ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก และเพื่อบรรเทาปัญหานี้ องค์กรต่างๆ สามารถพิจารณาเลือกเครื่องมือที่มีอยู่แล้วไปใช้ในการลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมให้เกิดประสิทธิผลได้ รวมทั้งเครื่องมือที่เรียกว่า “การประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์” หรือ LCA (Life Cycle-Assessment)
LCA เป็นกระบวนการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อให้มองเห็นภาพรวมของผลิตภัณฑ์และบริการ เริ่มตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การบริโภค และการจัดการผลิตภัณฑ์หลังจากสิ้นสุดอายุการใช้งาน ทำให้สามารถประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมได้ เช่น การปล่อยมลพิษสู่อากาศ น้ำ และดิน (CO2, BOD, ขยะมูลฝอย) และการใช้ทรัพยากรที่ก่อให้เกิดภาระต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
LCA ได้รับการพัฒนาเป็นมาตรฐานแล้วโดยอยู่ในชุดมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมของไอเอสโอหลายฉบับ ซึ่งจะกล่าวถึงมาตรฐาน LCA ที่ได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย จำนวน 4 ฉบับ ดังต่อไปนี้
1. ISO 14040, Environmental management – Life cycle assessment – Principles and framework เป็นมาตรฐานที่กล่าวถึงหลักการนิยาม ศัพท์ และกรอบการดำเนินการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์
2. ISO 14044, Environmental management – Life cycle assessment – Requirements and guidelines เป็นมาตรฐานที่ให้แนวทางการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์และการศึกษาบัญชีรายการวัฏจักรชีวิตหรือ LCI (Life Cycle Inventory)
3. ISO/TS 14071, Environmental management – Life cycle assessment – Critical review processes and reviewer competencies: Additional requirements and guidelines to ISO 14044 เป็นข้อมูลทางวิชาการที่ให้ข้อกำหนดเพิ่มเติมสำหรับมาตรฐาน ISO 14040 และ ISO 14044 โดยกำหนดแนวทางในการทบทวนและวิเคราะห์จุดที่สำคัญของการวิเคราะห์วัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์
4. ISO/TS 14048, Environmental management – Life cycle assessment – Data documentation format เป็นมาตรฐานที่มีโครงสร้างสำหรับรูปแบบเอกสารข้อมูลเพื่อใช้ในการจัดทำเอกสารที่โปร่งใสและชัดเจน และการแลกเปลี่ยนข้อมูลการประเมินวัฏจักรชีวิต (LCA) และบัญชีรายการวัฏจักรชีวิต (LCI) ซึ่งทำให้การจัดทำเอกสารข้อมูลเป็นไปในแนวทางเดียวกัน
องค์กรที่มีการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (LCA) จะมีความรู้เชิงลึกและรอบด้านในผลิตภัณฑ์ของตนเอง ทำให้องค์กรสามารถประหยัดวัตถุดิบและพลังงาน มีหลักในการตัดสินใจเลือกใช้ทรัพยากรที่มีคุณภาพ สามารถลดของเสียที่จะเกิดขึ้นในขั้นตอนต่างๆ ทำให้การบำบัดมลพิษมีต้นทุนน้อยลง ช่วยลดปริมาณและการสะสมความเป็นพิษที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
ยกตัวอย่างองค์กรชั้นนำอย่างกลุ่มบริษัทบีเอ็มดับเบิลยูก็ได้เลือกใช้การประเมินวัฏจักรชีวิตเต็มรูปแบบในกระบวนการผลิตรถยนต์ BMW i3 BEV โดยใช้มาตรฐาน ISO 14040 และ ISO 14044 ซึ่งค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่นี้ได้คิดค้นนวัตกรรมแห่งการขับเคลื่อนได้จากทีมงานด้านความยั่งยืนของบริษัทด้วยการประเมินวัฏจักรชีวิตอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้เข้าใจภาพรวมของสิ่งแวดล้อมทั้งหมดอย่างชัดเจนโดยใช้มาตรฐานทั้งสองฉบับช่วยในการติดตามและบรรลุเป้าหมาย
สำหรับองค์กรที่ต้องการประเมินวัฏจักรชีวิตของความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม กลุ่มบริษัทบีเอ็มดับเบิลยูได้ให้คำแนะนำว่าให้ทำการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงปลายทางสุดท้าย เปรียบเสมือนการทำโครงการตั้งแต่แรกเกิดจนถึงเชิงตะกอน ซึ่งต้องมีการทำงานอย่างเป็นระบบและใช้เวลาในการดำเนินงานอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ องค์กรสามารถขอความช่วยเหลือจากที่ปรึกษาภายนอกเพื่อให้สามารถเดินตามแนวทางของโครงการขององค์กรได้อย่างถูกต้อง
ที่มา: 1. https://www.iso.org/news/2014/07/Ref1864.html
2. https://adeq.or.th/lca-life-cycle-assessment-lca/
Related posts
Tags: BMW i3, ISO, ISO 14040, ISO 14044, ISO/TS 14048, ISO/TS 14071, LCA, standard, Standardization
Recent Comments