสามารถเข้าถึงได้ ISO/PAS 45005, Occupational Health and Safety Management – General Guidelines for Safe Working during the COVID-19 pandemic
เอกสารดังกล่าวให้แนวทางแก่องค์กรเกี่ยวกับวิธีการปกป้องพนักงานจากความเสี่ยงของ COVID-19 ซึ่งได้รับการเผยแพร่อย่างรวดเร็วในช่วงเดือนแรกๆ ของการแพร่ระบาด และเป็นช่องทางในการแบ่งปันคำแนะนำและแนวปฏิบัติที่ดีอย่างรวดเร็ว สิ่งเหล่านี้สามารถนำไปใช้ควบคู่กับกฎระเบียบของแต่ละประเทศที่มีอยู่แล้ว และช่วยเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปในบางประเทศที่อาจขาดกฎระเบียบ สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดการความเสี่ยงที่เกิดขึ้นของ COVID-19 จึงสามารถวางกรอบการดำเนินงานให้สามารถปรับตัวได้อย่างทันท่วงที และปกป้องผู้ปฏิบัติงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากความเสี่ยงดังกล่าวได้
ปัจจุบัน แม้ว่าความท้าทายด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่เกิดขึ้นจาก COVID-19 จะบรรเทาลงบ้างแล้ว แต่ยังคงมีผลกระทบบางอย่างหลงเหลืออยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความตระหนักที่เพิ่มขึ้นของผู้ปฏิบัติงานที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งไอเอสโอได้พัฒนามาตรฐาน ISO 45003, Occupational health and safety management — Psychological health and safety at work — Guidelines for managing psychosocial risks เพื่อให้คำแนะนำสำหรับการจัดการความเสี่ยงด้านจิตใจที่ใช้ได้กับองค์กรทุกประเภทและทุกขนาด
นอกจากนี้ คณะกรรมการวิชาการไอเอสโอ ISO/TC 283 ยังได้พัฒนามาตรฐานใหม่ ISO 45006, Occupational health and safety management – Guidelines for organizations on preventing and managing infectious diseases เพื่อให้องค์กรมีแนวทางเกี่ยวกับวิธีป้องกันการสัมผัสและจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพที่รุนแรงหรือเสียชีวิตและอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ความปลอดภัย และความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสามารถจัดการความเสี่ยงต่อสุขภาพที่ต่ำกว่า แต่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อองค์กร พนักงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องด้วย
การนำมาตรฐานอาชีวอนามัยและความปลอดภัยไปใช้ขององค์กรต่างๆ เป็นการส่งเสริมการปรับปรุงสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน ลดความเสี่ยงทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ป้องกันการบาดเจ็บและความเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับการทำงานและลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลง สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน รวมทั้งช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานได้อย่างต่อเนื่องด้วย
ที่มา: 1. https://www.ilo.org/global/topics/safety-and-health-at-work/events-training/events-meetings/safeday2023/lang–en/index.htm
2. https://www.iso.org/obp/ui/#iso:std:iso:45006:dis:ed-1:v1:en
Related posts
Tags: COVID-19, ILC, ILO, ISO, ISO 45003, ISO 45006, ISO/IEC 283, ISO/PAS 45005, Occupational Health, OH&S, Safety at work, standard, Standardization
ความเห็นล่าสุด