ในสถานการณ์ปกติ การทำงานและสภาพแวดล้อมของการทำงานจะมีการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง แต่เหตุการณ์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้เกิดโรคระบาดใหญ่และมีการเปลี่ยนแปลงในหลายอุตสาหกรรม ทั้งองค์กรและพนักงานต่างประสบกับภาวะหยุดชะงักและการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ไม่เพียงแต่เรื่องของวิธีการ สถานที่และเวลาทำงานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงปรัชญาและทัศนคติเกี่ยวกับงานด้วย องค์กรจึงต้องปรับตัวให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าและพนักงานในขณะที่พนักงานก็สะท้อนถึงสิ่งที่ต้องการจากนายจ้างและอาชีพออกมาอย่างแท้จริง
จากภาวการณ์ดังกล่าว องค์กรผู้ว่าจ้างตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการระบาดใหญ่ที่ทำให้การดำเนินงานหยุดชะงัก และได้วางกลยุทธ์การจ้างงานและการรักษาพนักงาน ตลอดจนพยายามตอบสนองความต้องการของพนักงานที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งผู้สมัครงานมีการจัดลำดับความสำคัญของความต้องการที่แตกต่างกัน และองค์กรก็พยายามดึงดูดให้ผู้สมัครเข้าหา และรักษาผู้สมัครในอุดมคติเอาไว้ให้ได้
ในการดึงดูดพนักงานนั้น องค์กรจำเป็นต้องตระหนักว่าปัจจุบัน เทรนด์บางอย่างเช่นการเปลี่ยนแปลงทางประชากรได้ส่งผลต่อทัศนคติในการทำงานและความคาดหวังในการจ้างงานที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม รูปแบบการเรียนรู้ของผู้คน ระดับความรู้ และวิธีการบริโภคข้อมูลที่แตกต่างกันมากขึ้น ส่งผลให้องค์กรต้องให้ความสำคัญกับความหลากหลายของพนักงาน และความต้องการส่วนบุคคลของพนักงานมากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงทางประชากร
การเปลี่ยนแปลงทางประชากรกำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า บางประเทศประสบปัญหาจำนวนประชากรลดลงและมีประชากรสูงอายุในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ในทางกลับกัน บางประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปแอฟริกา มีประชากรเพิ่มขึ้นและส่วนใหญ่อายุยังน้อย ในหลายประเทศ มีแนวโน้มที่จะเห็นผู้คนทำงานจนเข้าสู่วัยชรามากขึ้น มีแรงงานสตรีมากขึ้น และมีการใช้แรงงานข้ามชาติหรือแรงงานอพยพมากขึ้นซึ่งอาจมีระดับที่แตกต่างกันไปตามความสามารถของภาษาที่ในใช้การทำงานในแต่ละท้องถิ่น
สิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงทางประชากรเหล่านั้น คือการเปลี่ยนแปลงทัศนคติในการทำงานและการเปลี่ยนแปลงความคาดหวังในการจ้างงาน พนักงานรุ่นใหม่มีมุมมองการจ้างงานแตกต่างจากคนรุ่นเก่ามาก เป็นต้นว่า คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยวางแผนที่จะอยู่กับนายจ้างคนใดคนหนึ่งเป็นระยะเวลานาน และไม่กังวลเรื่องความมั่นคงในงาน คนรุ่นใหม่คาดหวังการมีอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น พวกเขาต้องการทำงานให้กับองค์กรที่มีจุดประสงค์และคุณค่าที่สอดคล้องกับค่านิยมของตนเอง และมีความคาดหวังที่ชัดเจนเกี่ยวกับวิธีการจัดการและการพัฒนาตนเองและองค์กร รวมทั้งต้องการสมดุลระหว่างการทำงานกับชีวิตที่ดีขึ้น เป็นต้น
การเปลี่ยนแปลงทางประชากรดังกล่าวทำให้องค์กรต้องใส่ใจต่อผู้ปฏิบัติงานโดยให้ความสำคัญกับความหลากหลายของพนักงานและความต้องการส่วนบุคคลมากขึ้นซึ่งองค์กรสามารถให้คำแนะนำ การฝึกอบรมและพัฒนาพร้อมกับวิธีการสื่อสารกับผู้คนอย่างมีประสิทธิผล และเพื่อที่จะตอบสนองความคาดหวังของพนักงานทุกรุ่น องค์กรควรเตรียมพร้อมสำหรับการหมุนเวียนเปลี่ยนงานด้วย
นอกจากนี้ องค์กรยังสามารถปรับตัวให้เหมาะสมกับความต้องการของพนักงานได้ด้วยการแสดงให้พนักงานเห็นคุณค่าภายในองค์กร และชี้ให้เห็นเป้าหมายและค่านิยมร่วมกันขององค์กรและพนักงาน การจัดการงานที่มีความยืดหยุ่น และการให้ความสำคัญกับสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
ความเสี่ยงใหม่จากการปฏิบัติงาน
แม้ว่าองค์กรจะให้ความสำคัญกับผู้ปฏิบัติงานดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว แต่การเปลี่ยนแปลงในสังคมโลก ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยี และยังคงทำให้เกิดความเสี่ยงใหม่ๆ ด้านอาชีพตามมาอีก เช่น
- เทคโนโลยีและกระบวนการผลิตใหม่ ๆ เช่น นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น
- สภาพการทำงานใหม่ เช่น ปริมาณงานที่สูงขึ้น การเพิ่มปริมาณงานจากการลดขนาด สภาพการณ์ที่ย่ำแย่ที่เกี่ยวข้องกับการย้ายถิ่นฐานเพื่อการทำงาน งานในระบบเศรษฐกิจนอกระบบ เป็นต้น
- รูปแบบการจ้างงานที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น การจ้างงานตนเอง การ Outsource สัญญาชั่วคราว เป็นต้น
นอกจากนี้ อาจมีผลกระทบของความเสี่ยงด้านการยศาสตร์ (Ergonomics) ต่อความผิดปกติของระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น กล้ามเนื้อและกระดูก นอกเหนือจากผลกระทบของปัจจัยทางจิตสังคมต่อความเครียดจากการทำงาน
เราได้เรียนรู้จากวิกฤตการระบาดใหญ่ในช่วงที่ผ่านมาว่าสถานที่ทำงานมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด มาตรการด้านความปลอดภัยและสุขภาพที่เพียงพอในที่ทำงานสามารถมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการแพร่กระจายของโรค การปกป้องสุขภาพและการป้องกันความเครียด ในขณะเดียวกันก็สามารถปกป้องผู้ปฏิบัติงานและสังคมโดยรวมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อนำมาตรฐานสากลด้านการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยไปใช้และดูแลเอาใจใส่ผู้ปฏิบัติงานเป็นอย่างดี
การที่รัฐบาล นายจ้าง และผู้ปฏิบัติงานได้เข้ามามีบทบาทในการรับมือกับวิกฤต COVID-19 และการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ทุกคนสามารถก้าวข้ามปัญหาต่างๆ มาได้ โดยมีความใส่ใจต่อผู้ปฏิบัติงานเป็นกุญแจสำคัญของการดำเนินธุรกิจและการดำเนินงานขององค์กรต่าง ๆ ให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน
ที่มา: 1. https://www.iso.org/contents/news/2023/04/healthier-working-environment.html
2. https://www.un.org/en/observances/work-safety-day
Related posts
Tags: COVID-19, Demographic change, Employee value, Ergonomics, ISO, New risk at work, Occupational Health, OH&S, Organization value, standard, Standardization
Recent Comments